“ครูโอ๊ะ” ร่วมแลกเปลี่ยน ด้านการศึกษาผู้ใหญ่ ครั้งที่ 7 ในเวทียูเนสโก
เมื่อวันพุธ ที่ 15 มิถุนายน 2565 เวลา 19.15 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมนำเสนอในการประชุมด้านการศึกษาผู้ใหญ่ ครั้งที่ 7 หรือ Seventh International Conference on Adult Education (CONFINTEA VII) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 - 17 มิถุนายน 2565 ในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) ทั้งการประชุมทางไกล ผ่านระบบ Zoom และการประชุมในสถานที่ ณ เมืองมาราเกซ ราชอาณาจักรโมร็อกโก โดยมี นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ นางสาวทรงศรี วิระรังษิยากรณ์ รองเลขาธิการ กศน.เข้าร่วมประชุม ที่ ห้องประชุมจันทรเกษม ซึ่งมีหลายประเทศร่วมนำเสนอ อาทิ ราชอาณาจักรโมร็อกโก ไอเวอร์รีโคส ญี่ปุ่น สโลวีเนีย เอกวาดอร์ อาร์เจนตินา สวีเดน เป็นต้น นางกนกวรรณ กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมช่วง Minister Panel หัวข้อ การประเมินความก้าวหน้าของการดำเนินการด้านการศึกษาผู้ใหญ่ตามกรอบปฏิบัติการเบเล็ม ว่า ดิฉันมีความยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมช่วง Minister Panel ทั้งยังขอชื่นชมราชอาณาจักรโมร็อกโก ที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมด้านการศึกษาผู้ใหญ่ ครั้งที่ 7 ซึ่งเป็นการประชุมที่สำคัญ เพราะการศึกษาผู้ใหญ่มีบทบาทมากกว่าเมื่อก่อน ขอขอบคุณสถาบันด้านการศึกษาตลอดชีวิต (UNESCO Institute for Lifelong Learning – UIL) และยูเนสโก ที่สนับสนุนการจัดประชุมดังกล่าวมาโดยตลอด รวมทั้งได้เชิญประเทศไทยร่วมแลกเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาผู้ใหญ่ ซึ่งเน้นไปยังกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบาง ซึ่งมั่นใจได้ว่าการประชุมในช่วงนี้จะเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนนโยบาย กำหนดกรอบการดำเนินงาน และกลไกเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพ รายงานระดับโลกด้านการศึกษาผู้ใหญ่ (Global Report on Adult Learning and Education – GRALE) ทั้ง 4 ฉบับที่ผ่านมา เราได้ตระหนักถึงประเด็นสำคัญ และสถานะด้านการศึกษาผู้ใหญ่ทั่วโลก ซึ่งดิฉัน ขอแสดงความยินดีกับ UIL ในการเปิดตัวรายงาน GRALE ฉบับที่ 5 และความมุ่งมั่นในการจะเผยแพร่รายงานฉบับใหม่นี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แสดงให้เห็นว่าการศึกษาผู้ใหญ่เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ สำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา ที่สนับสนุนให้ประชาชนมีความเข้าใจ การเปลี่ยนแปลง สามารถเผชิญและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันต่อโลก ซึ่งประเทศไทยเน้นย้ำเรื่องการส่งเสริมคุณภาพของการศึกษาผู้ใหญ่ อันเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นหนึ่งในนโยบายปฏิบัติการเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือ quick win และการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีคุณภาพให้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบาง รวมไปถึงผู้ที่มีความต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ “ส่วนนโยบายการมีส่วนร่วมด้านการศึกษา ศธ.ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้พิการ โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งได้ขับเคลื่อนทรัพยากรและความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อค้นหาผู้พิการที่ยังไม่เข้าถึงการศึกษา ด้วยการใช้เทคโนโลยีด้าน ICT เพื่อสนับสนุนการติดตามผู้พิการทั่วประเทศ และพัฒนาโปรแกรม CAPER เพื่อค้นหาผู้พิการและจัดหารูปแบบการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการและบริบทในท้องถิ่น รวมไปถึงโปรแกรมการศึกษาสำหรับบุคคล แผนการดำเนินงานสำหรับบุคคล การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเรียนรู้เพื่อการอาชีพ ดิฉันได้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการศึกษาในช่วงการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไทยมีความพยายามที่จะพัฒนาการศึกษาเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในสังคม การศึกษาผู้ใหญ่จึงต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าและวิวัฒนาการเพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 ดิฉันในฐานะที่ดูแลเรื่องการศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาผู้ใหญ่ และกำลังดำเนินการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. .... ซึ่งรวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นให้กับทุกคน รวมถึงกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาส ทั้งการเสริมสร้างทักษะ และเพิ่มทักษะให้เหมาะสมกับความต้องการ เพื่อเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน และสุดท้ายนี้ขอขอบคุณผู้ร่วมจัดทำรายงาน GRALE ฉบับที่ 5 อีกครั้ง ซึ่งรายงานดังกล่าวจะเป็นแนวทางให้ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ และผู้ปฏิบัตินำไปใช้พัฒนาการศึกษาผู้ใหญ่ เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาของกลุ่มเปราะบางต่อไป” นางกนกวรรณ กล่าว