ชุมชนบ้านย่านยาว สานต่อวัฒนธรรม จัดประเพณีชักพระ(ลากพระ) งานบุญออกพรรษา
พังงา : เมื่อวันที่ 14 ต.ค.62 ผู้สื่อข่าวจังหวัดพังงา รายงานบรรยากาศการชักพระประเพณีในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้กระทำสืบทอดกันมาในจังหวัด บรรยากาศทั่วไปค่อนข้างครึกครื้น แม้ประชาชนจะโดนภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา แต่เนื่องจากเป็นประเพณีสืบทอดกันมา ทุกคนก็ร่วมมือกันด้วยความเต็มใจ เช่นที่ชุมชนบ้านย่านยาว เขตเทศบาลเมืองตะกั่วป่า ได้จัดประเพณีด้วยการนำพระพุทธรูป รูปหล่อของอดีตเจ้าอาวาสวัดนิกรวราราม หรือวัดย่านยาว เช่น พ่อท่านปาน พ่อท่านรอด พ่อท่านเกื้อ พ่อท่านพันธ์ พ่อท่านเงิน รวมทั้งรูปหล่อที่คนใต้นับถือบูชา เช่นรูปหล่อหลวงปู่ทวด นำขึ้นรถบุษบก ชักลากไปตามถนนในพื้นที่อำเภอตะกั่วป่าให้ชาวพุทธได้พากันกราบไหว้บูชา จากนั้นได้มีการอันเชิญพระพุทธรูป และรูปหล่อของหลวงพ่อ ไปประดิษฐานที่ในชุมชนบ้านย่านยาว พร้อมกับร่วมทำพิธีสมโภชน์ พิธีกรรมทางศาสนา ก่อนที่จะอันเชิญกลับไปประดิษฐานที่วัดนิกรวราราม หรือวัดย่านยาวในวันรุ่งขึ้นต่อไป ประเพณีชักพระ (ลากพระ) ผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่า ประเพณีชักพระเป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวใต้ที่สืบเนื่องมาจากพระพุทธศาสนากระทำกันหลังวันปวารณาหรือวันออกพรรษา 1 วัน คือตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 โดยพุทธศาสนิกชนพร้อมใจกันอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบก ที่วางอยู่เหนือเรือ รถ หรือล้อลื่อนที่ชาวบ้านเรียกว่า "พนมพระ" แล้วแห่แหนชักลากไปตามถนนหนทางหรือในลำน้ำ ถ้าท้องถิ่นใดอยู่ริมน้ำหรือมีลำคลอง ก็ลากพระทางน้ำ ถ้าห่างไกลลำคลองก็ลากพระทางบกแล้วแต่สภาพภูมิประเทศจะเหมาะแก่การลากพระประเภทไหนมากกว่ากัน ซึ่งชาวใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงมา หลาย จังหวัดจะมีประเพณีนี้ บางท้องที่เช่นจังหวัดตรัง พัลุงและสงขลา มีการลากพระบกประเพณีลากพระที่มีมาแต่โบราณ และก่อให้เกิดวัฒนธรรมอื่นๆ หลายอย่าง เช่น ประเพณีการแข่งขันเรือพาย การประชันโพนหรือแข่งโพน กีฬาซัดต้ม การทำต้มย่าง การเล่นเพลงเรือ เป็นต้น นอกจากนั้นประเพณีชักพระ ยังก่อให้เกิดการรวมกลุ่มกันทำคุณงามความดีก่อให้เกิดความสามัคคีธรรรมของหมู่คณะ นำความสงบสู่ท้องถิ่นและสังคมอย่างยั่งยืน. .......................... ภาพ/ข่าว...นายพงษ์ศักดิ์ ประทีป ผู้สื่อข่าวจังหวัดพังงา