จ.อุบลฯ เปิดชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี “เส้นทางธรรมนำวิถีพอเพียง”ชวนเช็คอิน“บ้านบุ่งหวาย-บ้านโนนสมบูรณ์-บ้านหวางออก”
จังหวัดอุบลราชธานี ดีเดย์ประกาศขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี “เส้นทางธรรมนำวิถีพอเพียง” 6 อำเภอ 18 หมู่บ้าน ประเดิม ‘ชวนมาเที่ยวบ้านฉัน’ 3 หมู่บ้านในอ.วารินชำราบ สัมผัสเสน่ห์วิถีชีวิตชุมชน ชม-ชิม-ช้อป หนุนกระจายรายได้สู่ชุมชน เพื่อก้าวสู่ความ ‘มั่งมี ศรีสุข’ อย่างแท้จริงตามเป้าหมายของกระทรวงมหาดไทย นายมงคล ปัตลา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี “เส้นทางธรรมนำวิถีพอเพียง” อันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดการกระจายรายได้ในชุมชน ด้วยการนำเสน่ห์ของวิถีชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์ เชื่อมโยงกับเส้นทางท่องเที่ยว เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเรียนรู้และเที่ยวชม ซึ่งจะเป็นการสร้างงาน ให้กับคนในชุมชนอย่างทั่วถึงและยั่งยืน โดยมีพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 6 อำเภอ 18 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อ.วารินชำราบ จำนวน 3 หมู่บ้าน, อ.เขื่องใน จำนวน 4 หมู่บ้าน, อ.ม่วงสามสิบ จำนวน 3 หมู่บ้าน, อ.ทุ่งศรีอุดม จำนวน 1 หมู่บ้าน, อ.ศรีเมืองใหม่ จำนวน 3 หมู่บ้าน และ อ.ตาลสุม จำนวน 4 หมู่บ้าน โอกาสนี้ จ.อุบลราชธานี จึงได้ประเดิมเปิด ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี “เส้นทางธรรมนำวิถีพอเพียง” อ.วารินชำราบ สัมผัสประสบการณ์ใหม่ของการท่องเที่ยวใน 3 ชุมชนอันมีอัตลักษณ์โดดเด่น ได้แก่ บ้านบุ่งหวาย บ้านโนนสมบูรณ์ และบ้านหวางออก ในงาน ‘Open House เปิดบ้านฉัน เลาะธรรมนำวิถี’ ณ วัดบ้านบุ่งหวาย ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ โดยสมาชิกในแต่ละชุมชนต่างพร้อมใจกันยกของดีของเด็ดจากทั้ง 3 หมู่บ้านมานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน นิทรรศการข้อมูลและภาพถ่าย รวมถึงไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้คือผลิตภัณฑ์ 0TOP และสำรับอาหารพื้นถิ่น ‘บ้านบุ่งหวาย ต.บุ่งหวาย’ เป็นหมู่บ้านที่มีความโดดเด่นทางศาสนาและวัฒนธรรม โดยมีวัดบ้านบุ่งหวายและวัดป่านานาชาติ วัดป่าสายหลวงพ่อชา เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรม ผลิตภัณฑ์ OTOP ที่เป็นอัตลักษณ์และมีชื่อเสียงของบ้านบุ่งหวาย ได้แก่ ไม้กวาด ไม่ว่าจะเป็น ไม้กวาดทางมะพร้าว ไม้กวาดหยากไย่ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่และการจักสานต่างๆ อาทิ ไม้ถูพื้นไม้ไผ่ กระท่อมไม้ไผ่ แคร่ไม้ไผ่ เฟอร์นิเจอร์ชุดรับแขก เคาน์เตอร์เครื่องดื่ม ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นสินค้า OTOP ที่สร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชน นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังจะได้ตื่นตากับความงดงามของแม่น้ำสองสี ณ หาดวังยาง ซึ่งเป็นการไหลมาบรรจบกันของสองสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนในชุมชน คือลำน้ำชีและลำน้ำมูลอีกด้วย บ้านบุ่งหวายจึงเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชนที่ดำเนินชีวิตแบบพอเพียงตามวิถีพื้นบ้านในอ.