ทริปกิน ฟินเฟ่อร์ ..เส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน (Gastronomy Tourism) ณ เมืองตราด
เมื่อวันที่ 13-15 พค.ที่ผ่านมา กองบก. Btripnews มีโอกาสร่วมเดินทางไปสำรวจเส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน ซึ่งจัดโดยททท. เป็นโครงการนำร่อง ที่จะนำไปเป็นกลยุทธในการตลาดของการท่องเที่ยวที่ปรับแผนสู่การเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ กับเรื่องราว “การกิน” อันเป็นกระแสการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการนี้ไม่ได้มุ่งเน้นแต่เฉพาะสายกินเท่านั้น แต่ยังนำเสนอเส้นทางสายวัฒนธรรมชุมชนวิถีของภูมิภาคต่างๆ แต่สิ่งที่เน้นคือ การกินในสไตล์วิถีดั้งเดิมแบบพื้นบ้าน และอาหารไทยต้นตำรับ งานนี้ไม่เรียกว่ากินฟินเฟ่อร์ ก็ผิดละ …ตามมาเลยละกันค่ะ ก่อนอื่นคงต้องบอกเล่าถึงที่มาของโครงการนี้ จะเป็นใครไม่ได้ที่จะบอกได้อย่างละเอียดชัดเจนที่สุด นั่นคือ ททท. ซึ่ง เรามีโอกาสได้สัมภาษณ์ ผอ.คมกริช ด้วงเงิน ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการบริการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่นำคณะสื่อมวลชนมาร่วมทริปนำร่องครั้งนี้ เล่าให้ฟังถึง Gastronomy Tourism ว่า “ Gastronomy ความหมายคือศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องการกิน ศิลปะในการกินอาหาร ตั้งแต่กระบวนการที่เกิดขึ้น วัตถุดิบนำมาปรุงอยู่ในพื้นถิ่น เช่นหอยพอกชุมชนก็นำมาทำอาหารเมนูแกงหอยพอกใบชะพลู ใบโกงกางก็นำมาชุบแป้งทอด ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้จากพื้นถิ่น จะต่างจาก Food Tourism ที่เป็นอาหารทั่วไป ที่ไม่ได้สนใจว่าจะมาจากพื้นถิ่นหรือไม่ จะนำเข้าหรือมาจากไหน เราจะใช้ตัวของอาหารไทย อาหารถิ่นเป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยวซึ่งมีแนวโน้มที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการจับจ่ายใช้สอยเรื่องของอาหารและเครื่องดื่ม เราทำโครงการนี้ทั่วประเทศ แต่ระยะเวลาและงบประมาณที่จำกัด จึงทำได้เส้นทางนำร่อง ภาคละ 1 พื้นที่ แต่ในข้อมูลจะมีภาคละ 2 พื้นที่ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ครั้งแรกเราไปลพบุรี เป็นตัวแทนภาคกลาง ตราดเป็นตัวแทนของภาคตะวันออก ทริปต่อไปเป็นตาก ตัวแทนภาคเหนือและถัดไปสุรินทร์ ตัวแทนภาคอีสานและสุดท้ายสตูลตัวแทนภาคใต้ ซึ่งทุกจังหวัดจะเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ถึงสี่ล้าน ก็พยายามทำเส้นทางให้เชื่อมโยงไปกับแหล่งท่องเที่ยว ไม่ใช่เรื่องกินอย่างเดียว แต่ลงไปในชุมชน ซึ่งจังหวัดตราดทราบกันดีอยู่แล้วว่า เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ใครมาก็จะไปเกาะช้าง เกาะหมาก เกาะกูด ขณะที่ของดีอยู่ในเมืองในพื้นดิน ชายฝั่ง ยังมีอีกมาก เช่นหาดทรายดำ เป็นพื้นที่ป่าโกงกางผืนใหญ่ของจังหวัด พิพิธภัณฑ์เมืองตราด ถ้านักท่องเที่ยวที่มาตราดก่อนไปเกาะต่าง ๆ ถ้าแวะแห่งแรกที่พิพิธภัณฑ์ก็จะได้ข้อมูลประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและธรรมชาติได้ครบถ้วน และ…..” (ส่วนรายละเอียดสามารถคลิกไปได้ที่ สัมภาษณ์พิเศษ ผอ.กองส่งเสริมการท่องเที่ยว ททท. โครงการนำร่อง Gastronomy Tourism เส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน เมืองตราด http://www.btripnews.net/?p=24879) เริ่มเส้นทางสายกิน …เช้าตรู่จากหน้าสำนักงานใหญ่ททท. เมื่อคนพร้อม…รถตู้พร้อม…ล้อก็เริ่มหมุนออกจากกทม. บ่ายหน้าสู่จังหวัดตราด สัปหงกกันไป… ตื่นกันไป…แวะกันไป …. จนกระทั่งเที่ยง… เราก็มาถึงใจกลางเมืองจังหวัดตราด จุดเริ่มต้นของทริป อาหารมื้อแรกเตรียมพร้อม ณ ภัตตาคารแสงฟ้า ที่เปิดมากว่า 50 ปี คุณต๊อบ–เขมพัฒน์ ตั้งบุรสุวรรณ ผู้จัดการร้านบอกลูกน้องลำเลียงเมนูเลื่องชื่อพร้อมเสริฟ ไม่ว่าจะเป็น ปลากะพงต้นส้ม แกงคั่วหอยหนามและ….
