“ตามรอยพ่อฯ” ปี 8 จัดกิจกรรมเอามื้อ จ.ชัยภูมิ สร้างพื้นที่ต้นแบบฟื้นฟูธนาคารน้ำแห่งภาคอีสาน
-โครงการตามรอยพ่อฯ ปี 8 จัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ณ ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม ระดมอาสาสมัครกว่า 200 คน สร้างโคก หนอง นา ชัยภูมิโมเดล พื้นที่เรียนรู้ศาสตร์พระราชา ต้นแบบในการฟื้นฟูต้นน้ำชีแม่น้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงภาคอีสาน
-ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม ต้นแบบแห่งการสานพลังสามัคคี รวบรวมคนมีใจจากหลากหลายสาขาอาชีพ เพื่อร่วมกันมอบความรู้ในการดำเนินชีวิตและเสริมสร้างสุขภาพตามแนวทางศาสตร์พระราชาแก่ชาวชัยภูมิและผู้สนใจ เชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาอย่างยั่งยืน
โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปีที่ 8 จัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ระดมอาสาสมัครกว่า 200 คน สร้างโคก หนอง นา ชัยภูมิโมเดล พื้นที่เรียนรู้ศาสตร์พระราชาเพื่อการฟื้นฟูลุ่มนํ้าป่าสักและลุ่มนํ้าชี ณ ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ศูนย์เรียนรู้ที่รวบรวมคนมีใจ และมีความรู้ด้านหลักกสิกรรมธรรมชาติ มาถ่ายทอดความรู้ศาสตร์พระราชาเพื่อส่งเสริมสุขภาพและการดําเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืนให้แก่ชาวชัยภูมิ พร้อมวางมาตรการความปลอดภัยในการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับภาวะปกติใหม่ (New Normal)
โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) เกิดจากความร่วมมือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคศาสนา และสื่อมวลชน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน มาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เกิดความตระหนัก และนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 ในปีนี้ ภายใต้แนวคิด “สู้ทุกวิกฤต รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา” เพื่อตอกย้ำว่าศาสตร์พระราชาคือทางรอดจากทุกวิกฤต
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวถึงความสำคัญในการเลือก จ.ชัยภูมิเป็นสถานที่จัดกิจกรรมว่า “จ.ชัยภูมิ เป็นธนาคารน้ำของภาคอีสาน เนื่องจากเป็นแหล่งต้นน้ำชี แม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ น้ำฝนจะไหลลงแม่น้ำป่าสัก แม่น้ำชี แล้วไหลผ่านจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ แล้วไหลลงแม่น้ำโขงที่อุบลราชธานี ด้วยเหตุนี้การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำและการรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำจึงนับเป็นเรื่องที่สำคัญ
โดยในปี 2561 นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการ จ.ชัยภูมิ ในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นผู้ว่าราชการ จ.ภูเก็ต) ได้ซื้อที่ดินจำนวน 11 ไร่เศษ ใน อ.เมือง จ.ชัยภูมิ พร้อมชักชวนผู้รู้และคนมีใจหลากหลายอาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล ครู ข้าราชการ เกษตรกร ร่วมกันก่อตั้งศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม ที่บ้านเสี้ยวน้อยพัฒนา ต.บ้านเล่า อ.เมือง ให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของผู้คนและนักท่องเที่ยวที่สนใจ เน้นการฝึกอบรม เพื่อผลักดันองค์ความรู้เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวทางศาสตร์พระราชา สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อรักษาฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชัยภูมิได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบันศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าเก้าตาม ได้แบ่งพื้นที่ทำการเกษตรหลากหลายรูปแบบ อาทิ การทำนาแบบดั้งเดิม การเลี้ยงปลาในนาข้าว การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ การทำปศุสัตว์ รวมไปถึงการจัดทำระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบน้ำเพื่อการเกษตร และระบบการกักเก็บน้ำในสระไม่ให้ไหลซึมหายไปในช่วงหน้าแล้ง เป็นต้น การจัดกิจกรรมครั้งนี้จึงเป็นการกระตุ้นเตือนให้ทุกคนเห็นความสำคัญในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ทั้งต้นน้ำป่าสักและต้นน้ำชี อีกทั้งเป็นการนำเสนออีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จในการร่วมมือร่วมใจของภาคีเครือข่ายคนมีใจในการถ่ายทอดองค์ความรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชาและส่งต่อแรงบันดาลใจสู่คนรุ่นต่อ ๆ ไปไม่รู้จบ ”
ด้าน นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด กล่าวถึงรายละเอียดของกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “กิจกรรมเอามื้อสามัคคีในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการตามรอยพ่อฯ ปี 8 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมราว 200 คน จากสมาชิกเครือข่ายมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและคนมีใจจาก จ.สระบุรี จ.ลพบุรี จ.เลย จ.บุรีรัมย์ และคนมีใจในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ โดยได้วางมาตรการความปลอดภัยในการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับภาวะปกติใหม่ หรือ New normal ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 วัน คนมีใจได้มาร่วมกันสร้างโคก หนอง นา ชัยภูมิโมเดล เพื่อการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน
กิจกรรมที่ทำ ได้แก่ การขุดคลองไส้ไก่ ทำแปลงผักแสนดี (ปลูกผักในกระบะ) โรงปุ๋ยแสนขยัน (ปุ๋ยจากมูลวัว) หนองปลาโตไว (แซนด์วิชปลา สร้างแหล่งอาหารครบวงจร) ดำนาอินทรีย์ และปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นต้น โดยมีวิทยากรจากมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ รวมถึง ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) สาธิตและให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม
ซึ่งคาดหวังว่ากิจกรรมนี้ จะเป็นการสร้างพื้นที่ต้นแบบให้ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม เป็นศูนย์เรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบในการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายและคนมีใจต่าง ๆ ที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และองค์ความรู้ศาสตร์พระราชามาแก้ปัญหาในพื้นที่ ชุมชน จังหวัดได้อย่างยั่งยืน และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติและถ่ายทอดให้คนอื่น ๆ ต่อไป”
ด้าน นพ.นรุตม์ อภิชาตอำมฤต (หมอนิค) นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลหนองบัวระเหว ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติหนองบัวระเหว ต.ส้มป่อย อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ และศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม กล่าวถึงความเป็นมาของศูนย์ฯ บอกเล่าก้าวตามว่า “หลังเรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เลือกทำงานใช้ทุนและเรียนต่อในสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวซึ่งเป็นสาขาที่ขาดแคลน เป็นการมองคนไข้แบบองค์รวมว่าครอบครัวมีผลต่อโรคอย่างไร พบว่าต่างจังหวัดขาดแคลนหมอมากกว่า จึงมาทำงานชุมชนโดยตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้สุขภาพของชุมชนดีจากพื้นฐาน
ซึ่งพบว่าปัญหาสุขภาพมีรากฐานจากสังคม เช่น ในชัยภูมิมีปัญหาเรื่องการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ปัญหาความยากจนที่ผลักดันให้คนหนุ่มสาวออกไปทำงานที่อื่นแล้วส่งลูกกลับมาให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง เกิดเป็นครอบครัวแหว่งกลางที่ในบ้านมีแต่ผู้สูงอายุและเด็ก จึงตัดสินใจศึกษาและลงไปพัฒนาชุมชนด้วยศาสตร์พระราชา เนื่องจากตอบโจทย์ 3 ประการคือ เรื่องเกษตรอินทรีย์ เรื่องการแก้ปัญหาความยากจน และเรื่องการแก้ปัญหาแรงงานย้ายถิ่น
โดยร่วมกับจิตอาสาจากหลายภาคส่วน ต่อมาได้มาร่วมก่อตั้งศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยกันทำ เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับเรียนรู้และจัดฝึกอบรม ที่ผ่านมามีผู้มาเข้ารับการอบรมไปแล้วหลายรุ่น การเอามื้อสามัคคีในครั้งนี้ จะมีการปรับพื้นที่ใหม่ให้ถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยการออกแบบพื้นที่ให้ศูนย์ฯ สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และเหมาะสมกับกำลังคนที่มีอยู่น้อยเพราะทุกคนมีงานประจำ”
ด้าน นางปราณี ชัยทวีพรสุข ประธานกรรมการศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม และเจ้าของ “สวนฝันสานสุข” จ.ชัยภูมิ กล่าวถึงความเป็นมาจากอาชีพพยาบาลมาเป็นประธานกรรมการศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียงบอกเล่าก้าวตามว่า “การทำงานส่งเสริมสุขภาพชุมชนทำให้พบว่า การรักษาพยาบาลเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เนื่องจากปัญหาสุขภาพมีความเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต เช่น การใช้สารเคมีในการเพาะปลูกมีผลกับสุขภาพ ปัญหาครอบครัวแหว่งกลางส่งผลให้ผู้สูงอายุเป็นโรคซึมเศร้า ต่อมาได้มาเรียนรู้เรื่องศาสตร์พระราชาและแนวทางกสิกรรมธรรมชาติจากอาจารย์ยักษ์และอาจารย์โจน จันใด
ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ จึงรวบรวมคนมีความรู้มาทำงานร่วมกัน แจกจ่ายความรู้เรื่องสุขภาพ หยิบเรื่องสมุนไพรใกล้ตัวมาใช้ประโยชน์ รวบรวมสูตรยาและอนุรักษ์ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย นำเรื่อง “สมุนไพรอินทรีย์” มาใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต
นอกจากขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์ฯ บอกเล่าก้าวตามแล้ว ยังทำ ‘สวนฝันสานสุข’ ของตัวเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแหล่งอาหาร ให้คนมาเรียนรู้ จ้างชาวบ้านมาช่วยงานเพื่อสอนเขา ซึ่งเขาเอาความรู้กลับไปทำที่บ้าน ในการทำศูนย์ฯ บอกเล่าก้าวตาม มีหน้าที่รวบรวมคนจากหลากหลายอาชีพ เป็นผู้ต่อจิ๊กซอว์ที่นำไปสู่การสร้างเครือข่ายเข้มแข็งในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ”
ทั้งนี้ กิจกรรมเอามื้อสามัคคีในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปีที่ 8 กำหนดจัดขึ้นอีกครั้ง ณ โคก หนอง นาขาวัง ต.คลองบ้านโพธิ์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ผืนนาที่เป็นพื้นที่ระบบนิเวศ 3 น้ำ มีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม ทำนาในฤดูฝน ส่วนฤดูแล้งตั้งแต่น้ำกร่อยจนน้ำเค็มก็เลี้ยงกุ้งหอยปูปลา โดยจะมีกิจกรรมการปั่นจักรยานรณรงค์จากแปลงชาวนามหานคร (หนองจอก) ถึง โคก หนอง นาขาวัง จ.ฉะเชิงเทรา อีกด้วย นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีช่องทางสื่อสารในรายการเจาะใจ ซึ่งจะออกอากาศทางช่อง MCOT HD ในเดือนธันวาคม 2563
ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลและกิจกรรมในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking หรือดูรายละเอียดที่ https://ajourneyinspiredbytheking.org