“ครูโอ๊ะ”ปลื้ม ค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการนักเรียนในพื้นที่ จ.ชายแนดใต้ ปี 4 สร้างทัศนคติและแรงบันดาลใจ ใฝ่คณิต- วิทย์
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ) เป็นประธานในพิธีปิดและมอบรางวัลนักเรียนค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีที่ 4 ค่ายที่ 2 พร้อมด้วย นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) โดยมี คณะผู้บริหารในพื้นที่ คณะทำงาน ทีมวิทยากร ผู้ปกครอง และ นักเรียนร่วมให้การต้อนรับ ที่ ศูนย์ที่ 1 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วิชาฟิสิกส์และวิชาคณิตศาสตร์ ศูนย์ที่ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในวิชาเคมี และ ศูนย์ที่ 3 มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในวิชาชีววิทยา นางกนกวรรณ กล่าวว่า ค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีที่ 4 ค่ายที่ 2 ซึ่งเป็นความร่วมมือทางวิชาการที่สำคัญ ระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานการศึกษาจังหวัด 5 จังหวัด และสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษาจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ได้ร่วมกันจัดขึ้นค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีที่ 4 ค่ายที่ 2 เป็นกิจกรรมที่นักเรียนได้ฝึกวิเคราะห์โจทย์ที่ยากกว่าข้อสอบในโรงเรียนทั่วไป ได้เรียนวิชาการต่างๆ ในระดับที่ลึกขึ้น ได้แลกเปลี่ยนความรู้และเทคนิคต่างๆ กับคนอื่นที่สนใจในเรื่องเดียวกัน ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้พัฒนาตัวเองได้ นักเรียนได้พัฒนาศักยภาพและฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การสอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในระดับประเทศ และเป็นใบเบิกทางสำหรับเข้าโควตามหาวิทยาลัยได้โดยตรง นางกนกวรรณ กล่าวอีกว่า ตนขอแสดงความยินดี และชื่นชมกับนักเรียนที่มาเข้าค่ายและได้รับเหรียญรางวัล ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่น ความขยันหมั่นเพียรเกี่ยวกับการพัฒนาและฝึกฝนตนเองให้เป็นคนเก่งด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ หวังว่าจะได้ต่อยอดพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพสูงสุดและพัฒนาจุดอ่อนของตนเอง อีกทั้งฝึกตนเองให้เป็นคนดีที่ได้รู้จักการใช้ชีวิตร่วมกันกับเพื่อนๆ คนอื่นในค่าย และที่สำคัญขอให้นักเรียนทุกคนแบ่งปันความรู้เป็นแบบอย่างให้รุ่นน้องๆ ต่อไป พร้อมทั้งนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ดังที่พระราชบัญญัติการศึกษา พุทธศักราช 2542 กล่าวไว้ว่า การพัฒนาการศึกษานั้นมุ่งให้ผู้เรียนเป็นคน “เก่ง ดี มีสุข” ด้าน นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการ กช. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นความร่วมมือทางวิชาการที่สำคัญระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด 5 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ( ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา สตูล) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังทัศนคติ และสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ให้แก่นักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพนักเรียนผู้มีอัจฉริยภาพางด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จากนั้น นักเรียนที่ได้รับเหรียญรางวัลของแต่ละวิชา รวมทั้งสิ้น จำนวน 28 คน จะได้เข้าร่วมค่ายที่ 3 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร (สวทช.) จังหวัดปทุมธานี เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของนักเรียนด้านวิทยาศาสตร์ ผ่านกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์จริง ให้นักเรียนได้ฝึกทักษะ เรียนรู้การทำงานวิจัย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจบ่มเพาะเยาวชนสู่ความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ต่อไป นายพีรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย สำหรับค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2565 ปีที่ 4 ได้ดำเนินการจัดค่าย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ค่าย 1 ค่าย 2 และค่าย 3 โดยค่ายที่ 1 จัดขึ้นในระบบ online ระหว่างวันที่ 5 - 14 พฤษภาคม 2565 รวมระยะเวลา 10 วัน ใน 4 สาขาวิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์ โดยจัดใน 3 ศูนย์ ศูนย์ที่ 1 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีนักเรียนจากจังหวัดปัตตานี สงขลา สตูล ร่วมเข้าค่ายจำนวน 180 คน ศูนย์ที่ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีนักเรียนจากจังหวัดยะลา สงขลา สตูล ร่วมเข้าค่ายจำนวน 197 คน ศูนย์ที่ 3 มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มีนักเรียนจากจังหวัดยะลา สงขลา สตูล ร่วมเข้าค่ายจำนวน 178 คน โดยมีนักเรียนที่ร่วมเข้าค่ายที่ 1 ทั้งหมด รวมจำนวน 555 คน จากยอดนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 4 ที่สมัครสอบคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ฯ จำนวน 2,150 คน ส่วนค่ายที่ 2 ที่จัดขึ้นแบบ On site ระหว่างวันที่ 1 – 10 สิงหาคม 2565 ณ 3 ศูนย์การอบรม จำแนกออกเป็น ศูนย์ที่ 1 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วิชาฟิสิกส์และวิชาคณิตศาสตร์ มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 70 คน วิชาละ 35 คน จาก 26 โรงเรียน ศูนย์ที่ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในวิชาเคมี มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 36 คน จาก 16 โรงเรียน ศูนย์ที่ 3 มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในวิชาชีววิทยา มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 35 คน จาก 17 โรงเรียน ประกอบไปด้วยนักเรียนของโรงเรียนในสังกัดการศึกษาเอกชนและสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และค่ายที่ 3 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 25 สิงหาคม 2565 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร (สวทช.) จังหวัดปทุมธานี สำหรับนักเรียนที่ได้รับเหรียญรางวัลของแต่ละวิชา รวมทั้งสิ้น จำนวน 28 คน