“หอยหนามหน้าตาเป็นไงคะ” หนึ่งในผู้ร่วมทางเอ่ยถามขึ้น คุณต๊อบ ส่งรูปให้ดูลักษณะคล้ายหอยสังข์แต่มีผิวแหลมออกมาคล้ายหนาม อ่อ… หอยที่เราเคยเห็นตามริมหาดทรายนั่นเอง รสชาติอร่อยไม่หยอกทีเดียว เรียกว่าเป็นหนึ่งในอาหารรสเลิศของที่นี่ หากสนใจลองแวะเวียนไปกัน ร้านตั้งอยู่กลางเมือง สอบถามที่ตั้งที่โทร (66-39) 511 222 ….เอ้า… กองทัพเดินด้วยท้อง หลังจากลิ้มรสอาหารมื้อแรกเรียบร้อย สถานที่แรกของการเยี่ยมเยียนคือพิพิธภัณฑสถานเมืองตราด พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด …. เรือนไม้ยกพื้นใต้ถุนสูง ลักษณะอาคารสถาปัตยกรรมอาณานิคม เดิมเป็นศาลากลางจังหวัดหลังเดิมซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 คือสิ่งที่เราเห็นอยู่ตรงหน้า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมืองตราด จัดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตคนเมืองตราด และเป็นพิพิธภัณฑสถานประจำเมือง โดยใช้อาคารศาลากลางจังหวัดหลังเดิมที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ลักษณะเป็นอาคารสถาปัตยกรรมอาณานิคม สร้างเป็นเรือนไม้ เสาปูน ยกพื้นใต้ถุนสูง หลังคาทรงปั้นหยา เมื่อปี พ.ศ.2547 อาคารถูกไฟไหม้เสียหาย เทศบาลเมืองตราดจึงจัดสรรงบประมาณให้กรมศิลปากรดำเนินการบูรณะซ่อมแซมอาคารตามรูปแบบเดิมและจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์
โดยมีห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวร แบ่งออกเป็น 6 หัวข้อ ประกอบด้วย มรดกธรรมชาติและวัฒนธรรมเมืองตราด จัดแสดงเรื่องภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมของจังหวัดตราด “ผม…รุ่งโรจน์ แสวงกาญจน์ ผู้ช่วยเจ้าพนักงานพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานเมืองตราดครับ” คุณเหน่งหรือรุ่งโรจน์ แนะนำตัว ก่อนจะเริ่มบอกเล่าเรื่องราวด้วยน้ำเสียงที่ภาคภูมิกับทุกสิ่งของเมืองตราด “เรามีสนามบินตรงมาตราด ประภาคารแหลมงอบมี 4 จุดที่น่าสนใจ มีป้ายสุดแผ่นดินตะวันออก มีสถานที่สวยงามอย่างท่าระแนะธรรมชาติสมบูรณ์ที่สุด มีเหยี่ยวแดงคอขาวที่บินโฉบเฉี่ยวจำนวนมากให้เที่ยวชม 2 สองจุดคือ ร้านอาหารคนพลัดถิ่นในช่วงกลางวัน 12-14.00 และช่วงเย็น 17.00 จะมาที่ร้านทิวธารา มีล่องเรือสำหรับคู่รักที่บ้านสลักคอก …. ที่เกาะช้างเรามีที่พักราคาตั้งแต่ 400 ถึง 170,000 เกาะกูด 400-500 จนถึง 5 แสน เกาะช้างมีเซเว่น 16 แห่ง ผับเทคอยู่บนเกาะหมด แต่บนฝั่งจะไม่มีเลยและ….. …..สำหรับชาวตราดแล้ว สิ่งที่เราระลึกถึงกันเสมอคือ สิ่งที่องค์รัชกาลที่ 5 ตรัสไว้ และถูกจารึกบางส่วนไว้ที่ฐานของอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 …. ข้าพเจ้าจะเป็นเสมือนบิดาของเจ้าเสมอตลอดไป ย่อมมีความสุขยามเจ้ามีความสุขและปลดเปลื้องความทุกข์ยามเจ้ามีภัย…. ทรงตรัสกับเราชาวตราด เราจึงมีสิทธิ เรียกท่านว่า เสด็จพ่อ”คุณเหน่ง ยกมือพนม ก่อนจะพาเราไปยังห้องถัดไป
