Update Newsกระทรวงศึกษาธิการสังคมสังคม/CSR

ครูโอ๊ะ เยือนถิ่นผู้กล้า เจ้าพ่อพญาแล เตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียน 2/2564

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. (ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ รมช.ศธ.) ลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียน 2/2564 ของสถานศึกษาเอกชน สังกัด สช. และให้กำลังใจผู้ปกครอง ครู นักเรียนโดยมีนายสมาน เวียงปฏิ รองศึกษาธิการจังหวัด รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดชัยภูมิ ให้การต้อนรับ ณ โรงเรียนมารีย์อุปถัมภ์



รมช.ศธ. กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียนแบบ On Site ตามมาตรฐาน Sandbox Safety Zone in School ซึ่งมีการแบ่งโซนคัดกรอง โซนกักกันผู้สัมผัสเสี่ยง และโซนปลอดภัยสีเขียว ภายใต้ 7 มาตรการเข้ม ของ สธ.ร่วมกับ ศธ. ในการเปิดเรียนในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา(On Site) คือ



1. ประเมินความพร้อมเปิดเรียนผ่าน Thai Stop COVID Plus (TSC)+ และรายงานการติดตามการประเมินผลผ่าน MOECOVID

2. จัดกิจกรรมรูปแบบ Small Bubble หรือการจัดกลุ่มย่อย ให้นักเรียนหรือผู้ปฏิบัติงานทำงานและทำกิจกรรมด้วยกัน โดยไม่ข้ามกลุ่ม ซึ่งจะช่วย ป้องกันการติดเชื้อระหว่างกลุ่ม

3.จัดระบบให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ

4. จัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ตามเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ การระบายอากาศภายในอาคาร การทำความสะอาด คุณภาพน้ำ. เครื่องอุปโภคบริโภค และ การจัดการขยะ

5. จัด School Isolation แผนเผชิญเหตุ และมีการซักซ้อม

6. ควบคุมดูแลการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน (Seal Route) กรณีรถรับ-ส่งนักเรียน รถส่วนบุคคล และรถสาธารณะ

7. จัดให้มี School Pass สำหรับครู นักเรียน และบุคลากรในสถานศึกษา โดยเป็นข้อมูลผลการประเมินผ่าน Thai Save Thai ผลการตรวจ ATK ภายใน 7 วัน ประวัติการรับวัคซีน ตามมาตรการ ศธ. และ สธ. เพื่อให้เกิดความปลอดภัยเมื่อเข้า – ออกโรงเรียน



 

 

 

 

  

ครู และบุคลากรในสถานศึกษาในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ร้อยละ 85 ขึ้นไป ส่วนครู และบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่อื่น ๆ ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ตั้งแต่ร้อยละ 85 ขึ้นไป ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีนให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาในทุกสังกัด ทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ทั้งนี้การเปิดเรียน ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นหลัก เนื่องจากว่าบริบทของพื้นที่แต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน ต้องยึดหลักความปลอดภัยของทุกคนในโรงเรียนเป็นสำคัญ

 

 

 

 

 

สำหรับความเสียหายของโรงเรียนเอกชนทั้ง 8 แห่ง ที่ประสบอุทกภัย ทางกระทรวงศึกษาธิการ โดย สช. ได้ประสานงานกับกองทุนสงเคราะห์ เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือ พร้อมให้กำลังใจโรงเรียนเอกชนทุกโรงเรียนให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ด้วยกัน เพราะการศึกษาเอกชนช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลเป็นอย่างมาก

รมช.ศท. เยี่ยมชมนิทรรศการ การนำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนการสอน และการสอนออนไลน์ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของโรงเรียนเอกชน 11 แห่ง ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีจุดเด่นและรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างกันไป อาทิ โรงเรียนอนุบาลเรืองชาญ จัดการเรียนการสอน และใช้กิจกรรมลูกเสือพัฒนาผู้เรียนในสถานการณ์โควิด 19 โดยมีการประเมินหรือให้คะแนน ซึ่งให้นักเรียนเลือกคำปฏิญาณ และกฎ ส่งสัปดาห์ละ 1 ข้อ โรงเรียนปัญจดี จัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน โรงเรียนศรีเทพบาล เปิดการเรียนการสอนแบบ 3 ภาษา อังกฤษ จีน ไทย. จัดการเรียนการสอนจินตคณิต โดยใช้มือและลูกคิด เป็นต้น พร้อมทั้งได้มอบเงินช่วยเหลือให้แก่โรงเรียนเอกชนที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยทั้ง 8 แห่ง จำนวน 75,000 บาท

รมช.ศธ. ได้กล่าวขอบคุณผู้ปกครองนักเรียนทุกคนในชุมชน ที่ไม่ทอดทิ้งโรงเรียนยามเมื่อประสบอุทกภัย โดยได้ร่วมแรงร่วมใจกัน ในการช่วยเหลือโรงเรียน ขนย้ายและเก็บข้าวของเครื่องใช้ อุปกรณ์การเรียนการสอน ให้ได้รับความเสียหายน้อยที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าครูและโรงเรียนเป็นที่รักของทุกคนในชุมชน