InterviewUpdate News

คุณนิธี สีแพร ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว ททท.(ชมคลิป)

... นำร่อง ท่องสายกิน อาหารถิ่นในเมือง  “ตาก”

คราวนี้ กองบก. Btripnews จะพาไปนำร่องเส้นทางสายเมี่ยง เอ่อ... ม่ายช่าย เส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน ( Gastronomy Tourism) ขึ้นเหนือตามผอ.ฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ไปยังเมืองตากกันบ้าง ซึ่ง“ตาก” ถือเป็น 1 ใน 2จังหวัดของเส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนานของภาคเหนือ




ที่มาโครงการนำร่อง

คุณนิธี สีแพร ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เล่าถึงที่มาของโครงการว่า “ เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการโปรโมทการท่องเที่ยวให้เกิดการกระจายตัว ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวมักกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลัก จึงเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเปิดโอกาสให้พื้นที่อื่นๆ ได้ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวมากขึ้น เมืองต่างๆ ที่ไม่ใช่เมืองหลัก ต่างก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน จึงงเริ่มมีการโปรโมท เพื่อให้เข้าใจตรงกันจึงเรียกว่า “เมืองรอง”

…เพราะในวงการท่องเที่ยวจะเข้าใจกันดีว่า “เมืองรอง” คือเมืองที่นักท่องเที่ยวยังไม่ค่อยไป มีนักท่องเที่ยวไม่ถึงสี่ล้านคน ซึ่งมี 55 จังหวัด เรามองว่าทำอย่างไรจะดึงให้นักท่องเที่ยวไปในที่เหล่านั้น จึงต้องหาสิ่งที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรม กิจกรรมต่างๆ มองแล้วปกตินักท่องเที่ยวสิ่งที่จะดึงดูดได้คืออาหารการกิน

บ้านเราเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า จุดแข็งหนึ่งคือ เรื่องอาหารการกิน ความอร่อย การพรีเซนต์หน้าตาที่น่าทาน อาหารไทยในราชสำนัก อาหารระดับภัตตาคารต่าง ๆ ตอนนี้ก็มาดังเรื่อง สตรีทฟู้ด และเพื่อให้นทท.ได้รู้จักมากขึ้นจึงดึงอาหารถิ่นมาเป็นจุดดึงดูด



“ตาก” มีนักท่องเที่ยวแค่ 2 ล้านคนต่อปี มีอัตราเพิ่มขึ้น 5- 10 % รายได้อยู่ที่ประมาณ 6,000 ล้านบาท จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริม จริงๆ แล้ว ตากเป็นจังหวัดที่มีความเป็นมาที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ตั้งแต่ในอดีต พ่อขุนรามคำแหงมาทำยุทธหัตถี

.... เป็นชัยภูมิที่สำคัญและในช่วงของพระเจ้าตากสิน ท่านเคยมาปกครองเมืองนี้และไปช่วยทัพที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อเสียบ้านเมืองไปท่านก็เป็นผู้กอบกู้อิสรภาพกลับมาได้ จึงมีผู้เดินทางตามรอยพระเจ้าตากจำนวนมาก

ขณะเดียวกันก็มีชื่อเสียงเรื่องพระเครื่อง ในปัจจุบันตากมีชื่อเสียงในเรื่องธรรมชาติ มีน้ำตกมากมาย เป็นเมืองแห่งกำลังใจ จะมีเสียงน้ำตกซู่ๆ ตลอดเวลา เวลามาเที่ยวเมืองตากก็จะมีกำลังใจกลับไป เพราะได้ยินแต่เสียงสู้ๆ  แม่สอดก็เด่นเรื่องวัฒนธรรมไทย พม่า มีวัดไทยทรงพม่าอยู่มากมาย เป็นหัวเมืองชายแดนที่เริ่มเป็นจุดค้าขายที่สำคัญ มีคนพม่าเข้ามารักษาตัว ซื้อของมากมาย

คัดสรรอาหารพื้นถิ่น เมืองตาก



ผอ.นิธี เล่าต่อว่า “... ปกติเวลาเดินทางขึ้นไปภาคเหนือพอมาถึงก็จะผ่านไปเลย เราจึงอยากให้เมืองตากเป็นเมืองพักไม่ใช่เมืองผ่านอีกต่อไป ขณะเดียวกันอาหารก็มีหลายอย่าง อาหารถิ่นในตำนานที่คนตากชอบทานมาก ที่คนทั่วไปยังไม่รู้จัก และเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนที่นี่

ซึ่งการจะคัดเลือกอาหารก็จะมีการคุยกับคนในแต่ละท้องถิ่นก็จะลงไปดูว่า ได้รับความนิยมและมีวัตถุดิบในท้องถิ่น มีเรื่องราว และคุยกับสมาคมเชฟต่างๆ ซึ่งเป็นอาหารที่สามารถหาทานได้ไม่ยากจนเกินไป