ถัดจากนิทรรศการถาวร หัวข้อแรก มรดกธรรมชาติและวัฒนธรรมเมืองตราด ภายในพิพิธภัณฑ์ ยังมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจบันทึกไว้ ในหัวข้อถัดมา ไม่ว่าจะเป็น… ผู้คนเมืองตราด จัดแสดงกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดตราด อาทิ ไทย จีน เขมร ญวน ชอง ลำดับทางโบราณคดีและประวัติเมืองตราด จัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดตราดตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต้นสมัยประวัติศาสตร์ สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์(สมัยรัชกาลที่ 1-4)
เหตุการณ์สำคัญในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแสดงเรื่องการส่งมอบเมืองตราดคืนจากฝรั่งเศส การพระราชทานพระแสงราชศาสตราประจำเมือง และการเสด็จประพาสเมืองตราด เหตุการณ์ยุทธนาวีเกาะช้าง จัดแสดงเรื่องราวตามลำดับเหตุการณ์ยุทธนาวี โดยจำลองห้องจัดแสดงเป็นเรือรบ
ตลาดเมืองตราด จัดแสดงเรื่องราวการค้าในตลาดเก่าและสภาพปัจจุบันของตลาดเมืองตราด
คุณเหน่ง – รุ่งโรจน์ เล่าถึงเกาะกระดาดว่า “เป็นหนึ่งในเกาะของจังหวัดตราด ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ปัจจุบันที่เป็นเกาะส่วนตัวเนื่องเพราะ เวียตนามถูกฝรั่งเศสส่งมาที่เกาะกระดาด เพื่อหวังจะครอบครอง รัชกาลที่ 5 จึงทรงโปรดให้พระโอรส พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช รังวัดเกาะกระดาดทั้งเกาะและซื้อคืนจากชาวบ้าน 2000 บาทต่อโฉนด 1 ใบ 1600 ไร่ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เกาะกระดาดเป็นเกาะส่วนตัวอย่างสมบูรณ์แบบของประเทศไทย ทุกวันนี้เกาะกระดาดเป็นของนายคีรี กาญจนพาสน์ ครั้งแรกที่เวนคืนมานั้น เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชท่านสิ้น ตกเป็นของลูกชาย ลูกชายขายต่อให้อดีตมหาดเล็กหลวง ในราคา 6,000 บาท นี่คือครั้งแรกที่เกาะกระดาดตกอยู่ในมือของสามัญชน จนนายคีรีเข้ามาซื้อ เป็นเกาะที่มีกวางอยู่หลายร้อยตัว สวยมาก” .