จุรินทร์ นำ”พาณิชย์-เอกชน กำหนด 5 ยุทธศาสตร์ ” บุกตลาดตะวันออกกลาง
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 15.30 น.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานประชุมหารือการเตรียมความพร้อมเพื่อฟื้นความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย พร้อมด้วยพลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายกีรติ รัชโน รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศประเทศ และนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ที่ห้องกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ กล่าวว่าตัวเลขการส่งออกปี 2564 ไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบีย 51,500 ล้านบาท โดยไทยนำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย 181,500 ล้านบาท ซึ่งมีสินค้าที่ไทยนำเข้าที่สำคัญ คือ น้ำมันทำให้ไทยขาดดุลกับซาอุดีอาระเบีย 130,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกหลังหารือร่วมกับภาคเอกชน กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าจับมือกับภาคเอกชนทำตัวเลขส่งออกในปี 2565 จะมีการขยายตัว 6.2% สินค้าเป้าหมายหลักที่คิดว่าจะทำตลาดในซาอุดีอาระเบียมี 3 หมวด ได้แก่ 1. สินค้าเกษตร เช่น อาหาร ข้าว ไก่สด ผลไม้ เนื้อปลา กาแฟ ขนมจากน้ำตาล อาหารปรุงแต่งจากธัญพืช อาหารสัตว์เลี้ยง ซอสปรุงรส future food 2. สินค้าอุตสาหกรรม ประกอบด้วยรถยนต์และอุปกรณ์รถยนต์และชิ้นส่วน ยางรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ 3. ภาคบริการ โรงพยาบาลหรือบริการทางการแพทย์ โรงแรมและกิจกรรมหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว จากนี้ สินค้าที่จะมีอนาคตในการบุกตลาดได้นั้น เช่น ข้าว ซึ่งซาอุดีอาระเบีย จะเป็นอีกหนึ่งตลาดในอนาคต ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียนำเข้าข้าว 100% เพราะไม่ได้ปลูกข้าวในประเทศ และนำเข้าถึง 1.2-1.6 ล้านตัน จากอินเดีย 80 % ที่เหลือจากปากีสถาน สหรัฐ อเมริกา เวียดนามและไทย ซึ่งนำเข้าจากไทยเพียงแค่ 2% เท่านั้น ทำให้เรามองเห็นโอกาสในการบุกตลาดข้าวไปยังซาอุดีอาระเบีย สำหรับไก่ ซาอุดีอาระเบียเลี้ยงไก่เอง 60 % และบริโภคในปี 63 ประมาณ 1.48 ล้านตัน นำเข้าส่วนใหญ่จากบราซิล 70% และที่เหลือเป็นยูเครนและฝรั่งเศส ขณะนี้ติดขัดปัญหาอยู่ 3 เรื่องได้แก่ 1. การตรวจรับรองโรงงานในประเทศไทยเพื่อให้สามารถส่งออกไปที่ซาอุดีอาระเบีย มีการตรวจแล้ว 11 โรงงาน รอการประกาศอย่างเป็นทางการในการรับรอง 2. ซาอุดีอาระเบียและคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย มีการประสานกันมาตลอดในการรับรองตราฮาลาล ซึ่งติดปัญหาเนื่องจากซาอุดีอาระเบียไม่ได้ประกาศว่าประเทศไทยปลอดจากไข้หวัดนก ซึ่งไทยปลอดมานานแล้ว แต่จะต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการของซาอุดีอาระเบียก่อน 3.การออกมาตรฐานการรับรอง GSO 993 ซึ่งจะต้องรอการประชุมคณะมนตรีความร่วมมือแห่งรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council-GCC) 7 ประเทศ ซึ่งมีซาอุดีอาระเบีย ว่าจะรับรองมาตรฐานใหม่ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกไก่ มีผลิตภัณฑ์สอดคล้องกับมาตรฐานได้มากขึ้น ตนมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเร่งจับมือกับกรมปศุสัตว์ของไทย ประสานงานกับซาอุดีอาระเบียแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว หากเจรจาได้จบก็จะสามารถส่งออกไปยังซาอุดีอาระเบียได้ทันที สำหรับข้อสรุปของการประชุมในวันนี้ที่สำคัญ คือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความเห็นร่วมกันว่าจะกำหนดมาตรการ 5 มาตรการ ในการบุกตลาดซาอุดิอาระเบียให้เป็นรูปธรรม ดังนี้ 1.