คปภ.เข้ารับการประเมินภาคการเงินสาขาประกันภัย FSAP จากทีมผู้ประเมินระหว่างประเทศของ World Bank และ IMF
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ให้การต้อนรับคณะผู้ประเมินภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program – FSAP) สาขาประกันภัย จาก World Bank ประกอบด้วย นาย Alejandro Lopez Mejia, Mission Chief. นาง Ana Maria Aviles, Deputy Mission Chief. นาย Tom Finnell, Independent Consultant. และ นาย Michael Grist Board Member, Financial Institutions Commission. ซึ่งเข้ามาประเมิน Main Mission ระหว่างวันที่ 6-22 กุมภาพันธ์ 2562 ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้บรรยายภาพรวม ผลการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ที่ผ่านมา ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของเลขาธิการ คปภ. พร้อมร่วมให้ข้อมูลและหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพรวมการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของไทยและโครงสร้างสภาพพื้นฐานสำหรับการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับกำหนดการต่อไป เป็นการประชุมหารือเพื่อประเมินการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยตาม Insurance Core Principles – ICP ในทุกมาตรฐาน จำนวน 26 ICPs รวมถึงคณะผู้ประเมินจะมีการประชุมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับธรรมาภิบาล การบริหารความเสี่ยง ตลาดประกันภัยในประเทศไทย รวมถึง มุมมองกฎระเบียบและการกำกับดูแล ร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียทั้งหน่วยงานภาครัฐ สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงิน ภาคเอกชน และบริษัทประกันภัยด้วย โดยสำนักงาน คปภ. ได้จัดเตรียมการรองรับการประเมินในครั้งนี้อย่างดี โดยได้มอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบเพื่อนำเสนอข้อมูลและตอบคำถามใน ICP แต่ละข้อ รวมทั้งจัดเตรียมทีมงานผู้ประสานงานและจัดเตรียมเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคณะผู้ประเมินมีกำหนดการประเมิน ดังนี้ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ประชุม Opening ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงาน คปภ. จากนั้นคณะผู้ประเมินภาคการเงินได้ประชุมหารือกับเลขาธิการ คปภ. และคณะทำงาน FSAP ของสำนักงาน คปภ. เกี่ยวกับภาพรวมของตลาดประกันภัยไทย และ ICP1 : วัตถุประสงค์ อำนาจและหน้าที่รับผิดชอบของหน่วยงานที่กำกับดูแล (Objectives, Powers and Responsibilities of the Supervisor) ICP 2 : หน่วยงานที่กำกับดูแล (Supervisor) และ ICP 3 : การแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อกำหนดในเรื่องการรักษาความลับ(Information Exchange and Confidentiality Requirement) วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 คณะผู้ประเมินภาคการเงินได้เข้าหารือกับผู้บริหารของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จากนั้นได้ประชุมหารือกับคณะทำงาน FSAP ของสำนักงาน คปภ. เพื่อประเมินเกี่ยวกับ ICP 4 : การให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ (Licensing) ICP 5 : ความเหมาะสมของบุคลากร (Suitability of Persons) ICP 6 : การเปลี่ยนแปลงอำนาจการบริหารและการถ่ายโอนธุรกิจ (Changes in control and portfolio transfers) ICP 7 : บรรษัทภิบาล (Corporate Governance) ICP 8 : การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน (Risk Management and Internal Controls) วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 คณะผู้ประเมินภาคการเงินได้ประชุมหารือร่วมกับภาคเอกชน ประกอบด้วย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย บริษัท เอไอเอ จำกัด บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท ชับบ์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 คณะผู้ประเมินภาคการเงินได้ประชุมร่วมกับคณะทำงาน FSAP ของสำนักงาน คปภ. เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมการประเมิน ICP 9 : การตรวจสอบและการรายงาน (Supervisory Review and Reporting) ICP 10 : มาตรการสำหรับการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ (Preventive and Correction measure) ICP 11 : การปฏิบัติตามกฎหมาย (Enforcement) ICP 12 : การเลิกกิจการและออกจากตลาด (Winding-up and exit from the Market) และ ICP 13 : การประกันภัยต่อและการถ่ายโอนความเสี่ยงรูปแบบอื่นๆ (Reinsurance and Other Forms of Risk Transfer) วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 คณะผู้ประเมินภาคการเงินได้ประชุมร่วมกับคณะทำงาน FSAP ของสำนักงาน คปภ. เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมการประเมิน ICP 17 : ความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy) ICP 18 : คนกลางประกันภัย (Intermediaries) ICP 19 : พฤติกรรมการดำเนินธุรกิจ (Conduct of Business) และ ICP 20 : การเปิดเผยข้อมูล (Public Disclosure) จากนั้นได้ประชุมหารือกับภาคเอกชน ประกอบด้วย สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จํากัด วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 คณะผู้ประเมินภาคการเงินได้ประชุมร่วมกับคณะทำงาน FSAP ของสำนักงาน คปภ. เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมการประเมิน ICP 14 : การประเมินมูลค่า (Valuation) ICP 15 : การลงทุน (Investment) และ ICP 16 : การบริหารจัดการความเสี่ยงแบบองค์รวมเพื่อความมั่นคงทางการเงิน (Enterprise Risk Management for Solvency Purpose) จากนั้นได้หารือกับภาคเอกชน ประกอบด้วยบริษัท จาร์ดีน ลอยด์ ทอมป์สัน จำกัด และบริษัท ฮาวเด้น แมกซี่ อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ จำกัด วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 คณะผู้ประเมินภาคการเงินได้ประชุมร่วมกับคณะทำงาน FSAP ของสำนักงาน คปภ. เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมการประเมิน ICP 21 : การต่อต้านการฉ้อฉลในการประกันภัย (Countering Fraud in Insurance) ICP 22 : การต่อต้านการฟอกเงิน และการต่อต้านการให้เงินอุดหนุนต่อการก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism (AML/CFT) ICP 23 : การกำกับดูแลธุรกิจแบบรวมกลุ่ม (Group-wide Supervision) ICP 24 : การดูแลเสถียรภาพระดับมหภาคและการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (Macroprudential Surveillance and Insurance Supervision) ICP 25 : ความร่วมมือและการประสานงานด้านการกำกับดูแล (Supervisory Cooperation and Coordination) ICP 26 : ความร่วมมือข้ามพรมแดนและการประสานงานด้านการบริหารจัดการในภาวะวิกฤต (Cross-border Cooperation and Coordination on Crisis Management) จากนั้นวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 จะเป็นการประชุม Technical Closing ร่วมกับคณะทำงาน FSAP ของสำนักงาน คปภ. ซึ่งเป็นการสรุปสิ่งที่พบจากการประเมินของธุรกิจประกันภัย และในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นการประชุม Closing ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ สำนักงาน คปภ. “การเข้ารับการประเมิน FSAP สาขาประกันภัย อย่างเต็มรูปแบบในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ทำให้เราทราบจุดอ่อน จุดแข็งของภาคธุรกิจประกันภัยไทย และกระบวนการกำกับดูแล โดยจะได้นำข้อแนะนำที่ได้รับจากการประเมินมาปรับปรุงระบบการกำกับดูแลให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งทางสำนักงาน คปภ. ได้ฝึกฝนพนักงาน ในการเตรียมการประเมินฯ โดยจัดทำ Workshop และปรับปรุงกฎกติกาต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งประชุมทำความเข้าใจกับภาคธุรกิจประกันภัยไทยหลายครั้ง ทั้งนี้ เท่าที่ติดตามและประเมินการนำเสนอ ตลอดจนการตอบคำถามของทีมงานจากสำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัยไทย พบว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และคณะผู้ประเมิน FSAP มีความพอใจ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการประเมินในครั้งนี้” ดร. สุทธิพล กล่าวในตอนท้าย