Update Newsสังคมสังคม/CSRสาธารณสุข

ฉลองครบรอบ 100 ปี “อินซูลิน” หลายภาคส่วนร่วมมือส่งเสริมสุขภาพ ในวันเบาหวานโลก 2564

เนื่องในวันเบาหวานโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (IDF: International Diabetes Federation) ได้กำหนดให้มีการรณรงค์ในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งในปีนี้มีการกำหนดหัวข้อรณรงค์เป็น Access to Diabetes Care. If not now, When? ทางสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ จึงได้จัดงาน “Together Fight Diabetes ควบคุมเบาหวานดี #ของมันต้องมี” ภายใต้คอนเซปต์ “การเข้าถึงการดูแลโรคเบาหวาน ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ แล้วจะต้องเมื่อไร” 

ที่สำคัญปีนี้ยังเป็นวันครบรอบ 100 ปี “อินซูลิน” อีกด้วย ทางสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ และภาคีเครือข่าย อาทิ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมมือกันดำเนินการและหารือถึงทิศทางด้านนโยบายเพื่อให้ผู้ที่เป็นเบาหวานให้ได้เข้าถึงการดูแลรักษา และดูแลตนเองได้ดีขึ้น 

ทั้งในเรื่องการรักษาเบาหวานอย่างต่อเนื่อง การดูแลติดตามระดับน้ำตาลด้วยตนเอง สื่อการสอนเพื่อให้ความรู้ที่ใช้เพื่อการดูแลตนเอง พร้อมมุ่งผลักดันให้โรคเบาหวานซึ่งเป็นวาระด้านสุขภาพของโลกและประเทศไทยที่ต้องร่วมมือกันดูแลและป้องกัน ยกระดับการเข้าถึงการรักษาให้กับประชาชน ตลอดจนหาแนวทางที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ เผยว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานอยู่ประมาณ 5 ล้านคน หรือเปรียบเทียบได้ว่า 1 ใน 10 คนไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไป กำลังป่วยด้วยโรคเบาหวาน และมีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งแสนคนต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้มีถึง 40% ที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ขณะที่ผู้ได้รับการวินิจฉัยและดูแลรักษามีเพียง 54.1% หรือเพียง 2.6 ล้านคน

ศ.เกรียติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์

ในจำนวนนี้มีเพียง 1 ใน 3 คน ที่สามารถบรรลุเป้าหมายในการรักษา ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคเบาหวานในเมืองไทยมีมากถึง 200 รายต่อวัน สำหรับประเทศไทยมีอัตราความชุกของโรคเพิ่มขึ้นรวดเร็ว สาเหตุเกิดจากปัญหาโรคอ้วนและพฤติกรรมการใช้ชีวิตในเด็กวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้เป็นคนวัยทำงานและเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ”

“ที่สำคัญในปีนี้ ยังครบรอบ 100 ปี ของการค้นพบอินซูลิน ซึ่งถือว่าเป็นตัวยารักษาโรคเบาหวานตัวแรกของโลกและเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยต่อชีวิตผู้คนได้มากมายและทำให้ผู้เป็นเบาหวานใช้ชีวิตได้อย่างมีความปกติสุข อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะค้นพบอินซูลินมา 100 ปี แต่ยังพบว่าผู้ที่เป็นเบาหวานอีกจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงยา อุปกรณ์ตรวจวัดน้ำตาล เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต และการเข้าถึงความรู้ที่ถูกต้อง หรือระบบสนับสนุนทางจิตใจหรือทางสังคม ทั้งที่ผู้เป็นเบาหวานต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่องและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ

ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังพบว่า ผู้ที่เป็นเบาหวานไม่ได้ไปรักษาตามที่แพทย์นัด ไม่ได้รับการตรวจติดตามผลการรักษาตามปกติ ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี และเมื่อมีการติดเชื้อโควิด จะทำให้ระดับน้ำตาลควบคุมได้ยาก รวมทั้งอาจจำเป็นต้องได้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ทำให้ระดับน้ำตาลควบคุมได้ยากยิ่งขึ้น การติดเชื้อรุนแรงขึ้นและมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป 

 ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรง จำเป็นต้องให้การรักษาที่บ้าน อาจจะส่งให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันจากระดับน้ำตาลสูงได้ จึงได้มีการตั้งกลุ่มบุคลากรการแพทย์จิตอาสาดูแลผู้ป่วยผ่านสื่อออนไลน์ และถ้าเป็นเบาหวาน หรือมีปัญหาน้ำตาลสูง 

สามารถส่งปรึกษาทีมแพทย์พยาบาลเฉพาะทางเบาหวานเพื่อให้การดูแลต่อ โดยการดูแลปัญหาน้ำตาลสูงที่บ้าน สอนคนไข้และครอบครัวให้มีความรู้และทักษะจัดการภาวะฉุกเฉิน  นอกจากนี้จำเป็นต้องจัดส่งเครื่องเจาะเลือด แผ่นตรวจน้ำตาล และยาอินซูลิน ที่ได้จากเงินบริจาค ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากเป็นความรู้ที่จะใช้ป้องกันผู้ที่เป็นเบาหวานในการเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาว เป็นการสอนการแก้ไขระดับน้ำตาลผิดปกติเพื่อกันการเกิดภาวะฉุกเฉินจากระดับน้ำตาลสูงหรือต่ำได้เมื่อผู้ที่เป็นเบาหวานอยู่ที่บ้านดูแลตัวเองยามเจ็บป่วย”