และเมื่อเข้ามาสู่อีกมุมหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ เขาเล่าต่อว่า “….. เมื่อ 30 ธันวาคม 2447 มีเสาธงปักอยู่กลางสนาม ให้คนไทยมายืนล้อมและให้เอาธงชาติไทยลง เอาธงชาติฝรั่งเศสขึ้น ตัวแทนรัฐบาลสยาม กล่าวว่า ในนามของรัฐบาลสยามขอมอบจังหวัดตราด เกาะทั้งหมดและเกาะกงให้ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสเอ่ยรับแล้วก็แยกย้ายกัน ข้าราชการไทยกลับกรุงเทพฯ เราตกเป็นของฝรั่งเศส แต่สิ่งร้ายแรงเกิดขึ้นกับทางชาวบ้าน ถูกฝรั่งเศสกระทำ ข่มขืน ปล้น สมัยก่อนเราจะไม่พูดฝรั่งเศส คนที่เป็นล่ามคือเขมร การแปลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับเขาทำให้เกิดการโกงกินและต้องเอาลูกสาวชาวบ้านไปเสนอตัว นั่นคือสิ่งที่ชาวตราดต้องทนอยู่ 2 ปี 6 เดือน 7 วัน และ…”
…..เอาเป็นว่า นี่คือคร่าวๆ ของเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก สำหรับนักท่องเที่ยวที่หากมาเยือนเมืองนี้แล้ว ก็อยากให้แวะเวียนกันเข้ามาเยี่ยมชมก่อนจะลงเรือไปตามเกาะแก่งต่างๆ หาดทรายดำ ฝนเริ่มปรอยเม็ดบางๆ ด้านหน้าพิพิธภัณฑสถานเมืองตราด …แต่ก็ไม่ทำให้คณะเปลี่ยนความตั้งใจที่จะไปสักการะศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดโยธานิมิต หรือวัดโบสถ์ พระอารามหลวงแห่งเดียวของจังหวัดตราด วัดคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรวบรวมไพร่พลที่เมืองตราดเพื่อกอบกู้กรุงศรีอยุธยาอีกด้วย ก่อนจะไปกราบศาลหลักเมืองจุดธูปขอพรเพื่อเป็นสิริมงคล
ในช่วงเย็น เราเดินทางกันต่อไปยังหาดทรายดำ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าแหลมมะขาม ป่าสงวนแห่งชาติ ถือเป็น 1 ใน 5 แห่งของโลก เดิมหาดทรายดำนี้เรียกว่า หัวสวน บริเวณท้องที่ อำเภอแหลมงอบ เป็นหาดที่ชาวมุสลิมเป็นเจ้าของและเคยตั้งสุเหร่าบริเวณหัวสวน ต่อมาได้ย้ายออกไปทำให้เป็นสถานที่ร้าง และสภาพป่าเสื่อมโทรม
จนกระทั่งมีชาวบ้านยายม่อมได้มานั่งหมกตัวและทำให้หายจากโรคอัมพฤกษ์ จึงเห็นว่าหาดทรายดำรักษาโรคได้และได้บอกต่อๆ กันไป ในภายหลังข่าวเรื่องการรักษาโรคจากการหมกทรายดำกระจายออกไป ต่อมาได้มีนักท่องเที่ยวได้ให้ความสนใจมากขึ้น เนื่องจากมีความเชื่อว่าสามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ เช่น ปวดหัวเข่า อัมพฤกษ์ อัมพาต จึงได้มีเจ้าหน้าส่งทรายดำออกไปตรวจสอบโดยกองธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ผลปรากฏว่า ทราดำแห่งนี้มีชื่อทางวิชาการว่า ไลโมไนต์ ลักษณะเป็นสีน้ำตาลแดงไปจนถึงดำ เป็นแร่ที่เกิดจากการยุบสลายของเศษเหมืองและเปลือกหอยและผสมด้วยควอตซ์ และมีสูตรทางเคมีว่า ซิลิกา หรือเป็นการผุกร่อนของเหล็กในทางการแพทย์ ไม่มีผลทางการรักษาโรค แม้จะได้รับการยืนยันแบบนั้น(ตามเอกสารท่องเที่ยว) …. แต่เราก็ยังคงเห็นนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยนเยียน ต่างทดลองที่จะนำทรายนุ่มดำขลับนั้นมาหมก มาขัดตัวกันให้เห็น โดยที่นี่จะมีน้องๆ นักเรียนมาคอยบริการให้กับนักท่องเที่ยวด้วย
