Update Newsกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาท่องเที่ยว B Tripธุรกิจท่องเที่ยว

ททท. แถลง “THE MICHELIN EXPERIENCE @ ISAN มิชลินถิ่นอีสาน” เดินหน้ายกระดับวัฒนธรรมอาหารไทย-อีสาน สู่สากล

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นประธานในการแถลงข่าว “THE MICHELIN EXPERIENCE @ ISAN มิชลินถิ่นอีสาน” ต่อยอด Soft Power of Thailand สู่ High Value Tourism มอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับรางวัลมิชลิน ‘บิบ กูร์มองด์’ ประจำปี 2566 จำนวน 33 ราย จาก 4 เมืองตัวแทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอกย้ำภาพลักษณ์ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) สอดรับการก้าวสู่ปีที่ 2 ของปีท่องเที่ยวไทย 2566 พร้อมกันนี้ นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท. และนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. ให้เกียรติเข้าร่วมงาน

 

 

 

 

 

 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย ททท. ได้สนับสนุนโครงการ The MICHELIN Guide Thailand ต่อเนื่องเป็นระยะที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2565-2569 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ผลักดัน Soft Power ในด้านอาหาร (F-Food) หรือการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ของประเทศไทยที่มีความโดดเด่นและแข็งแกร่ง โดยปีนี้ได้จัดทำหนังสือคู่มือปีที่ 6 ขยายพื้นที่สำรวจครอบคลุมสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด คือ จังหวัดอุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น และนครราชสีมา

ในโอกาสนี้ ททท. ได้จัดแถลงข่าว THE MICHELIN EXPERIENCE @ ISAN มิชลินถิ่นอีสาน” ณ พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เพื่อส่งสัญญาณความพร้อมก้าวสู่ปีที่ 2 ของปีท่องเที่ยวไทย 2566 ด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างเต็มรูปแบบ และกระตุ้นให้เกิดการยกระดับและพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Shape Supply) ให้พร้อมรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ

ภายในงาน ททท. จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีกับธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับการจัดอันดับในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับปี 2566 ซึ่งเป็นฉบับที่ 6 ของไทย โดย 9 ร้านอยู่ใน จังหวัดนครราชสีมา, 11 ร้าน ในจังหวัดขอนแก่น, 6 ร้าน ในจังหวัดอุบลราชธานี และ 7 ร้าน ในจังหวัดอุดรธานี ไม่เพียงเท่านั้น ททท. ยังชวนสัมผัสเสน่ห์ของวัฒนธรรมอาหารอีสานด้วยการจัดเสิร์ฟเมนูอาหารเลิศรสจาก 7 ร้านมิชลินในจังหวัดอุดรธานี ประกอบด้วย แหนมเนืองและพันหอม จากร้าน VT แหนมเนือง เมี่ยงทอดมัจฉาและปลาทับทิมอกแตก จากสวนอาหารมัจฉาผาสุข ปลาส้มทอด แกงคั่วหอยขม และข้าวเหนียวห่อใบตอง จากครัวคุณนิด ก๋วยเตี๋ยวเป็ดตุ๋นและข้าวหน้าเป็ด จากร้านเป้งก๋วยเตี๋ยวเป็ด ขนมปังสามสหายและสตูซี่โครงหมู จากร้านมาดามพาเท่ห์ 2515 เมี่ยงทอดและแหนมคลุก จากร้านอรุณีแหนมเนือง แซลมอนแช่น้ำปลาร้า และพวงนมทอดกระเทียม จากร้านลาบนัว ก่อนจะเติมสีสันบรรยากาศแห่งความม่วนซื่นด้วยการแสดงพื้นเมืองอีสานและการบรรเลงบทเพลงจากวงดนตรีอะคูสติก ให้ผู้ร่วมงานดื่มด่ำกลิ่นอายและหลงรักแผ่นดินถิ่นอีสานอย่างเต็มอิ่ม

 

 

ความสำเร็จของร้านอาหารมิชลิน ถือเป็นข้อบ่งชี้ที่สำคัญ สะท้อนคุณภาพและศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ผลการดำเนินโครงการ  The MICHELIN Guide Thailand  ประจำปี 2560 – 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำวิจัยและสำรวจ จำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 โดย บริษัท เคเนติกส์ คอนซัลติ้ง จำกัด และครั้งที่ 2 โดย Erst & Young (EY) พบว่า โครงการ The MICHELIN Guide Thailand สร้างมูลค่าส่วนเพิ่มด้านอาหารของประเทศไทยด้านการท่องเที่ยวมากถึง 842.40 ล้านบาท เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากกว่า 4,800 ตำแหน่ง รวมถึงสามารถดึงดูดเชฟชั้นนำชาวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาทำงานด้านอาหารและลงทุนเปิดร้านอาหารระดับ Hi-End ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ต่อมาในปี 2565 ททท. ได้ทำการประเมินผลการท่องเที่ยวด้านอาหารและโครงการ The MICHELIN Guide Thailand ปี 2565 จำนวน 1 ครั้ง 

โดย บริษัท เคเนติกส์ คอนซัลติ้ง จำกัด พบว่านักท่องเที่ยวกลุ่มที่เคยได้รับประสบการณ์ที่ร้านอาหารมิชลินมีพฤติกรรมและทัศนคติที่ดีทั้งต่อร้านอาหารและประเทศไทยในแง่อื่น ๆ ทั้งในด้านการประชาสัมพันธ์ และเศรษฐกิจ อาทิ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ร้อยละ 98 ที่เคยได้รับประทานอาหารมิชลินแล้ว จะแนะนำต่อ และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ร้อยละ 94 ที่เคยได้รับประทานอาหารมิชลินแล้ว จะเดินทางไปลองทานอาหารที่ร้านอาหารมิชลินอื่นๆ ในประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ ททท. ได้ผนึกกำลังกับพันธมิตรสายการบิน บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด สนับสนุนการเดินทางของคณะสื่อมวลชนทั้งสื่อออฟไลน์และออนไลน์ที่เข้าร่วมผลิตเนื้อหาประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี รวมทั้งเป็นกำลังในการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวเชิงอาหาร เพื่อสัมผัสเสน่ห์ของวัฒนธรรมอาหารเชื่อมโยงภายในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 


ทั้งนี้ นอกจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารแล้ว ททท. ยังให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์รางวัลดาวมิชลินรักษ์โลก (The MICHELIN Green Star) มอบแก่ร้านอาหารที่ส่งมอบประสบการณ์การรับประทานอาหารที่ยอดเยี่ยม โดยคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย 2566’ ประกอบด้วย 3 ร้าน ได้แก่ ร้าน PRU (พรุ)  จ.ภูเก็ต ร้านจำปา จ.ภูเก็ต ร้าน Haoma กรุงเทพฯ ร้านอาหารเหล่านี้เป็นร้านที่มีปณิธานด้านสิ่งแวดล้อมที่โดดเด่นและมุ่งสู่ความยั่งยืน พัฒนาคุณภาพร้านอาหาร พร้อมกับยกระดับวัตถุดิบของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (Zero Food Waste) เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยในการเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมผ่านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ให้เป็นที่รู้จักระดับนานาชาติต่อไป