ด้าน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า “กรมการแพทย์ได้ทำทุกอย่างในเรื่องของวิชาการ เพื่อนำวิชาความรู้เข้าไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศ ส่วนเรื่องการจัดการการดูแลผู้ป่วยซึ่งเป็นสิ่งสำคัญนั้น เป็นเรื่องที่เราไม่เคยทำแต่ได้มาทำในช่วงโควิด และประสบความสำเร็จมาก ทุกคนสามารถทำ Home Isolation ทำ Telemedicine กันได้หมด



 โดยที่คนที่ให้คำปรึกษาก็ไม่ใช่แพทย์ทั้งหมด แต่เป็นประชาชนจิตอาสาหรือหน่วยงาน NGO แสดงให้เห็นว่า คนที่เป็นชาวบ้านก็สามารถให้ความรู้ สื่อสารและคุยกันผ่านช่องทางการสื่อสารที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งทุกวันนี้เรายอมรับในเรื่องของ Telehealth แล้ว แค่เติมส่วนที่เป็น Device คืออุปกรณ์สนับสนุนต่างๆ ต่อท้าย ส่วนเรื่องกองทุน ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงฯ ที่จะผลักดันให้คณะกรรมการของกองทุนต่างๆ ได้รับฟังและมองเห็นถึงจุดคุ้มทุน ปัจจุบันเรามี Home Isolation 

เรามี Home Chemotherapy ถ้าเราจะมีการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่บ้านเป็น Home DM หรือ Home NCD แทนที่ผู้ป่วยจะต้องมาที่โรงพยาบาล มีเครื่องมือต่างๆ สนับสนุน และมีแนวทางการดูแลรักษาและเบิกจ่ายแบบที่รักษาโควิด และสามารถสื่อสารสร้างความเข้าใจได้ ประชาชนเข้าถึงการดูแลได้มากขึ้น เป็นการดูแลรักษาที่ลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างยั่งยืน”

จากซ้าย นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์, นพ.จักรกริช โง้วศิริ

นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “ด้วยจุดกำเนิดของสปสช. หัวใจหลักคือ ต้องการให้คนได้มีความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการ ได้สิทธิประโยชน์ หรือสิทธิ์ที่ประชาชนพึงจะได้รับในเรื่องของสุขภาพ โดยต้องมีองค์ความรู้ในเรื่องของวิชาการ มีมาตรฐานและแนวทางการรักษาเป็นที่ยอมรับ มีประสิทธิภาพ เห็นผล มีความพร้อมของบุคลากรและระบบ 

ถ้าทุกอย่างมีพร้อม แล้วค่อยมาถึงเรื่องเงิน ว่าคุ้มค่าไหม ไม่อยากให้คิดว่ายาตัวนี้มีราคาแพง แต่ถ้ายาตัวไหนมีคุณภาพและประสิทธิภาพในการรักษา ก็สามารถผลักดันให้เข้าสู่ระบบได้ เพราะการรักษาค่อนข้างเป็นปลายทางแล้ว ที่เราพยายามทำให้เกิดคือสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมป้องกันโรคที่ยังมี gap อยู่ค่อนข้างเยอะ ถ้าในต่างประเทศ เรื่องการป้องกันแทบจะไม่อยู่ในระบบหลักประกันเลย เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของประชาชน แต่ไทยถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคุ้มครองประชาชน

นพ.จักรกริช โง้วศิริ

 จึงอยากให้มองกว้างมากกว่าเรื่องยา เพราะประเทศไทยไม่สามารถผลิตยาได้เอง ยังต้องพึ่งพาคนอื่นมาก เรื่องเบาหวาน ความดัน อยู่ที่พฤติกรรมและปรับระบบการบริการ การดูแลสุขภาพแบบใหม่ให้คนไข้มีความรู้และทักษะที่จะสามารถดูแลตัวเองได้ หรือใช้ดิจิทัล เทคโนโลยี กับเรื่องของการทำการบริบาลทางไกล ซึ่งตอนนี้สปสช.กำลังเดินไปในทิศทางนี้ให้มากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพให้กับประชาชน”

ทั้งนี้ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ยังได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วนเป็นอย่างมาก ในฐานะองค์กรทางวิชาการ และมีกิจกรรมทั้งในด้านการป้องกันโรคเบาหวานในประชาชน และการเผยแพร่ความรู้ที่ทันสมัยแก่บุคคลทั่ไปและบุคคลากรทางการแพทย์  หวังลดอัตราผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ ผู้เกี่ยวข้องด้านกำหนดนโยบาย ทีมบริบาลเบาหวาน และประชาชนเข้าร่วมงานเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการบริหารจัดการเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ผสานความร่วมมือในด้านต่างๆ โดยมุ่งผลักดันให้โรคเบาหวานซึ่งเป็นวาระด้านสุขภาพของโลกและประเทศไทยที่ต้องร่วมมือกันดูแลและป้องกัน ยกระดับการเข้าถึงการรักษาให้กับประชาชน ตลอดจนหาแนวทางที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น

จากซ้าย รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ศ.เกรียติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์, ศ.พญ.ธนินี สหกิจรุ่งเรือง