เช่น เมี่ยง เป็นอาหารยอดนิยมของคนทางเหนือ ทำมาจากใบชาหมักกับน้ำส้มสายชูบ้าง ขิงบ้าง น้ำตาลบ้าง ก็เป็นการถนอมอาหาร เป็นของว่างที่ทานทั่วไป ที่นี่ก็มีวิธีการทานของตัวเอง เช่นเมี่ยงกับมะพร้าว กับแคบหมู กับเต้าเจี้ยวเป็นต้น

เมืองตากมีทำเรื่องมะพร้าวเยอะ ก็นำมาทานร่วมกับเมี่ยง และส่วนของกะลาก็นำมาประยุกต์ทำเป็นกระทงสาย ก็กลายเป็นงานประเพณีที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นอีกอย่างหนึ่ง ถือเป็นจุดเด่นของจังหวัดตากเหมือนกัน

สำหรับเมี่ยง สมัยก่อนจอมพลถนอมมาเมืองตาก ก็โปรดปรานเมี่ยงมากจากที่คนนำมาให้ชิม ก็เลยกลายเป็นเมี่ยงจอมพล เป็นเมี่ยงที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่”





อีกอย่างหนึ่งคือ แกงถั่วมะแฮะ เป็นถั่วชนิดหนึ่งที่ปลูกกันมากแถวจังหวัดตาก ก็จะให้ผลผลิตในช่วงกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน การแกงก็ประยุกต์ ผสมผสานแกงทางเหนือกับแกงทางพม่า ออกข้นใส่ผักชนิดต่างๆ รวมทั้งหมูสามชั้น เป็นแกงที่คนตากนิยมกัน”

การท่องเที่ยวรูปแบบปัจจุบันที่คนนิยมเที่ยวกันคือเรื่องของการชิมอาหาร ซึ่งการท่องเที่ยวในรูปแบบ Gastronomy Tourism ไปทานอาหารไม่ใช่แค่ชิมอย่างเดียวแต่ไปดูเรื่องวิธีการทำ แหล่งผลิต ว่าเกี่ยวพันอย่างไร เช่นข้าวแคบงาดำ ก็นำข้าวเจ้ามาตำและคลุกกับงาดำ ก่อนกินก็นำไปปิ้งก่อน”  



“......เหล่านี้คือวัตถุประสงค์ที่เรามา เพื่อนำกลับไปจัดทำเป็นเส้นทางการท่องเที่ยว โดยเสริมเรื่องประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเข้าไป ไม่ว่าจะไปดูพิพิธภัณฑ์ วัด วา อารามต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ก็ไปดูแหล่งผลิตอาหารต่างๆ บางเส้นทางก็ไปถึงแหล่งเก็บวัตถุดิบ

ทั้งหมดนี้เรียกว่า โครงการ เส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน (Gastronomy Tourism) ก็จะมีทั้งหมด 10 จังหวัด ภาคเหนือมีพะเยา ตาก ภาคอีสาน สกลนครและสุรินทร์ ภาคกลางมีลพบุรี สิงห์บุรี ราชบุรี อ่างทอง ภาคตะวันออกตราด ใต้จะเป็นพังงา กับสตูล แต่จะนำร่องเพียงภาคละจังหวัดเท่านั้น

 ตั้งเป้านักท่องเที่ยว 

และเมื่อถามถึงเป้าหมายของจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาสู่จังหวัดตาก ผอ.นิธี กล่าวว่า “รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าใน 55 เมืองรอง ในปีหน้าต้องมีโอกาสแบ่งปันรายได้รวมประมาณ 10,000 ล้านบาทจากการนักท่องเที่ยว 10 เมืองที่เราทำขึ้นมาก็อาจมีส่วนได้สัก 15-20% การกระจายรายได้ออกไปน่าจะอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท จากการที่นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวเมืองรอง

ปี 2559  ตาก มีนักท่องเที่ยวราวๆ 2 ล้านคนปี 61 เราก็ตั้งเป้าเอาไว้ ที่ 2.1 ล้านคน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นคนไทย แต่มีชาวต่างชาติบ้างเน้นยุโรปเป็นส่วนใหญ่และเออีซีด้วยกัน”

สิ่งหนึ่งที่เมืองตากเป็นเมืองสำคัญ เพราะอยู่บนเส้นทาง East – West Corridors คือเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างภาคตะวันตกไปภาคตะวันออก ซึ่งคนที่จะเดินทางจากพม่าไปลาวก็จะผ่านทางนี้ แม่สอดมาตาก ไปพิษณุโลก พิษณุโลกก็จะมีแยกอินโดจีน ขึ้นเหนือได้ลงใต้ได้ เลยไปก็จะเข้าขอนแก่น อุดร หนองคายต่างๆ เหล่านี้ เรียกว่าอยู่บนเส้นทางยุทธศาสตร์อยู่แล้ว นักท่องเที่ยวยุโรปที่ชอบเดินทางมาเมืองไทย หลายคนก็จะเดินทางแบบ Combine Destinations ไปพม่า มาไทย ไปลาว เป็นต้น

