Update Newsธุรกิจ-เศรษฐกิจประกันภัย

คปภ. เปิดมิติใหม่..! สืบพยานในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ผ่าน Video Conference

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้จัดให้มีการสืบพยานในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ผ่านการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ ( Video Conference)ระหว่าง อนุญาโตตุลาการ ซึ่งอยู่ที่ห้องประชุมของสำนักงาน คปภ. ส่วนกลาง กับ ผู้เสนอข้อพิพาท ซึ่งเบิกความอยู่ที่สำนักงาน คปภ. จังหวัดสกลนคร ในประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีเกิดอุบัติเหตุจากรถยนต์ที่เอาประกันภัย 

ในโอกาสนี้ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) นายชัยยุทธ มังศรี ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) นายโชติช่วง ทัพวงศ์ และนายพิศาล พิริยะสถิต กรรมการผู้ทรงวุฒิ ในคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน คปภ. ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การสืบพยาน ผ่านการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ ครั้งนี้ด้วย



ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า การสืบพยานและการพิจารณาข้อพิพาทในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ผ่านการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ(Video Conference)ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกและเป็นมิติใหม่ของการพิจารณาข้อพิพาทในกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน คปภ. ซึ่งระเบียบปฏิบัติของอนุญาโตตุลาการได้เปิดช่องให้สามารถดำเนินการสืบพยานและพิจารณาข้อพิพาทด้วยวิธีการใด ๆ ก็ได้ เพื่อให้บรรลุผลแห่งข้อพิพาทด้านประกันภัย



ดังนั้นสำนักงาน คปภ. จึงได้นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพิจารณาข้อพิพาทในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ผ่านการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่คู่กรณี และเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยพยานผู้เสนอข้อพิพาทมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดสกลนคร ได้เบิกความ ณ สำนักงาน คปภ. จังหวัดสกลนคร

 ในขณะที่อนุญาโตตุลาการ และผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้คัดค้าน อยู่ที่สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร จากการเข้าร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้ พบว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คู่กรณีมีความพึงพอใจเป็นอย่างมากเนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็วไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ค่าที่พัก ค่าเดินทาง เพื่อเข้ามาสืบพยานยังสำนักงาน คปภ. ส่วนกลาง

นายมนัส สุขสวัสดิ์ อนุญาโตตุลาการ ผู้พิจารณาข้อพิพาทด้านประกันภัยในครั้งนี้ กล่าวว่า การสืบพยาน ผ่านการประชุมทางไกลผ่านจอภาพในลักษณะนี้ถือเป็นรูปแบบใหม่ของกระบวนการอนุญาโตตุลาการในการพิจารณาข้อพิพาทด้านประกันภัย ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากคู่กรณีเป็นสำคัญ โดยการสืบพยานผ่านการประชุมทางไกลผ่านจอภาพครั้งนี้ เป็นความประสงค์ของผู้เสนอข้อพิพาทที่ยื่นคำร้องเพื่อขอดำเนินการสืบพยานผ่านการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) ณ สำนักงาน คปภ. จังหวัดสกลนคร เนื่องจากผู้เสนอข้อพิพาทมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดสกลนคร



ทั้งนี้ อนุญาโตตุลาการ ได้พิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้ว จึงส่งสำเนาคำร้องให้ฝ่ายผู้คัดค้านทราบ และผู้คัดค้านแถลงไม่คัดค้าน โดยในส่วนของผู้คัดค้านขอมาดำเนินการ ณ ที่สำนักงาน คปภ. ส่วนกลาง ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร ดังนั้น อนุญาโตตุลาการ อาศัยอำนาจตามระเบียบสำนักงาน คปภ. ว่าด้วยอนุญาตโตตุลาการ พ.ศ. 2551 ข้อ 28 และประกาศ เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการรับและพิจารณาข้อร้องเรียนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยผู้ชำนาญการ และการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ จึงอนุญาตให้ดำเนินการสืบพยานผ่านการประชุมทางไกลผ่านจอภาพตามคำร้องได้

โดยอนุญาโตตุลาการท่านนี้กล่าวด้วยว่า การสืบพยานผ่านการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ ไม่ได้ทำให้คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบ และเห็นว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น จำเป็นจะต้องนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเป็นตัวช่วยเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคู่กรณี โดยเฉพาะการสืบพยานที่พยานมีภูมิลำเนาในต่างจังหวัดการที่จะต้องเดินทางเข้ามาเบิกความในกรุงเทพฯ อาจไม่สะดวกและมีค่าใช้จ่าย ค่าที่พัก ทั้งอาจเสียเวลา ในการเดินทาง 

ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้จึงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคู่กรณีเป็นอย่างมาก และเท่าที่ทราบมาในขณะนี้กระบวนพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมก็ได้มีการใช้เทคโนโลยีในการพิจารณาคดีเช่นกัน ดังนั้น จึงอยากประชาสัมพันธ์ให้คู่กรณีในกระบวนการอนุญาโตตุลาการใช้ช่องทางการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ ซึ่งมีความสะดวก รวดเร็ว เนื่องจากสำนักงาน คปภ. มีระบบรองรับไว้แล้ว

ส่วนผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้คัดค้านได้แสดงความเห็นว่า ตอนแรกรู้สึกเป็นกังวล เพราะเป็นครั้งแรก ที่มีการสืบพยานในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ผ่านการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ ทำให้ไม่คุ้นเคยมาก่อน แต่ปรากฏว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาแล้ว ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากกระบวนการปกติที่เคยปฏิบัติมา ถึงแม้ว่าคู่กรณีจะอยู่คนละที่กัน ก็สามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนการพิจารณาอย่างเป็นระบบ รวดเร็ว และคู่กรณีมีความเชื่อมั่นในรูปแบบดังกล่าว ดังนั้นในโอกาสต่อไป อยากขอใช้บริการการประชุมทางไกลผ่านจอภาพนี้อีก

“จากความสำเร็จของการสืบพยานในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ผ่านการประชุมทางไกลผ่านจอภาพครั้งนี้ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับคู่กรณีที่มีข้อพิพาทด้านประกันภัย และเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานในกระบวนการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยให้กับประชาชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะนำมาเป็นต้นแบบเพื่อขยายผลใช้กับกระบวนการไกล่เกลี่ยของสำนักงาน คปภ. ด้วย เนื่องจากสำนักงานฯ มีนโยบายเรื่องการไกล่เกลี่ยออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนอยู่แล้ว” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย