ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560 ธุรกิจประกันภัยทั้งระบบมีตัวแทน/นายหน้าประกันภัย จำนวนทั้งสิ้น 526,951 ราย โดยแบ่งเป็นตัวแทนประกันชีวิต จำนวน 273,853 ราย ตัวแทนประกันวินาศภัย จำนวน 19,984ราย นายหน้าประกันชีวิต จำนวน 106,143 ราย และนายหน้าประกันวินาศภัย จำนวน 126,971 ราย
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคลากรที่มีมาตรฐานและคุณภาพที่ดี ส่วนตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่กระทำผิดกฎหมายสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนนั้นถือได้ว่ามีอัตราส่วนที่น้อยมาก ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานพิสูจน์ยืนยันแล้ว จึงได้ดำเนินการลงโทษอย่างเคร่งครัดด้วยการเพิกถอนใบอนุญาต
ซึ่งในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 (วันที่ 1 เมษายน - 30 มิถุนายน) ตนในฐานะนายทะเบียนได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย รวม 17 ราย โดยอาศัยอำนาจตาม ข้อ 6 (4) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการประกาศ หรือโฆษณาการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต (วินาศภัย) พ.ศ. 2556
ซึ่งผู้ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตทั้ง 17 ราย จะไม่สามารถกระทำการเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัยหรือขอรับใบอนุญาตใหม่ได้ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับสาเหตุของการกระทำความผิดของตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่นำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตในครั้งนี้เกิดจาก 4 กรณี
ได้แก่ ได้รับชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัย แต่มิได้นำเงินค่าเบี้ยประกันภัยส่งให้บริษัท กระทำการทุจริตการสอบ โดยสวมสิทธิ์เข้าสอบความรู้เพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต ยินยอมให้ผู้อื่นที่มิได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตให้กับบุคคลเอาประกันภัยกับบริษัทในนามตนเอง และชักชวนให้ผู้เอาประกันภัยทำสัญญาประกันภัยโดยมิได้อธิบายเงื่อนไขให้ชัดแจ้ง
“ที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งเกี่ยวกับคุณภาพของตัวแทน/นายหน้าประกันภัย ตั้งแต่กระบวนการก่อนการขาย การเสนอขายตลอดจนการให้บริการหลังการขาย อีกทั้งมีการอบรม การสอบ การขอต่ออายุ เพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัย
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชนผู้เอาประกันภัยไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ สำนักงาน คปภ. จะดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาลงโทษตัวแทน/นายหน้า ที่มีพฤติการณ์เอารัดเอาเปรียบและฝ่าฝืนกฎกติกาที่กำหนดโดยเคร่งครัด จริงจัง และต่อเนื่อง และจากนี้ไปการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้จะมีแต่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากได้มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันชีวิตและพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย
โดยได้กำหนดบทลงโทษทางอาญาทั้งจำคุกและปรับด้วย ซึ่งในอนาคตหากตัวแทนและนายหน้าประกันภัยกระทำผิด นอกจากจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว ถ้าการกระทำเข้าองค์ประกอบความผิดเรื่องการฉ้อฉลประกันภัยก็อาจถูกดำเนินคดีจนถึงขั้นจำคุกและปรับอีกด้วย”
ดร.สุทธิพล กล่าวทิ้งท้ายว่า เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนในอันที่จะได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง จากการซื้อประกันภัยจากตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่มีคุณภาพ ประชาชนควรตรวจสอบว่าผู้เสนอขายประกันภัย เป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้อง โดยสามารถตรวจสอบสถานะตัวแทน/นายหน้าประกันภัย ได้จากเว็บไซต์ของ สำนักงาน คปภ. www.oic.or.th หรือสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186
Post Views: 62