กระทรวงพาณิชย์จะจับมือกับกระทรวงการต่างประเทศเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย(Joint Trade Committee:JTC) เพื่อเป็นเวทีในการเจรจาการค้าระหว่างกันอย่างเป็นทางการและเป็นรูปธรรมและจะนำไปสู่การจัดทำ FTA ระหว่างกันได้ต่อไปในอนาคต 2.จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างไทยกับซาอุฯ โดยประเทศไทยจะจัดคณะภาครัฐและภาคเอกชนไปเจรจาการค้าขายสินค้าโดยตรงให้กับซาอุดีอาระเบียและซาอุดีอาระเบีย จะจัดคณะมาเยือนไทยเพื่อทำการค้าให้กับประเทศไทยต่อไป 3.ตนได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการจัดทำกิจกรรมต่างๆในการส่งเสริมสินค้าไทยบริการของไทยในตลาดซาอุดีอาระเบียในทุกรูปแบบทั้งเอ็กซิบิชั่นต่างๆ รูปแบบเจรจาจับคู่ธุรกิจและรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้เกิดการซื้อขายระหว่างกัน ทำเงินเข้าประเทศให้มากที่สุด เร็วที่สุด ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน 4.กระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพในการจัดการสัมมนาให้ข้อมูลและให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องตลาดซาอุดีอาระเบียให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการเพิ่มตัวเลขการส่งออกให้กับประเทศไทยไปยังซาอุดีอาระเบีย จะมีการกำหนดรายละเอียดว่าเดือนไหนจะจัดสัมมนาอย่างไร โดยเชิญภาคเอกชนและวิทยากรที่มีคุณวุฒิมีความรู้เรื่องตลาดซาอุดีอาระเบีย ตลาดตะวันออกกลางมาร่วมด้วย 5.กระทรวงพาณิชย์จะทำหน้าที่จัดทำระบบข้อมูลตลาดซาอุดีอาระเบียเชิงลึกโดยทูตพาณิชย์ที่รับผิดชอบ จะมีส่วนสำคัญร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กรมปศุสัตว์และอื่นๆ เตรียมข้อมูลรวมทั้งเตรียมศึกษากฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจมีความซับซ้อนและไม่เคยชินกับผู้ส่งออกของเราเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่ให้ภาคเอกชนนำไปใช้ต่อไป “สำหรับการติดตามผลเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ตนได้มอบให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นเจ้าของเรื่อง ติดตามประสานงานกับทุกหน่วยงาน และให้ถือว่าเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งวาระที่จะต้องบรรจุในการประชุม กรอ. พาณิชย์ ครั้งต่อไป เพื่อติดตามความคืบหน้าและให้มีการรายงานผลที่เป็นรูปธรรม หวังว่าตัวเลขการส่งออกของไทยไปซาอุฯจะเพิ่มได้อีก 6.2% เป็นอย่างน้อยในปี 65” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีเนื่องจากเราไม่ได้ทำการค้าเพราะเราไม่สามารถเดินทางไปประเทศซาอุดีอาระเบียได้ และยังมีข้อติดขัดมากมายหากภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์สามารถปลดล็อกเอกชนของเรา การมีท่านมาช่วยปลดล็อกจะเป็นการเร่งรัดการส่งออกของเราไปด้วยดี สำหรับข้าวไม่ต้องเป็นห่วงเพราะตอนนี้คนไทยที่ทำงานนู่นเพียง 10,000 คน และซาอุดีอาราเบียต้องการแรงงานประมาณ 200,000 คน คนไทยไปแล้วก็จะต้องบริโภคข้าวนึ่งโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว นอกจากเราจะพูดถึงการค้าการลงทุนการท่องเที่ยวก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญมากๆ หอการค้าจะทำเรื่องการลงทุนและการท่องเที่ยวไปด้วยกัน