…. หลังเสร็จสิ้นภารกิจหมกทราย ก็ได้เวลาของการชิมอาหารเย็น แต่ก่อนจะไปก็ต้องแวะที่ประภาคาร ที่ที่นักท่องเที่ยวต้องมาเก็บภาพกัน
ที่ร้านอาหารริมทะเลซีฟู๊ดแอนด์รีสอร์ท ร้านอาหารริมทะเลที่ขานรับแสงอาทิตย์ยามอัสดงได้อย่างงดงาม มิน่า … ลูกค้าถึงทยอยกันมาไม่ขาดสาย เพราะภายในไม่ใช่มีเพียงส่วนของโต๊ะนั่งที่กินลมชิลๆ ชมบรรยากาศไปด้วยแบบ Open Air แต่ยังมีห้องแอร์ไว้รองรับลูกค้าที่มากันเป็นหมู่คณะเอาไว้รอต้อนรับอีกด้วย อย่างไรก็ลองถามหากันดูค่ะ
ค่ำนี้… ภารกิจวันแรกหมดลง แบบเต็มอิ่ม… พักผ่อนกันต่อเพื่อวันพรุ่งที่ต้องตะลอนกันทั้งวัน สุดอเมซิ่งกับท่าระแนะ ก้าวเข้าสู่วันที่สองของเมืองตราด หลังทานอาหารเช้า เราเดินทางไปยังชุมชนบ้านท่าระแนะ เพื่อล่องเรือชมวิถีธรรมชาติและสัมผัสกับอาหารพื้นถิ่นรสเลิศที่มีที่นี่เพียงแห่งเดียว
“จิบชาร้อยรู อยู่ได้ร้อยปี” “ใบโกงกางทอด” “ชิมขนมพิมพ์ข้าวตอก” และที่ส่งกลิ่นหอมยั่วยวนกระเพาะอาหารจนน้ำลายสอ คือ”แกงคั่วหอยพอก” อืม… แต่ยังก่อนต้องไปลงเรือกันต่อ เราได้แต่มองตาปริบๆ ถึงจะทานข้าวมาแล้ว แต่กลิ่นช่าง… เสียนี่กระไร ผู้ใหญ่สายชล สุเนตร เล่าที่มาของกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเยี่ยมชมลานตะบูนท่าระแนะแห่งนี้คร่าวๆ ก่อนจะไปเล่ากันต่อขณะพาทุกคนลงเรือ ….เรือรอท่า ฝีพายพร้อม สื่อเตรียมอุปกรณ์พร้อมสรรสำหรับบันทึกงาน
ไม่ผิดหวัง … เมื่อได้เหยียบไปบนผืนดินที่อันสุดอเมซิ่งอันเกิดจากธรรมชาติที่รังสรรค์มาให้อย่างงดงาม ป่าชายเลนที่รากไม้โกงกางขนาดน้อยใหญ่แผ่กระจายพาดพันกันเป็นระยะเวลานับร้อยๆ ปี ก่อให้เกิดภาพสุดบรรยายจริงๆ ลานตะบูนท่าระแนะ ความมหัศจรรย์ของพื้นที่ดึกดำบรรพ์ที่ต้องล่องเรือผ่านเข้าไปใน 3 ป่า จึงจะได้พบบนเนื้อที่ลานกว้างหลายไร่
“…นอกจากจะได้พบกับความสวยงามของธรรมชาติแล้ว ยังมีกิจกรรมโยนโบลิ่งจากลูกตะบูน 1 เดียวในโลก คล้ายๆโบลิ่งแต่อยู่ในป่าแล้วเราก็เอาหอยพอกที่เป็นอาหารของชาวบ้าน นำมาให้นักท่องเที่ยวปลูกโดยการฝังดินไว้และเมื่อถึงฤดูวางไข่ เขาก็จะวางไข่ออกมา การเอาไปปลูกก็เหมือนปลูกต้นไม้ จะบอกว่าปล่อยก็ได้ แต่อยากให้คล้องจองว่าปลูกหอย ปล่อยพันธ์ปู และเมื่อกลับขึ้นมาที่บริเวณส่วนต้อนรับก่อนลงเรือ นักท่องเที่ยวก็จะได้ชิมอาหารจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่นใบโกงกางทอด นำมาเป็นของขบเคี้ยว มีชาร้อยรู เป็นสมุนไพรจากป่าชายเลนนำมาทำเป็นชา ทำให้มีสรรพคุณแก้โรคเก๊า กับข้าวก็แกงหอยพอกใบชะพลู ปกติหอยพอกจะเติบโตอยู่ในป่าชายเลนอยู่แล้ว ชาวบ้านจะนำไปจำหน่ายเป็นอาชีพทั่วไป กิโลละ 15 บาท มีคนมารับถึงที่ เมื่อนำไปขายตามท้องตลาด บางคนก็ขาย 40-50 บาท บางแห่งก็ทำสำเร็จโดยนำไปย่างมีสังกะสีวางบนเตาถ่านและจิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ดขายเป็นตัวกัน
