ตามอธิบดี พส. ลงพื้นที่บูรณาการ One Home เปิดประตูเยี่ยมบ้าน สร้างสะพานสู่สวัสดิการสังคม
นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ลงพื้นที่ร่วมกับกรมกิจการ เด็กและเยาวชน สำนักงานเขตและภาคีเครือข่าย เพื่อติดตามผลการช่วยเหลือผู้ลงทะเบียนสวัสดิการ แห่งรัฐตามโครงการ Family Data เปิดประตูเยี่ยมบ้าน สร้างสะพานสู่สวัสดิการ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๑ พร้อมร่วมวางแผนการดูแลช่วยเหลือครอบครัวกับทีม One Home ณ ซอยพหลโยธิน ๔๙ เขตจตุจักร และชุมชนพรหมสัมฤทธิ์ เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร จากตัวเลขที่กระทรวงการคลังดำเนินการโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐของรัฐบาลในปี 2559 - 2560 ที่มุ่งจัดสวัสดิการและการบริการทางสังคมให้แก่ผู้ลงทะเบียนซึ่งเป็นผู้ว่างงานและผู้มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี มีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 14.1 ล้านคน ผ่านกระบวนการกลั่นกรองคงเหลือ 11.4 ล้านคน (5.26 ล้านครัวเรือน) และยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีภารกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคม สร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม จึงสานต่อนโยบายของรัฐบาลเชิงรุก จัดทำโครงการ Family Data เปิดประตูเยี่ยมบ้าน สร้างสะพานสู่สวัสดิการสังคม ประจำปีงบประมาณ 2561 ที่มุ่งสร้างโอกาสการเขาถึงสวัสดิการ แห่งรัฐ และให้ความช่วยเหลือด้วยกระบวนการทางวิชาชีพในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายอย่างยั่งยืนนางนภา เศรษฐกร กล่าวว่า “ โครงการ Family Data เป็นโครงการต่อยอดจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ช่วยเหลือเรื่องพาหนะ ค่าอุปโภคบริโภค โดยทำงานแบบบูรณาการ การทำงานระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ในรูปแบบของทีม One Home ซึ่งประกอบไปด้วยนักสังคมสงเคราะห์ นักพัฒนาสังคม จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัด สถานคุ้มครองและศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัด สถานสงเคราะห์ฯ นิคมสร้างตนเอง อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ผ่านการอบรมแนวทางการให้ความช่วยเหลือตามกระบวนการ Case Management : CM พร้อมมีคู่มือแนวทางการดำเนินงานโครงการมาแล้วจากส่วนกลางในการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน เพื่อเก็บข้อมูลผู้ลงทะเบียนฯโดยพิจารณา ให้การช่วยเหลือแก่กลุ่มเป้าหมายในรายที่วิกฤตที่สุดก่อน คือ กลุ่มผู้ไม่มีรายได้ มีหนี้นอกระบบ จำนวนทั้งสิ้น 252,788 ครัวเรือน ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2561 ได้คัดกรองเพื่อให้ความช่วยเหลือจำนวนทั้งสิ้น 126,394 ครัวเรือน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50 ของครัวเรือนที่ไม่มีรายได้ มีหนี้นอกระบบหรือหนี้เพื่ออุปโภค บริโภค
![]()
![]()
นางนภา กล่าวขณะเข้าเยี่ยมบ้าน นางศศิธร ทองนิล วัย 30 ปี ย่านจตุจักรซึ่งดูแลมารดา ที่อยู่ในอาการเจ็บป่วย อีกทั้งยังต้องเลี้ยงดูบุตรอีกสองคนว่า ครอบครัวนี้ได้จดทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งอยู่ใน Family Data เอาไว้ เมื่อเรามาลงพื้นที่ก็ได้พบกับน้องศศิธรผู้ดูแลมารดาที่ป่วยด้วยอาการเส้นเลือด นสมองแตกตลอดสี่ปีที่ผ่านมา เมื่อก่อนทำงานได้ แต่หลังจากมารดาป่วยก็ไม่สามารถออกไปทำงานที่ไหนได้ไกลแต่เพราะมารดาป่วยในช่วงอายุ 40 กว่า ยังไม่มากเท่าไหร่ อาการจึงฟื้นและพัฒนาได้เร็ว แต่ก็ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้พูดได้ ใช้มือได้ เดินพอได้ ขอชื่นชมน้องที่เป็นลูกกตัญญู ดูแลมารดามาตลอดสี่ปีที่ผ่านมา มองว่าสิทธิของมารดาน้องศศิธรซึ่งเจ็บป่วยอยู่ สามารถใช้สิทธิคนพิการได้ ซึ่งเมื่อลงทะเบียนคนพิการก็จะได้รับสิทธิในการช่วยเหลือเดือนละ 800 บาท และยังสามารถยื่นขอกู้เงินกองทุนคนพิการได้ เพื่อนำไปประกอบอาชีพค้าขาย ภายในวงเงินไม่เกิน 60,000 บาท โดยไม่เสียดอกเบี้ย และยังได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งจะทำให้ครอบครัวมีฐานะดีขึ้น