คุณภาพชีวิต คิดใคร่ครวญ
ผมได้รับไลน์จากเพื่อนต่างวัยท่านหนึ่งเสมอ ท่านเป็นนักกลอนเขียนกลอนได้สละสลวย อ่านแล้วเต็มไปด้วยสาระ ทุกวัน...เมื่อหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาอ่านไลน์ในช่วงเช้าหรือทุกช่วงที่มีโอกาสก็จะเปิดหาชื่อเพื่อนท่านนี้ แล้วอ่านสิ่งที่ท่านส่งมาให้อย่างใจจดใจจ่อ เพราะทุกเรื่องที่ท่านส่งมานั้นเปี่ยมด้วยสาระ ข้อคิด รวมถึงการดำรงชีวิต และการไม่ประมาทกับทุกเรื่อง คนที่เป็นนักคิด นักเขียนอย่างเพื่อนผมท่านนี้ ท่านมีเรื่องมาสอนโดยไม่ต้องสอนทุกวัน ผมต้องขอบคุณเพื่อนผู้อาวุโสท่านนี้จริง ๆ วันนี้เช่นกัน...เพื่อนท่านนี้ส่งไลน์เป็นกลอนแปดมาเล่าเรื่องที่ไปพบแพทย์ตามนัด เขียนเป็นกลอนเล่าสภาพของโรงพยาบาลที่ท่านไป สภาพของคนไข้ที่ไปนั่งรอ มีทั้งญาติคนไข้ และเจ้าหน้าที่ แพทย์ พยาบาล ซึ่งต่างก็มาทำหน้าที่ของตน มาทั้งในฐานะผู้รับบริการและผู้ให้บริการ เพื่อนผมอธิบายจนเห็นภาพในโรงพยาบาลอย่างชัดเจน ท่านยังเล่าถีงสังขารของมนุษย์เปรียบเทียบกับรถยนต์ เครื่องยนต์เสื่อมไปตามกาลเวลา แต่รถยนต์ยังทำประกันได้ห้าปี สิบปี แต่ร่างกายเราต้องรักษาให้ดีตลอดอาจเป็นหลาย ๆ สิบปี บางคนอาจถึงร้อยปี ก็ต้องดูแลให้ดีกว่าเครื่องยนต์ ต้องอาศัยโรงพยาบาลนี่แหละดูแล พูดถึงการไปโรงพยาบาลและการเจ็บป่วย เพื่อนผมท่านนี้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจมากคือเรื่องการยื้อชีวิตไว้วันสองวันเพื่อวัตถุประสงค์อะไรก็แล้วแต่ มันเหมาะควรหรือไม่อย่างไร บางทีเห็นญาติซึ่งสูงอายุมากแล้ว หมดลมก็เอาเครื่องช้อตไฟฟ้าไปช้อตบ้าง เอามือขึ้นไปขย่มที่หน้าอกบ้าง ทราบนะครับว่าหวังดีและเป็นวิธีรักษา ญาติบางคนก็ต้องการให้ทำเพื่อขออยู่กับผู้ที่ตนรักอีกสักนิด เพื่อนผมก็ตั้งคำถามว่าทำไปทำไม ไม่สงสารคนที่กำลังจะสิ้นลมบ้างหรือ เพื่อนผมบอกว่าทุกชีวิตมีชะตากำหนดมาเมื่อถึงเวลาต้องไปไม่มีใครฝืนได้ ดังนั้น ควรไปอย่างสบาย ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างมากแต่ลูกหลานบางคนอาจต้องการให้ผู้ที่ตนรักมีลมหายใจยาวออกไปอีกสักหน่อย ซึ่งก็ว่ากันตามที่สบายใจแล้วกัน (อันนี้ผมเติมเอง) ผมยังจำได้ตอนเตี่ยผมป่วยหนัก นอนอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ พยาบาลถามพี่น้องผมว่าถ้าหัวใจหยุดเต้นจะปั๊มหัวใจไหม เนื่องจากเตี่ยมีลูกหลายคนทุกคนจึงต้องปรึกษากัน ผมกับอีกหลายคนก็ตัดสินใจไม่ให้ทำอะไรกับเตี่ยผมเพราะเตี่ยแก่มากแล้ว ถ้าจะไปก็ควรจะไปให้สบาย ทุกคนก็เห็นด้วย เพราะตอนที่เตี่ยผมเสียอายุก็ตั้งเกือบร้อยเข้าไปแล้ว ปั๊มไปดีไม่ดีซี่โครงหักไปทิ่มปอดอีก เตี่ยผมก็จากไปอย่างสบายโดยไม่มีใครมายื้อ แม่ผมก็เช่นกันตอนก่อนเสียชีวิตที่โรงพยาบาลศิริราช แพทย์พยาบาลก็ถามเช่นกัน พวกเราก็ตอบแบบเดียวกัน ท่านก็ไปสบายในวัยเกือบเก้าสิบ วันนี้คอลัมน์สโลว์ไลฟ์ของผมเขียนเรื่องที่เป็นสัจธรรมนิดนะครับเพราะตั้งใจจะเขียน ทุกเรื่องที่อยากจะเขียน ไม่มีสไตล์ ไม่มีจุดเน้น เขียนเรื่อย ๆ ใครอ่านก็ได้สาระบ้าง ข้อคิดบ้าง บันเทิงนิดหน่อยก็เขียนไปเรื่อย ๆ ย้อนไปย้อนมาบ้างตามประสาคนที่ไลฟ์เริ่มสโลว์ลงไปแล้ว ใครได้อ่านก็คิดเอาละกันครับอะไรเป็นข้อคิดที่ดีก็เอาไปปรับใช้ได้ อะไรที่ไร้สาระนักก็อ่านผ่าน ๆ ไป หรือจะไม่อ่านเลยก็ไม่เป็นไรเช่นกัน มาพูดถึงการไปโรงพยาบาลอีกนิดนะครับ ผมแปลกใจมากจริง ๆ ว่าทำไมคนไทยป่วยเยอะเหลือเกิน เพราะไปโรงพยาบาล (โดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐ) ครั้งใดผมเห็นคนแน่นโรงพยาบาล ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการเลย เมื่อเปรียบเทียบกับบางประเทศผมไม่เห็นมีคนป่วยมากเท่ากับประเทศเราเลย ตัวอย่างผมเคยไปประเทศออสเตรีย แล้วญาติของน้องที่ไปด้วยกันเกิดอาการป่วยด้วยโรคหัวใจต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ผมก็ไปเยี่ยมกัน ปรากฎว่าโรงพยาบาลเหมือนกับโรงพยาบาลร้างครับ คนน้อยมาก ห้องผู้ป่วยในก็ว่างเต็มไปหมด ทั้ง ๆ ที่เป็นโรงพยาบาลรัฐนะครับ ผมก็ถามคนป่วยซึ่งเป็นญาติของเพื่อนว่าทำไมคนน้อย เขาก็ตอบว่าที่ประเทศนี้ (ออสเตรีย) เขามีระบบแพทย์ประจำตัว คลีนิคประจำตัวครับ เจ็บไข้ต้องไปพบแพทย์ประจำตัวหรือคลินิคประจำตัวก่อน กรณีฉุกเฉินเท่านั้นถึงไปโรงพยาบาล หรือแพทย์หรือคลินิคส่งตัวเท่านั้น โรงพยาบาลถึงรับตัวไว้รักษา เขาบอกว่าเวลามาเมืองไทยเห็นคนรอเต็มโรงพยาบาล เขายังแปลกใจว่าทำไมไม่ใช้ระบบอย่างเมืองนอกเขา ผมก็เลยตอบไปว่ามันคงใช้ไม่ได้มั้ง ถ้าใช้ได้เขาคงใช้นานแล้ว ก็ไม่รู้จะตอบยังไงนี่ครับ ผมเห็นคนรอเต็มโรงพยาบาล (นี่กลับมาโหมดประเทศไทยแล้วนะครับ) ทุกครั้งแล้วก็สะท้อนใจ ทำไมคนป่วยในไทยมันจึงเยอะอย่างนี้ หมอก็ไม่ค่อยพอ บางคนรอสามสี่ชั่วโมงพบหมอสามนาที รอยาอีกครึ่งชั่วโมง ถ้ารวมเจาะเลือดด้วย รอผลด้วยแล้วหนึ่งวันเต็ม ๆ เลยแหละ ถ้าเอาเวลาที่อยู่โรงพยาบาลไปทำมาหากินคงได้เงินเยอะอยู่นะครับ คงเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นกระมังที่คนไทยเจ็บป่วยมากน้อยแค่ไหนก็ต้องไปโรงพยาบาลของรัฐก็เลยทำให้แออัดเช่นปัจจุบัน ใครช่วยคิดระบบที่ทำให้พ่อแม่พี่น้องคนยากคนจนไม่ต้องไปแกร่วที่โรงพยาบาลทั้งวันได้ ผมจะอนุโมทนาสาธุและจะยกย่องท่านเป็นวีรบุรุษ ยิ่งกว่าตูน บอดี้สแลมอีก แต่อย่าแนะนำให้ไปโรงพยาบาลเอกชนนะครับ เพราะในปัจจุบันพ่อแม่พี่น้องเขายังยากจนไม่มีเงินมากพอไปรักษาหรอกครับ วันนี้เขียนเริ่มจากเพื่อนส่งไลน์มาหาว่าไปรักษาที่โรงพยาบาล ก็เลยพาทัวร์โรงพยาบาลทั้งไทย/เทศ ซะหนำใจเลยนะครับ ขอไปกินข้าวซะหน่อย วันนี้กลับจากออกกำลังกายผัดข้าวไว้กินทั้งเช้า กลางวัน เลย ตอนเย็นผมไม่กินข้าวเลยทำกินแค่สองมื้อ วิธีผัดข้าวของผมก็ง่ายมากครับไม่ต้องเตรียมอะไรมาก เอาข้าวที่เหลือจากเมื่อวานที่ใส่ตู้เย็นไว้ (แนะนำเลยนะครับข้าวที่จะเอามาผัดให้อร่อยต้องใส่ตู้เย็นไว้สักคืนครับข้าวจะเป็นตัว ผัดอร่อย) นำมาเตรียมใส่จานให้พร้อมเตรียมเนื้อสัตว์ไม่ว่าจะเป็นหมู กุ้ง หมึกฯลฯ พร้อมไว้ หั่นผักที่จะใส่ข้าวผัดไว้ ถ้ามีหอมใหญ่ มะเขือเทศก็หั่นเตรียมไว้ บังเอิญวันนี้ผมมีแค่ผักคะน้าอ่อนที่ซื้อมาจากศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด (เกาะเกิดเป็นศูนย์ศิลปาชีพ อยู่ริมถนนสายบางปะอิน - บางปะหันครับ) ก็เลยหั่นคะน้าอ่อนเตรียมไว้ วันนี้ไม่มีเนื้อสัตว์ในตู้เย็นเลย ตัดสินใจทำข้าวผัดไข่กิน เริ่มตั้งแต่...ตั้งกระทะให้ร้อน ใส่น้ำไป ต้มให้เดือด ใส่เกลือสักครี่งช้อนโต๊ะ พอเดือดเอาคะน้าลงลวกให้สุก เอาคะน้ามาสะเด็ดน้ำพักไว้ ถามว่าใส่เกลือทำไม ตอบว่าใส่แล้วคะน้าเขียวครับ เทน้ำในกะทะทิ้งตั้งไฟ ให้กะทะแห้ง ใส่น้ำมันลงไปพอน้ำมันร้อน ใส่กระเทียมพอเริ่มมีกลิ่นหอม ตอกไข่ใส่สักหนึ่งหรือสองฟอง เอาข้าวลงไปผัดใส่ซอสปรุงรส ใส่คะน้า ผัดให้เข้ากัน ตักใส่จาน กินกะพริกน้ำปลามะนาว อร่อยนะครับ เพราะเราทำเองเอารสที่เราชอบ อร่อยตลอดแหละ สมชาย เจริญอำนวยสุข