“จุรินทร์” เร่งดันตลาดผลไม้ส่งออก ตอกย้ำตัวเลขขยายตัวต่อเนื่อง ชูปลดล็อคทุกช่องทาง
วันที่ 26 สิงหาคม 2564 เวลา 10.00 น.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวิทยากร มณีเนตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และนายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นสักขีพยานพิธีประกาศความตกลง ซื้อขายผลไม้ล่วงหน้า (MOP) ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 สํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ผลไม้ไทยถือเป็นสินค้าเป้าหมายสำคัญในการส่งออกเพื่อทำรายได้ให้กับประเทศ 7 เดือนแรกปีนี้ยอดการส่งออกผลไม้สดและผลไม้แปรรูปมีมูลค่าสูงถึง 131,166 ล้านบาทขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 48.31 และเป้าหมายในปีนี้ทั้งปีตั้งเป้าหมายว่าจะส่งออกผลไม้เพื่อทำรายได้เข้าประเทศให้ได้ไม่ต่ำกว่า 180,000 ล้านบาท ขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 โดยงานสำคัญในการส่งเสริมการส่งออกผลไม้เพื่อทำรายได้เข้าประเทศประกอบด้วย 4 งานใหญ่ 1.กิจกรรมจัดคู่เจรจาทางการค้าออนไลน์ OBM หรือ Online Business Matching 2.กิจกรรมการส่งเสริมการขายการบริโภคผลไม้ในห้างสรรพสินค้าและตลาดสำคัญในต่างประเทศ 3.กิจกรรมการจัด Thai Fruits Golden Months หรือเดือนทองของการบริโภคผลไม้ไทยในประเทศต่างๆ 4.กิจกรรมขายผลไม้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆโดยเฉพาะแพลตฟอร์มสำคัญในระดับโลกเช่น bigbasket.com ของอินเดีย Tmall ของจีน เป็นต้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า ตัวอย่างของความสำเร็จ เช่น การจัด Thai Fruits Golden Months ในประเทศจีนซึ่งช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาได้จัดไปแล้วใน 8 เมือง ประกอบด้วย หนานหนิง ไห่หนาน ฉงชิ่ง ชิงต่าว เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู ต้าเหลียน และฝอซาน สามารถทำได้ถึง 15,466 ล้านบาท และยังมีแผนงานที่เหลืออีก 5 เมืองคือ เซี่ยเหมิน หนานชาง คุนหมิง อู่ฮั่น และหนานหนิง ซึ่งคาดว่าจะทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท รวมแล้วเฉพาะการจัด Thai Fruits Golden Monthsในจีน 13 เมืองทำรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท สำหรับ 1 ใน 4 งานหรือกิจกรรมคือ OBM จับคู่เจรจาทางการค้าซื้อขายผลไม้ เราดำเนินการ 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งการส่งเสริมการจับคู่ซื้อขายผลไม้ของภาคตะวันออกของประเทศไทยมีการจัดกิจกรรมจับคู่ไปแล้วเมื่อวันที่ 24-25 มีนาคมที่ผ่านมา มีผู้ส่งออกไทยทั้งสิ้น 39 บริษัทผู้นำเข้าจากต่างประเทศ 179 บริษัทจาก 37 ประเทศ สามารถเจรจาซื้อขายได้ถือ 392 คู่ 2,276 ล้านบาท ประเทศนำเข้าสำคัญที่จับคู่นำเข้าผลไม้กับไทยประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ฮังการี อินเดีย รัสเซียและสหรัฐอเมริกา เป็นต้นโดยผลไม้ Top 5 ที่ได้เจรจาจนประสบความสำเร็จประกอบด้วย ทุเรียน มะม่วง มะพร้าว สับปะรดและมังคุด ช่วงต่อมาจับคู่เจรจาซื้อขายผลไม้ในภาคใต้กับภาคเหนือ วันที่ 22-23 กรกฎาคมมีผู้ส่งออกไทย 65 บริษัทผู้นำเข้า 72 บริษัทจาก 20 ประเทศสามารถเจรจาประสบความสำเร็จ 257 คู่ มูลค่า 1,865 ล้านบาท ผู้นำเข้าประกอบด้วยจีน เมียนมา อินเดีย ฮ่องกงและกัมพูชา ผลไม้สำคัญประกอบด้วยมะพร้าว สับปะรด มะม่วง ลำไย ในการเจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ 2 ครั้งทั้งภาคตะวันออก ภาคใต้และภาคเหนือสามารถทำยอดได้ถึง 4,141 ล้านบาท และกิจกรรมในวันนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งจากการเจรจาทั้ง 2 ครั้งโดยมีการประกาศการจับคู่ที่กำหนดการส่งมอบที่เป็นรูปธรรมแล้วจำนวน 21 คู่ เป็นเงินซื้อขายจริงที่จะชำระ 2,394 ล้านบาทคือความตกลงซื้อขายผลไม้ส่งออก หรือ Memorandum of Purchasing : MOP เป็นผู้ส่งออกของไทย 21 บริษัทผู้นำเข้า 21 บริษัทจาก 16 ประเทศประกอบด้วยอินเดีย ลาว เมียนมา สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สเปน เกาหลี ไต้หวัน อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา กัมพูชา ยูเออีและมาเลเซีย ผลไม้สำคัญประกอบด้วย ทุเรียน มะม่วง ลำไย มังคุดและมะพร้าว เป็นต้น "และขอมอบนโยบายพาณิชย์จังหวัด และ ทูตพาณิชย์ ที่เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์วันนี้ช่วยเจรจาจับคู่เพื่อระบายผลไม้ที่ยังเหลืออยู่ในขณะนี้โดยเฉพาะลำไยภาคเหนือและลองกองที่กำลังจะออกตามมา จับคู่กันระหว่างเซลล์แมนจังหวัด และขอให้ทีมเซลล์แมนประเทศประจำสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศทั้งหมดที่เข้าร่วมประชุมให้เร่งหาตลาดระบายพลไม้เพิ่มเติม และให้วางแผนล่วงหน้าเชิงรุก ให้ทีมเซลล์แมนจังหวัดกับทีมเซลล์แมนประเทศประสานงานกัน ทางไทยให้เตรียมการผลิตผลไม้คุณภาพและทีมเซลล์แมนในต่างประเทศให้นำออกไปขายให้ทั่วถึง คือนอกจากจังหวัดต่อจังหวัดแล้วยังให้เป็นภารกิจจังหวัดกับโลกต่อไปด้วย" นายจุรินทร์ กล่าวท้ายสุด