ชาวพม่าที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รักษาตัว ทำฟัน หรือซื้อของที่แม่สอด ก็เยอะมาก ส่วนคนไทยที่มาก็จะเน้นท่องเที่ยวแนวธรรมชาติ เช่นอุ้งผาง ทีลอซู เราอยากให้ตัวเมืองตากได้รับการประชาสัมพันธ์ เพราะส่วนใหญ่คนจะออกไป แม่สอดท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากกว่า จึงอยากให้คนมาเที่ยวตัวเมืองบ้าง พบว่ามีจุดน่าท่องเที่ยวหลายแห่ง พิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นจวนผู้ว่าเก่า



กลุ่มเป้าหมายของนักท่องเที่ยวที่อยากเชิญชวนเข้ามาสัมผัส ผอ.นิธี บอกว่า “น่าจะเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบความสนใจด้านประวัติศาสตร์อยู่พอสมควร และที่เดินทางตามรอยเส้นทางอาหารการกิน ตามรอยประวัติศาสตร์ การส่งเสริมให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวก็จะเป็นเรื่องของ Content Story เพราะเดี๋ยวนี้นักท่องเที่ยวในปัจจุบันให้คุณค่ากับประสบการณ์มากกว่าเรื่องของค่าเงิน ที่ว่าลดราคาหรือถูก แต่เขาจะสนใจเรื่องประสบการณ์มากกว่า อย่างเรื่องอาหารก็ไม่ใช่แค่กินแล้วแต่อยากจะลงไปที่ชุมชนด้วย ไปทดลองใช้ชีวิตหรือมีประสบการณ์ร่วมกับคนในชุมชนต่างๆ

และเมื่อถามถึงการเตรียมความพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวของจังหวัดตาก ผอ.กล่าวว่า “การเตรียมความพร้อมจะทำ ควบคู่กันไปนอกเหนือจากการสร้าง Demand แล้ว ในเรื่องของ Supply size ที่ฝ่ายส่งเสริมสินค้าดำเนินการอยู่คือ เรียกว่า ส่งเสริมให้ชุมชนต่างๆ มีความพร้อม โดยนำเรื่องของ Creative Tourism ส่งเสริมเข้าไป

ชุมชนเองต้องมีความพร้อม ทั้งเรื่องของการเข้าถึง การสื่อความหมายที่ชัดเจน อัตลักษณ์ การหาจุดขาย วัฒนธรรมหรือแม้กระทั่งกิจกรรมต่างๆ เรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวก ของที่ระลึก ร้านอาหาร ที่พัก รวมถึงบุคลากร แต่ละชุมชนต้องมี Smart People ต้องมีผู้นำที่เข้าใจเรื่องของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

อย่างเช่นที่ชุมชนตรอกบ้านจีน จริงๆ ก็มีผู้เฒ่าผู้แก่หลายท่านที่ให้ข้อมูลเหล่านี้ได้ เพียงแต่เราต้องลงไปสร้างความเข้าใจให้กับคนในชุมชนเหล่านั้นให้มากขึ้นก่อน คือในเมืองไทยมีชุมชนต่างๆ ที่น่าสนใจอยู่มากมาย ชุมชนที่มีความพร้อมที่รองรับนักท่องเที่ยว เราคิดว่าอยู่ที่ 150 ชุมชน บริษัทนำเที่ยวพานักท่องเที่ยวมาแล้วจัดการไม่เป็นก็จะเกิดปัญหา ปัญหานักท่องเที่ยวมารบกวนวิถีชีวิตของชาวบ้านเป็นต้น ต้องทำให้เกิดความท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งตรงนี้เราทำอยู่ตลอดอยู่แล้ว แม้กระทั่งที่ตากนี้เหมือนกัน



เราเน้นตัวชุมชนเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมพัฒนาชุมชน อพท. ทำเรื่องของท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เอกชน TCDC เรื่องของการออกแบบ คือตาม Cluster ใหม่ค่อนข้างครอบคลุม องค์กรต่างๆ ก็มาร่วมกัน เป็น Model ใหม่ สร้างในเรื่องของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขึ้นมา

สำหรับการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะตามรอยนั้น หลังจากนี้เราก็จะไปจัดทำเส้นทางขึ้นมา จะอัพโหลดไปยังเวปไซต์ของททท.ด้วย tourism produce /tourism.org และมีเรื่องของไลน์ต่างๆ ก็จะเผยแพร่ไปใน social media ต่างๆด้วย และก็ต้องขอความร่วมมือกับทางสื่อมวลชนช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อไป”
(ติดตามบทสัมภาษณ์ได้ ที่นี่...)

นาริฐา จ้อยเอม เรื่อง / ภาพ

https://www.facebook.com/btripnews/?ref=bookmarks