กรมชลประทาน เฝ้าระวังฝนตกหนักหลายพื้นที่ สั่งทุกโครงการชลประทานเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมรับมือและบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของรัฐบาล โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)
กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ( 28 ก.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 35,328 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 11,397 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 40,740 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,728 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 1,032 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่มีการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้วทั้งประเทศรวม 12.09 ล้านไร่ หรือร้อยละ 72 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 5.71 ล้านไร่ หรือร้อยละ 71 ของแผนฯ เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณฝนตกกระจายตัวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมสถานการณ์น้ำทั่วประเทศดีขึ้นตามลำดับ
สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำยัง ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ที่ได้รับอิทธิพลของพายุ “เจิมปากา” ล่าสุด(27 ก.ค. 64) ที่สถานี E.92 บ้านท่างาม อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด น้ำเริ่มล้นตลิ่ง เมื่อเวลาตี 3 ที่ผ่านมา ทำให้เช้านี้มีน้ำท่วมที่ลุ่มต่ำประมาณ 15 เซนติเมตร เป็นพื้นที่การเกษตรประมาณ 300 ไร่ บริเวณบ้านหนองผักตบ ยังไม่กระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชน แนวโน้มน้ำลดลง เนื่องจากปริมาณฝนทางตอนบนลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ โครงการชลประทานร้อยเอ็ด ได้แจ้งเตือนผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้นำท้องถิ่น เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ทราบถึงสถานการณ์ก่อนหน้านี้แล้ว มีการเตรียมพร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 16 เครื่อง ที่สะพานบ้านค้อเหนือ รวมไปถึงการตัดยอดน้ำผ่าน ปตร.บุ่งเบ้าเข้าสู่ลำห้วยวังหลวงในอัตรา 10 ลบ.ม./วินาที มีการหน่วงน้ำในแม่น้ำชีไว้ที่เขื่อนร้อยเอ็ด และเพิ่มการระบายน้ำที่เขื่อนยโสธร ทำให้การระบายน้ำจากลำน้ำยังไหลลงสู่แม่น้ำชีเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม ระดับน้ำจะเริ่มทรงตัวและเริ่มลดลงคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติในระยะต่อไป แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ฝนอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสิ้นสุดฤดู
ในส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง ปัจจุบันระดับน้ำยังคงต่ำกว่าตลิ่ง และยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนริมแม่น้ำโขง ทั้ง 7 จังหวัด(เชียงราย เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี) แนวโน้มระดับน้ำที่อ.เชียงคาน จ.เลย เริ่มลดลงแล้ว หากไม่มีฝนตกหนักทางตอนบน จะทำให้ระดับน้ำในที่ไหลผ่านในพื้นที่จังหวัดหนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ลดลงตามลำดับในระยะต่อไป
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกแห่งเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด 24 ชั่วโมง พร้อมบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม มีการตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้มีความพร้อมรับมือน้ำหลาก ตามแผนที่กำหนดไว้ มีการกำหนดพื้นที่เสี่ยง และกำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำจุด เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยได้อย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์
จึงขอให้ประชาชนติดตามสถาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือสามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา
Post Views: 46