วารินชำราบ สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวชุมชนได้ที่ : นายบุญมี บุราไกล ผู้ใหญ่บ้าน โทร. 097-1148504 ต่อด้วย ‘บ้านโนนสมบูรณ์ หมู่ที่ 10 ต.ธาตุ’ หมู่บ้านที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ โดยแยกมาจากหมู่บ้านหนองโก หมู่ที่ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 มีลักษณะเป็นเนินต้นไม้อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน “โนนสมบูรณ์” ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม ภายในหมู่บ้านมีศูนย์เรียนรู้ต่างๆ ได้แก่ ศูนย์จักสาน ศูนย์เกษตรแปรรูป สวนสมุนไพร ศูนย์ขนมไทยและงานฝีมือ ศูนย์นวดแผนโบราณ เป็นต้น โดยมีเส้นทางปั่นจักรยานชมศูนย์เรียนรู้ต่างๆ พร้อมชมอุโมงค์ต้นไม้ สวนเกษตรผสมผสานและทุ่งนาคำ ชมทุ่งหม้อข้าวหม้อแกงลิง ทุ่งผักกูด ทุ่งดอกกระดุมเงินกระดุมทอง ทุ่งดอกเอ็นอ้า และหนองปลิงสำราญ อีกทั้งยังมีโฮมสเตย์ที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวตลอดปี บ้านโนนสมบูรณ์มีผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ น้ำมัลเบอร์รี่ แยมมัลเบอร์รี่ ไอศกรีมมัลเบอร์รี่ ชาหญ้าหวาน ชาใบมะเดื่อฝรั่ง ขนมคุ้กกี้ ขนมเค้กชิ้น ขนมเค้กกล้วยหอม งานจักสาน งานภาชนะไม้ไผ่ ผลิตภัณฑ์จากกะลา สานหมวกใบมะพร้าว และตะกร้าพลาสติก เป็นต้น ส่วนสำรับอาหารพื้นถิ่น ได้แก่ ป่นปลา (น้ำพริก) ต้มปลา ไก่ใต้น้ำ ก้อยไข่มด (ตามฤดูกาล) ซุปหน่อไม้ และข้าวต้มหม้อข้าวหม้อแกงลิง สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวชุมชนได้ที่ : นายรัศมี ธุรี ผู้ใหญ่บ้าน โทร.092-9690848 ปิดท้ายที่ ‘บ้านหวางออก หมู่ที่ 12 ต.คูเมือง’ เดิมชื่อ ‘บ้านค้อหวาง’ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2439 โดยท่านเจ้าคุณอุบาลี คุณูปรมาจารย์สิริจันโท (จันทร์) เจ้าคณะมณฑลอิสาน เมื่อครั้งออกตรวจราชการตามท้องที่ต่างๆ ได้มาพบพื้นที่แห่งนี้ซึ่งมีสภาพอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การตั้งหมู่บ้าน แต่โยมบิดามารดาไม่อยากย้ายมาอยู่ที่นี่เพราะไม่มีวัด เจ้าคุณอุบาลีจึงได้สร้างวัดขึ้นระหว่างบ้านค้อหวางกับบ้านหวาง โยมบิดามารดาและลูกหลานจึงได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนที่นี่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2449 ปัจจุบัน ชาวบ้านที่มีจิตศรัทธายังคงมากราบสักการะเจ้าคุณอุบาลีที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งเจ้าคุณอุบาลี ภายในวัดสุภรัตนาราม ผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ขึ้นชื่อของบ้านหวางออก ได้แก่ ไม้กวาดดอกหญ้า ไม้กวาดทางมะพร้าว ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว หมวกใบตาล ผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่ เสื่อทอ แหนมหนังหมู แคบหมู แจ่วบอง ถั่วกรอบแก้ว ขนมเผือกลูกน้ำมันรังนก ขนมปั้นขลิบ กล้วยฉาบ-มันฉาบ และข้าวเกรียบฟักทอง ส่วนสำรับอาหารพื้นถิ่น ได้แก่ น้ำพริกแจ่วบอง ป่นปลาช่อน แกงหน่อไม้สดใส่เห็ด 3 อย่าง ไข่เจียวแหนมหนังหมู ยำสะเดาหวาน อู๋ปลาซิว บ่ายโบกหมากม่วงน้อย เป็นต้น สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวชุมชนได้ที่ : นายเพชรรัตน์ สีดารักษ์ กำนัน โทร.086-2633238