ส่วนหัวสมุนไพรที่นำมาทำ ชาร้อยรู คนเฒ่าคนแก่จะบอกต่อกันมาว่า สมัยก่อนเขาจะนำหัวสดๆ ไปดองเหล้า สรรพคุณคือบำรุงหัวใจ เก๊าบวม แก้ได้ คณะกรรมการชุมชนก็บอกว่าถ้าจะเอามาดองเหล้าเพื่อเสริฟให้นักท่องเที่ยวชิมคงไม่ไหว จึงนำมาทำชากันดีกว่า แต่จะไม่ขายให้เฉพาะนักท่องเที่ยวที่เข้ามาได้ชิมที่นี่ เพราะขยายพันธุ์ยากมาก กรรมวิธีคืออะไรยังไม่รู้ว่าวิธีใดบ้าง อายุของหัวจะใช้ได้หรือไม่ เราจะดูลักษณะว่าถ้าอ่อนสีจะเขียว แต่แก่ๆ สีคล้ำ จะสามารถใช้ได้ โดย หลังจากฝานมาแล้วล้างให้สะอาดแล้วนำไปตากแห้งสัก 3- 4 แดด เราอบไม่ได้ความร้อนสูงจะทำให้สารหมด แต่แสงแดดจะประมาณ 40 องศาจะใช้ได้ ให้ทานเช้ากับทานเย็นเพราะมีรสฝาดเราจึงนำใบเตยมาใส่ ซึ่งใบเตยขับปัสสาวะ ก็จะขับสิ่งที่ไม่ต้องการออกมา กระเช้าผีมด เป็นที่อยู่ของมด เมื่อผ่าออกมาจะเป็นว่ามีรูมดอยู่จำนวนมาก”
…. หลังกลับออกมา เจ้าหน้าที่ได้พาคณะไปยังร้านอาหาร คนพลัดถิ่น ที่นี่ไม่ได้เน้นเรื่องอาหารพื้นถิ่น แต่ก็มีปลาบู่นึ่งมะนาวมาให้ชิมกัน ส่วนรสชาติอาหารถือว่าไม่เป็นรองใคร และที่สำคัญคือเป็น 1 ในจุดที่จะได้ทานอาหารไปพร้อมๆกับชมเหยี่ยวแดงคอขาว ซึ่งจะบินว่อนลงมาโฉบอาหารที่เจ้าของร้าน ได้นำมันหมูสดๆ มาให้เป็นอาหารเหยี่ยวกิน ในแต่ละวันใช้หลายสิบกิโลทีเดียว
ชุมชนรักษ์คลองบางพระ ไปต่อกันเลย สถานที่ถัดไปคือ ชุมชนรักษ์คลองบางพระ เมื่อไปถึงด้านหน้าชุมชน เราจะพบกับร้านอาหารที่คอยปรุงอาหารประจำถิ่นไว้รอท่า ไม่ว่าจะเป็นข้าวเกรียบอ่อน น้ำจิ้มปู ข้าวคลุกพริกเกลือทะเล ข้าแดงแกงไก่ หมูต้มชะมวง
ขนมบันดุ๊ก– ขนมโบราณคล้ายขนมเปียกปูน เป็นแป้งข้าวเจ้ากวน ปกติจะเป็นสีขาว แต่หากใส่ใบเตยลงไปจะกลายเป็นสีเขียวนวล ทานคู่กับน้ำเชื่อมให้รสหวานและกะทิที่ให้รสเค็มเพิ่มรสสัมผัสด้วยถั่วโรยหน้า รสชาติกลมกล่อม บันดุ๊กเป็นขนมของชาวญวน สันนิษฐานจากชื่อขนมส่วนใหญ่ของญวนจะขึ้นต้นด้วยคำว่า บั้น หรือแปลว่าขนมนั่นเอง ขนมจ้างโบราณ – หรือกี่จ่าง ทำจากข้าวเหนียวผสมน้ำด่าง เมื่อข้าวเหนียวทำปฏิกิริยากับน้ำด่างจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวล แล้วห่อใบต้นอ้อหรือใบไม้กวาดมัดด้วยตอกแทนเชือก นำไปต้มจนเนื้อสุกเหลือสวยทานคู่กับน้ำตาลอ้อยหรือราดน้ำเชื่อมทานกับน้ำแข็งคลายร้อนก็ได้
