Update Newsธุรกิจ-เศรษฐกิจประกันภัย

ติวเข้ม อนุญาโตตลุาการ คปภ. รุ่นใหม่ เตรียมรับข้อพิพาทประกันภัยยุคดิจิทัล

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการปฐมนิเทศอนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. ที่ขึ้นทะเบียนใหม่ โดยมี คณะผู้บริหาร คปภ. พนักงาน คปภ. ที่เกี่ยวข้อง และอนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. ที่ขึ้นทะเบียนใหม่ เข้าร่วมการปฐมนิเทศ จำนวน 50 คน ณ ห้องประชุมสถาบัน วปส. สำนักงาน คปภ. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อนุญาโตตุลาการที่ขึ้นทะเบียนใหม่ ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ที่เกี่ยวกับการประกันภัยและการระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ รวมถึงการรับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการ




จากอนุญาโตตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้มีกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การรับฟังปาฐกถาพิเศษ รับฟังการบรรยายพิเศษจากคณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. กิจกรรมเสวนา หัวข้อ “บทบาทหน้าที่ และประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการของสำนักงาน คปภ.” และศึกษาดูงานระบบอนุญาโตตุลาการ ศูนย์การให้บริการประชาชนด้านการประกันภัย และศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย ของสำนักงาน คปภ.



โดยเลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ เป็นกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกกรณีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาประกันภัย ระหว่างผู้เอาประกันภัย กับบริษัทประกันภัย ซึ่งมีกฎหมายรองรับคือ ระเบียบสำนักงาน คปภ. ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2551 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดในปีนี้ เพื่อให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ปัจจุบันสถานที่ทำการอนุญาโตตุลาการ มี 3 แห่ง คือ สำนักงาน คปภ.ส่วนกลาง ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร ที่สำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) และที่สำนักงาน คปภ.ภาค 9 (สงขลา)



เลขาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. มีคำสั่งที่ 132/2562 แต่งตั้งคณะทำงานกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้สมัครขอขึ้นทะเบียนเป็นอนุญาโตตุลาการสำนักงาน คปภ. โดยคณะกรรมการ ได้มีมติเห็นชอบรายชื่ออนุญาโตตุลาการ รวมจำนวน 108 คน แบ่งเป็นอนุญาโตตุลาการตามทะเบียนเดิม จำนวน 78 คน และอนุญาโตตุลาการที่เพิ่มใหม่อีก จำนวน 30 คน และได้ประกาศขึ้นทะเบียนอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563

สำหรับทิศทางและนโยบายในการดำเนินงานเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทนั้น สำนักงาน คปภ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของภารกิจในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยอย่างยิ่ง จึงได้เร่งปรับปรุงกระบวนการระงับข้อพิพาท ทั้งในส่วนของกระบวนการระงับข้อพิพาทในชั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามระเบียบสำนักงาน คปภ. ว่าด้วยการพิจารณาข้อร้องเรียนและดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย พ.ศ. 2552 และในชั้นผู้ไกล่เกลี่ยที่เป็นบุคคลภายนอก ตามระเบียบสำนักงาน คปภ. ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย พ.ศ. 2559 รวมถึงในชั้นอนุญาโตตุลาการ ตามระเบียบสำนักงาน คปภ. ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ และทำให้การระงับข้อพิพาทเป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยได้มีการศึกษา วิเคราะห์ ประเด็นปัญหาที่มีความไม่ชัดเจน และความซ้ำซ้อนของระเบียบสำนักงาน คปภ. และอยู่ระหว่างการปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียน การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้กระบวนการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนมีความชัดเจน มีความเชื่อมโยงสอดคล้อง และมีประสิทธิภาพ



นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้จัดทำหนังสือคู่มือการปฏิบัติงานของอนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. สำหรับใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน รวมทั้งได้ปรับปรุงระบบบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนทั้งหมดครอบคลุมถึงการเสนอข้อพิพาทเข้าสู่ชั้นอนุญาโตตุลาการ โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้บริหารจัดการเรื่องร้องเรียนและข้อพิพาท ซึ่งจะมีการปรับปรุงระเบียบและคู่มือการดำเนินการให้สอดคล้องกับการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนงานต่อไป รวมทั้งจะบูรณาการการทำงานระหว่างผู้ไกล่เกลี่ยและอนุญาโตตุลาการ โดยจะจัดประชุม/สัมมนาร่วมกันเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมทั้งถอดบทเรียนที่เกิดจากการปฏิบัติงาน ซึ่งข้อพิพาทมีลักษณะเดียวกัน

“จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ตลอดจนรูปแบบการดำเนินธุรกิจประกันภัยที่เปลี่ยนไป ทำให้อนุญาโตตุลาการ ของสำนักงาน คปภ. ต้องเตรียมรับมือให้พร้อม โดยต้องมีความรู้ความเข้าใจในระบบประกันภัย กติกาต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งต้องเติมเต็มองค์ความรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่มาใช้บริการ” เลขาธิการ กล่าวในตอนท้าย