ททท.ดึงอาหารถิ่นในตำนาน นำร่องท่องเที่ยว หวังดันรายได้สู่ชุมชนวิถีเมืองรอง
นายคมกริช ด้วงเงิน ผู้อำนวยการส่งเสริมการบริการท่องเที่ยว ฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว ททท. และนาย อิสระ สาตรา ผู้ช่วยผู้อำนวยการททท.สำนักงานสุรินทร์ พร้อมด้วยณิชารีย์ โชคประจักษ์ชัด นักแสดง นำคณะสื่อมวลชนเข้าร่วมโครงการเส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน (Gastronomy Tourism) เพื่อขานรับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจใภูมิภาคของรัฐ ด้วยการใช้การท่องเที่ยวมาเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ณ จังหวัดสุรินทร์ นายคมกริชกล่าวถึงที่มาของกิจกรรมนำร่องในครั้งนี้ว่า “ททท.ได้ทำการสำรวจและจัดทำเส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน (Gastronomy Tourism) ไว้จำนวน 10 เส้นทางกระจายไปทุกภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดตาก พะเยา สกลนคร สุรินทร์ ตราด ราชบุรี ระนอง สตูล อ่างทอง-สิงห์บุรี และลพบุรี เพื่อขานรับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคของรัฐบาล ด้วยการใช้การท่องเที่ยวมาเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยจาก 10 เส้นทางดังกล่าว ททท. ได้พิจารณาเลือก 5 เส้นทางได้แก่ จังหวัดตาก สุรินทร์ ตราด สตูล และลพบุรี มาดำเนินการจัดเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวนำร่อง โดยจังหวัดสุรินทร์เป็นเมืองรองที่มีนักท่องเที่ยวปีละไม่เกินสี่ล้านคน แต่เป็นเมืองที่พร้อมด้วยสถานที่ท่องเที่ยวและสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นวนอุทยานพนมสวาย เขาศักดิ์สิทธ์ ปราสาทศีชรภูมิ หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ผ้าไหมทอบ้านท่าสว่าง (กลุ่มทอผ้ายกทอง จันทร์โสมา) ที กล้า ออแกนิกส์ฟาร์ม กาละแมศีขรภูมิ ซึ่งล้วนแล้วแต่ผูกพันกับชุมชนวิถีของชาวสุรินทร์ทั้งสิ้น ในส่วนของอาหารถิ่น เป็นอาหารที่นิยมกันและทานได้ในจังหวัด มีหลายอย่างที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น สลอตราว หรือแกงเผือก เป็นอาหารที่มีรสจืด นิยมใส่ปลาเป็นส่วนประกอบ อาจใช้รับประทานเปล่า ๆ คล้ายก๋วยเตี๋ยวก็ได้ ชาวเขมรและชาวกูยที่มีฐานะ นิยมปรุงให้จืดเพื่อรับประทานเปล่า ๆ “ซันลอเจก” เป็นภาษาเขมร หมายถึง “แกงกล้วย” ซันลอ = แกง, เจก = กล้วย เนื่องจากเมื่อก่อน การคมนาคมขนส่งต่าง ๆ ยังไม่สะดวก อาหารการกินต่าง ๆ ล้วนหาได้จากเรือกสวน ไร่นา และรอบ ๆ บริเวณบ้าน เมื่อมีคนตายในหมู่บ้าน เจ้าของงานจะจัดหาอาหารต้อนรับผู้มาร่วมงานศพ ซึ่งมักจะทำแกงกล้วยเป็นอาหารหลัก เพราะบ้านเกือบทุกหลัง นิยมปลูกต้นกล้วย เพราะต้นกล้วยสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง “อันซอมจรุ๊ก” ลักษณะเป็นท่อนยาวๆ ข้างในเป็นข้าวเหนียวผสมกับถั่วลิสง เนื้อหมูและมันหมู ปรุงรสให้ออกเค็มๆ หน่อยแล้วห่อด้วยใบตอง รสชาติออกจะคล้ายๆ กับ “บ๊ะจ่าง” เพียงแต่ไม่ได้มีเครื่องเคราเหมือนกับบ๊ะจ่างของคนจีน นายคมกริชกล่าวต่อว่า รายละเอียดและข้อมูลต่างๆ ทั้งเส้นทางตามรอยการท่องเที่ยว อาหารถิ่น ในตำนานนี้ ในครั้งต่อไปจะไปยังจังหวัดสตูล ซึ่งเมื่อสำรวจจนครบเส้นทางแล้วจะนำไปประชุมพิจารณาและจัดทำเป็นแผนสำหรับการแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวต่อไป โดยสามารถเข้าไปค้นหารายละเอียดต่างๆ ได้ในเวปไซต์ของททท. กับประสบการณ์ใหม่ๆ พร้อมรับรู้เรื่องราว “การกิน “ซึ่งเป็นหนึ่งในซิกเนเจอร์ของเมืองไทย ที่ใครๆ ก็ไม่ควรพลาด ไม่เพียงแต่จะเปิดตาให้เห็นถึงความมหัศจรรย์แห่งอาหารไทยที่ทำให้สัมผัสได้ถึงวิถีชีวิต เรื่องราวความน่าสนใจในศาสตร์และศิลป์แห่งศิลปะ วัฒนธรรม วิถีการดำรงชีวิตในแง่มุมต่างๆ แล้วยังสนุกเพลิดเพลิน อิ่มเอมไปกับอรรถรสของรสชาติอาหารที่แตกต่างกัน ในแต่ละพื้นถิ่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของอาหารในแต่ละภิมภาคได้อย่าง ชัดเจน ที่สำคัญการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ไม่มีฤดูกาล สามารถเดินทางแสวงหาอาหารถิ่นได้ตลอดทั้งปี “ด้วยเหตุนี้ เมืองไทยจึงไม่ได้มีดีเพียงแค่อาหารริมทางสไตลสตรีทฟู้ด เท่านั้น อาหารไทยที่ชวนสร้างความอะเมซซิ่ง ยังมีอาหารถิ่นจานอร่อย สไตล์วิถีไทยดั้งเดิมแบบพื้นบ้าน และอาหารไทยต้นตำรับที่เน้นความวิจิตรบรรจง ในการปรุงแต่งและจัดจานสไตล์ชาววัง เมนูอาหารถิ่นในตำนานนี้จะเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน ” นายคมกริช กล่าวท้ายสุด