จังหวัดอุบลราชธานี ขานรับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และชุมชน ผ่านโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village) 8 เส้นทาง 10 หมู่บ้าน โดยตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรมเปิดหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวฯ ของแต่ละหมู่บ้านตามลำดับ ล่าสุดเป็นคิวของ ‘บ้านปากแซง อ.นาตาล’ และ ‘บ้านสองคอน อ.โพธิ์ไทร’ สองหมู่บ้านในเส้นทางวิถีชีวิตริมแม่น้ำโขง ซึ่งได้จัดกิจกรรมเปิดหมู่บ้านพร้อมกัน ณ ศูนย์แสดงสินค้าโอทอป อ.นาตาล โดยมีนายมงคล ปัตลา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธี
บ้านปากแซง หมู่ที่ 3 ต.พะลาน อ.นาตาล เป็นชุมชนเล็กๆ ริมแม่น้ำโขง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวจังหวัด พื้นที่เป็นที่ราบสูง ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รวมถึงทำประมงพื้นบ้านริมแม่น้ำโขง ส่วนอาชีพเสริม ได้แก่ งานฝีมือต่างๆ
ซึ่งหลายรายการจัดเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มีอัตลักษณ์ของชุมชน โดยเฉพาะการทอผ้า ไม่ว่าจะเป็นผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีจากธรรมชาติ ผ้าขาวม้า สไบ ผ้าซิ่น หรืองานหัตถศิลป์หลากรูปแบบ ได้แก่ เกวียน จักรยานจากลวดดัด, หวด, กระติ๊บข้าว, แก้วจากกระบอกไม้ไผ่ รวมถึงการแปรรูปอาหารต่างๆ เช่น กล้วย-เผือก-มันฉาบตำกล้วย, แจ่วบองผง ปลาส้ม, ส้มปลาต่อน, ส้มผัก-ผักดอง, ปลาจ่าม, ข้าวต้มมัดธัญพืชเพื่อสุขภาพ, กล้วยตากอบน้ำผึ้ง เป็นต้น
ถึงจะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แต่บ้านปากแซงก็ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์รวมดวงใจของชาวพุทธสองแผ่นดินทั้งชาวไทยและชาวลาว เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดพระโต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่มีอายุเก่าแก่นับพันปี พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวจึงนิยมมากราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล จนบริเวณรอบวัดพระโตได้รับการพัฒนาปรับปรุงทัศนียภาพให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งใน อ.นาตาล
เลียบแม่น้ำโขงถัดลงไปจากบ้านปากแซงประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของ บ้านสองคอน หมู่ที่ 1 ต.สองคอน อ.โพธิ์ไทร ชื่อ ‘สองคอน’ มาจากที่ตั้งของหมู่บ้านซึ่งในฤดูน้ำหลาก กระแสน้ำโขงจะไหลเป็นสองทาง เรียกว่า ‘คอนปากบ้อง’ กับ ‘คองสิ่ว’ ชาวบ้านจึงเรียกต่อๆ กันมาว่า ‘บ้านสองคอน’ สภาพภูมิประเทศทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงสลับกับเนินเขา นอกจากจะทำนาและทำประมงน้ำจืดแล้ว ชาวบ้านสองคอนส่วนหนึ่งจึงนิยมทำสวนผลไม้ด้วยเช่นกัน
สำหรับผลิตภัณฑ์ OTOP ของบ้านสองคอน มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งงานจักสาน ได้แก่ กระติ๊บข้าว, ซ้อนตักปลา, ขี้ไต้ หรืองานทอผ้า ได้แก่ อุปกรณ์ชุดทอผ้า กระเป๋าจากซองกาแฟ ถักพรมสายรุ้ง เสื้อย้อมคราม เสื้อย้อมสีธรรมชาติ ผ้าซิ่นฝ้ายทอมือ ผ้าขาวม้าผ้าฝ้าย ผ้าซิ่นฝ้ายย้อมคราม หมอนขิด เป็นต้น ขณะที่กลุ่มอาหารแปรรูปก็มีหลายเมนูให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นปลาร้า ปลาโขงแดดเดียว หน่อไม้ดอง ส้มไข่ปลา ข้าวต้มมัด ปลาร้าสับ ถั่วต้ม และมันเทศนึ่ง
“ขณะนี้โครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village) 8 เส้นทางของจังหวัดอุบลราชธานีกำลังขับเคลื่อนไปด้วยดี คนในชุมชนต่างร่วมใจกันสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เพื่อกระตุ้นบรรยากาศการท่องเที่ยว มีการปักป้าย ‘แอ่งเล็ก เช็คอิน’ ในจุดที่เป็นแลนด์มาร์คของชุมชน มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายขึ้น มีการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว รวมถึงการนำเสนอเมนูอาหารพื้นถิ่นและเครื่องดื่มสมุนไพรต่างๆ ทั้งหมดนี้ถือเป็นรูปแบบใหม่ของการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่เที่ยวกันได้ตลอดปี ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและจะทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในที่สุด” นายมงคล กล่าวปิดท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอนาตาล โทรศัพท์ 081-8234405 และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอโพธิ์ไทร โทรศัพท์ 089-2779012
ข้อมูลเพิ่มเติม
หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP VILLAGE) 8 เส้นทาง 7 อำเภอ 10 หมู่บ้าน ในจ.อุบลราชธานี ประกอบด้วย
-
เส้นทางสายอารยธรรมอีสานใต้ อำเภอน้ำยืน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านโนนสูง-บ้านหนองขอนน-บ้านหนองขอนพัฒนา, อำเภอบุณฑริก มี 1 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านสมพรรัตน์, อำเภอนาจะหลวย มี 1 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านแก้งเรือง, อำเภอสิรินธร มี 1 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านโนนหินกอง
-
เส้นทางวิถีชีวิตริมแม่น้ำโขง ประกอบด้วย อำเภอโพธิ์ไทร มี 1 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านสองคอน, อำเภอนาตาล มี 1 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านปากแซง, อำเภอโขงเจียม มี 2 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านตามุย และบ้านปากลา
Post Views: 78