คปภ.มอบกรมธรรม์ประกันภัยรถรางล้อยางนำเที่ยวฉบับแรกของไทย ประเดิมเมืองกรุงเก่า
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากสถิติด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยในปี 2561 พบว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจำนวน 38.27 ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้ 2.01 ล้านล้านบาท และจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวน 164.24 ล้านคน สร้างรายได้ 1,068.18 พันล้านบาท สำหรับแนวโน้มการท่องเที่ยวปี 2562 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 41.1 ล้านคน (หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5) สร้างรายได้ 2.21 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ10) ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด จนปัจจุบันประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอับดับ 4 ของโลก ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นับเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ได้รับการยกย่องจากองค์กรการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศให้ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็น “เมืองมรดกโลก” เมื่อปี 2534 โดยกิจกรรมอย่างหนึ่งที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจใช้บริการ ก็คือ การนั่งรถรางล้อยาง เพื่อเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ภายในอุทยานที่อยู่ในเกาะเมือง (อำเภอพระนคร) หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของแต่ละอำเภอทั้ง 16 อำเภอ ด้วยการใช้รถรางล้อยางนำเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงไม่ได้อยู่ในสถานที่ปิดเหมือนรถรางของจังหวัดอื่น ดังนั้นความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุของรถรางล้อยางจึงมีความเสี่ยงมากกว่าเพราะเป็นการใช้งานในถนนสาธารณะ
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การจัดทำโครงการ “ส่งเสริมและสนับสนุนให้รถรางล้อยางนำเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นจังหวัดต้นแบบในการจัดทำ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ” ในครั้งนี้ถือเป็นการ บูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานเครือข่ายที่เล็งเห็นความสำคัญในการให้ความคุ้มครองนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการรถรางล้อยางนำเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือ นายศุกร์วิบูล ปิ่นนิกร ปลัดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ ได้เข้าหารือกับ สำนักงาน คปภ. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อหาแนวทางในการจัดทำประกันภัยให้กับรถรางล้อยางที่ให้บริการแก่นักท่องเที่ยว บนถนนสาธารณะ ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงได้หารือร่วมกับสำนักงานขนส่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเห็นพ้องร่วมกันว่า รถรางล้อยางนำเที่ยว มีการใช้เครื่องยนต์ขนาด 2,400 ซี.ซี. และใช้น้ำมันในการขับเคลื่อนยนต์ จึงมีลักษณะเป็นรถตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4 (9) ที่บัญญัติว่า “รถ” หมายความว่า ยานพาหนะทุกชนิดที่ใช้ในการขนส่งทางบกซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น และหมายความรวมตลอดถึงรถพ่วงของรถนั้นด้วย ดังนั้นรถรางล้อยางดังกล่าวจึงเป็นรถที่สามารถจัดทำประกันภัยรถตามกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับและภาคสมัครใจได้ ประกอบกับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ที่ได้กำหนดว่า รถที่ต้องทำประกันภัยตาม พ.ร.บ. ได้แก่ รถทุกชนิดทุกประเภทตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทหาร เป็นรถที่เจ้าของมีไว้ใช้ไม่ว่ารถดังกล่าวจะเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือ พลังงานอื่น เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อเครื่อง รถยนต์โดยสาร รถบรรทุก หัวรถลากจูง รถพ่วง รถบดถนน รถอีแต๋น ฯลฯ
ดังนั้น เมื่อเห็นตรงกันว่ารถรางล้อยางนำเที่ยว สามารถทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ตามที่กฎหมายกำหนด จึงมีการตรวจสอบข้อมูลรถรางล้อยางนำเที่ยวจำนวน 14 คัน ที่อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่า มีรถรางล้อยางนำเที่ยวจำนวน 9 คัน ไม่มีหมายเลขตัวถังจึงไม่สามารถจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) สำนักงาน คปภ. จึงประสานงานและขอความอนุเคราะห์ ไปยังสำนักงานขนส่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในการจัดทำหมายเลขตัวถังรถรางล้อยางนำเที่ยวดังกล่าวเพื่อให้สามารถจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จนประสบความสำเร็จ
ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน คปภ. จึงบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดทำโครงการ “ส่งเสริมและสนับสนุนให้รถรางล้อยางนำเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นจังหวัดต้นแบบในการจัดทำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ” ให้เป็นจังหวัดต้นแบบในการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ หรือ ประกันภัย พ.ร.บ.สำหรับรถรางล้อยางนำเที่ยว โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวของภาครัฐและสนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในด้านการพัฒนาคุณภาพการท่องเที่ยวและการบริการสู่มาตรฐานสากลแล้ว นอกจากนี้ยังส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความเชื่อมั่นในการใช้บริการรถรางล้อยางนำเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรณรงค์ให้โครงการนี้เป็นโครงการต้นแบบการทำประกันภัย พ.ร.บ.สำหรับรถรางล้อยาง นำเที่ยวด้วยการนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงให้กับนักท่องเที่ยวแบบครบวงจร สำนักงาน คปภ. จึงให้การสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยในการจัดซื้อกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ให้กับรถรางล้อยางนำเที่ยวจำนวน 14 คัน ที่อยู่ภายใต้การครอบครองของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยได้จัดให้มีพิธีมอบกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ณ ห้องไทร ชั้น 2 โรงแรมคลาสสิค คามิโอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ได้มอบกรมธรรม์ประกันภัย ให้กับ นายนิวัฒน์ ภาตะนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้กล่าวขอบคุณ สำนักงาน คปภ. ที่สนับสนุนการทำประกันภัยรถภาคบังคับ (ประกันภัย พ.ร.บ.) ให้กับรถรางล้อยางนำเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภายหลังจากเสร็จพิธีมอบกรมธรรม์ดังกล่าวแลว เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เลขาธิการ คปภ. รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ทดลองใช้บริการนั่งรถรางล้อยางเพื่อชมโบราณสถานรอบกรุงเก่าอันสวยงามของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย
สำหรับกรมธรรม์กรมธรรม์ประกันภัยรถรางล้อยางนำเที่ยวฉบับดังกล่าวถือเป็นฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งมีผลความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยให้ความคุ้มครองในกรณีเกิดอุบัติเหตุแก่นักท่องเที่ยวที่โดยสารในรถรางล้อยางนำเที่ยวที่มีการทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ในกรณีที่นักท่องเที่ยวบาดเจ็บ จะได้รับค่ารักษาพยาบาล วงเงินคุ้มครองสูงสุด 80,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต วงเงินคุ้มครองสูงสุด 300,000 บาท นอกจากนี้ยังให้ความคุ้มครองการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นภายใน 7 วัน โดยไม่รอพิสูจน์ความรับผิดแก่ผู้ประสบภัย ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประกันภัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186