นางนภา กล่าวต่อว่า “ขณะเดียวกันก็บูรณาการกับกรมกิจการเด็กและเยาวชนมาลงพื้นที่ด้วยกัน เพื่อให้การช่วยเหลือลูก หลาน ของที่นี่ อนาคตของเด็กเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด สำหรับกรณีนี้จะได้รับเงินสงเคราะห์เด็กในครอบครัวยากจนด้วย ตามระเบียบพิจารณาให้เด็ก 1 คน จะได้รับการช่วยเหลือ 1,000 บาท แต่ถ้าครอบครัวมีเด็กมากกว่า 1 คน จะได้รับเงินสงเคราะห์เด็กไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง ปีหนึ่งจะได้ 3 ครั้ง และกรมฯ จะเข้าติดตามครอบครัวว่าเป็นอย่างไรบ้าง” “เมื่อกรมฯ เข้าติดตาม เยี่ยมเยียนการให้ความช่วยเหลือ จะไม่ได้ดูแลแค่เพียงคนใดคนหนึ่ง แต่จะดูแลทุกคนในครอบครัว เช่น ถ้าครอบครัวนี้มีผู้สูงอายุ ก็จะประสานกรมกิจการผู้สูงอายุมาดูแลด้วย” นางนภา กล่าวในตอนท้าย ด้านนางศศิธร กล่าวถึงความรู้สึกถึงการได้รับความช่วยเหลือในครั้งนี้ว่า “ก่อนที่จะได้รับความช่วยเหลือ ครอบครัวมีความลำบากเพราะนอกจากจะเป็นหนี้นอกระบบแล้วยังเป็นหนี้อื่นๆ อีกไปลงทะเบียนคนจนก็ได้นำบัตรมาใช้รูดในการซื้อของมาบริโภค อุปโภค เมื่อได้รับการช่วยเหลือทำให้ครอบครัว ดีขึ้น แต่ก็ยังห่วงเรื่องการเรียนของบุตร หากได้รับการช่วยเหลือครั้งนี้จะช่วยให้เด็กๆ มีเงินไปโรงเรียน และตนเองยังได้เอาไปทำทุนซื้อของมาค้าขาย” .... และในช่วงบ่ายของวัน ได้เดินทางลงพื้นที่ต่อเนื่องไปยังซอยชุมชนพรหมสัมฤทธิ์ เพื่อติดตามครอบครัว คำแฝงชัย ย่านดอนเมือง ภายในบ้านของนางวัฒนา คำแฝงชัย อายุ 43 ปี ซึ่งมีอาชีพรับจ้างทั่วไป พบว่า นางวัฒนา ต้องเลี้ยงดูบุตรและหลาน รวมกันถึง 14 คน โดยนางวัฒนาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวดูแลทุกคน นางงามจิต แต้สุวรรณ หัวหน้าบ้านมิตรไมตรีกรุงเทพ หนึ่งในทีมงานพม. เล่าว่า ครอบครัวคำแฝงชัย เป็นหนึ่งใน Family Data เช่นเดียวกัน หลังจากได้ลงพื้นที่เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและศึกษาจนทราบถึงปัญหาต่างๆ มาหลายครั้ง ครั้งนี้จึงมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ นายไพโรจน์ สุขสละ พนักงานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เพื่อเข้ามาให้ความช่วยเหลือกับเด็กด้วย นอกจากเงินสงเคราะห์จะสามารถช่วยเหลือครอบครัวได้ส่วนหนึ่ง ก็ได้ประสานงานในเรื่องการหาอาชีพเสริมให้กับบุตรสาวของนางวัฒนา ที่ต้องทำงานแบบไม่ไกลจากบ้าน เนื่องจากมีบุตรที่ยังเล็กอยู่ ทุนที่ได้จึงนำไปค้าขายในบริเวณใกล้เคียง นางวัฒนาประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ทำงานก่อสร้างไปเรื่อยๆ ใครจ้างก็ไป รายได้จึงไม่แน่นอน โดยก่อนหน้านี้เขาไม่เคยรู้ถึงสิทธินี้ ก็จะได้รับความช่วยเหลือแค่เดือนละ 300 บาทจากสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น
![]()
![]()
![]()
นางวัฒนา หัวหน้าครอบครัว เล่าว่า “เราคิดว่าเราแย่แล้ว เป็นครั้งแรกในชีวิตที่มีคนมาสนใจดูแลขนาดนี้ ไม่ใช่มาครั้งแรกมาหลายครั้งหลายคน ไม่คิดไม่ฝันว่าจะมีวันนั้นวันที่ได้รับการช่วยเหลือ พอได้ทุนมาก็คิดว่า เราจะไม่แย่แล้ว ชีวิตต้องดีขึ้นไม่ช้าก็เร็ว บุตรหลานจะได้เรียนให้จบ สอนเขาทุกวัน ว่าไม่เรียนก็ต้องทำก่อสร้างเหมือนเรา” เสียงอันสั่นเครือของนางวัฒนา บ่งบอกถึงความรู้สึกกับภาระที่ต้องดูแลบุตรหลาน รวมสิบกว่าชีวิต ภายในบ้านไม้หลังเก่าคร่ำคร่าในชุมชน ที่วันนี้ได้รับการเข้ามาเยียวยาภาระหนี้สินนอกระบบ และการได้รับรู้ถึงสิทธิที่นางวัฒนาควรได้รับ จากโครงการ One Home เปิดประตูเยี่ยมบ้าน สร้างสะพานสู่สวัสดิการสังคม ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นั่นทำให้... วันนี้ได้เห็นรอยยิ้ม...ได้ยินเสียงหัวเราะจากเด็กน้อย ได้เห็นน้ำตาของผู้ได้รับการช่วยเหลือ โครงการ Family Data เปิดประตูเยี่ยมบ้าน สร้างสะพานสู่สวัสดิการสังคม จึงไม่ใช่เพียงเพื่อพาคนใดคนหนึ่งก้าวข้ามความยากลำบากเท่านั้น เหนือสิ่งอื่นใดคือการที่ทำให้เขาเหล่านั้นได้กลับมาดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณค่าและภาคภูมิใจในความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมต่อไป
![]()