….แม่ค้าแม่ขายยิ้มแย้มด้วยอัธยาศัยไมตรี ไม่ระย่อบ่นกร่นว่าต่อคำถามมากมายที่คณะสื่อมวลชนแต่ละสื่อเฝ้าเพียรถาม เรียกว่าทานอาหารกลางวันเสร็จก็สามารถมาลิ้มชิมขนมโบราณที่นี่ต่อได้เลย สำหรับเราแล้ว แม้จะเคยไปเที่ยวตราดหลายครั้ง แต่ก็ไปตามเกาะแก่ง เมื่อได้มาเดินในชุมชนแห่งนี้ สัมผัสได้ถึงเสน่ห์ของชุมชนเล็กๆ ดูแข็งแรงด้วยการจัดการ ที่นี่เป็นแหล่งรวมของนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภทแบ็คแพ็ค จึงที่รวมของเกสท์เฮ้าส์ โฮสเทล ที่พักเล็กๆ เก๋ๆ รวมถึงงานอาร์ตที่ถูกเพ้นต์ไว้ริมกำแพง ซอยเล็กๆ บ้านเรือนอาคารไม้ วิถียังคงเดิม
โดยเฉพาะวันนี้สีสันที่เรียกเสียงฮากับคำพูดจี๊ดจ๊าดของป้าหนู เจ้าของสโลแกน “ร้อนจี๋ กะหรี่จ๋า” ซึ่งทำกะหรี่ปั๊บมาตลอดสี่สิบกว่าปี คอยต้อนรับนักท่องเที่ยว ทั้งโชว์การปั้น การใส่ไส้ การทอด แต่ขอบอกว่า ใครไปซื้ออย่าเรียกว่าป้าหนูเด็ดขาด แกจะเคือง ให้เรียกว่า พี่หนู แล้วคุณจะได้กะหรี่ปั๊บในราคาลดแลกแจกแถมกันเลยทีเดียว
บ้านใกล้เรือนเคียง ไม่ห่างกันนัก จะพบร้านทำขนมลูกชุบ ฝีมือแม่ลูกที่น่ารักฝุดๆ โชว์การทำกันหน้าร้าน พร้อมกับใส่กล่องเตรียมพร้อมสำหรับการถือกลับบ้าน
…. ครั้งหน้าเห็นทีจะไม่พลาดการได้เข้ามาพักมาฝังตัวกับวิถีชุมชนที่นี่บ้างแล้วหล่ะ … เราแอบคิด !! โอเค… หลังร่ำลา พี่ป้าน้าอาประจำซอย อิอิ ประจำชุมชน เราก็มุ่งหน้าไปทานอาหารเย็นกันต่อ เอ่อ …. คือยังไม่ทันหายอิ่มก็ต้องไปกินกันต่อ คราวนี้ไปที่ร้านทิวธารา จุดที่สองของการชมเหยี่ยว เรียกว่า มาทั้งที ต้องไม่พลาดสองจุดชมเหยี่ยวนี้แหล่ะ นั่นทำให้เราจะเห็นได้ว่า ทำไม ร้านนี้จึงมีลูกค้าเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย
ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ยัง… ยังมีเวลาเหลือ เจ้าหน้าที่พาเราไปแวะไปชมชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ชุมชน 2 ศาสนา 3 วัฒนธรรม (พุทธและมุสลิม) อยู่ร่วมกัน 50 -50 % เดิมทีประชากรของตำบลน้ำเชี่ยว เป็นคนไทยนับถือศาสนาพุทธ ต่อมามีพ่อค้าชาวจีนล่องเรือสำเภามาค้าขายสินค้าและได้ตั้งรกรากอยู่ที่นี่ทำให้ชาวน้ำเชี่ยวส่วนหนึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีนในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีชาวมุสลิมซึ่งเรียกตัวเองว่า “แขกจามหรือจำปา” อพยพหนีสงครามจากเขมร มาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณริมคลองน้ำเชี่ยว โดยชาวพุทธและมุสลิมสามารถแต่งงานข้ามศาสนาได้ ซึ่งพี่น้องทั้งสองศาสนาอาศัยอยู่ร่วมกันด้วยความสัมพันธ์อันดีตลอดมา
ส่วนที่มาของชื่อ “น้ำเชี่ยว” มาจากคลองขนาดใหญ่ ที่ไหลผ่านชุมชนซึ่งคลองนี้มีต้นกำเนิดอยู่ที่เขาวังปลา อยู่ระหว่างอำเภอแหลมงอบและอำเภอเมืองตราดเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำในคลองจะไหลเชี่ยวมาก ชาวบางจึงเรียกว่า “คลองน้ำเชี่ยว”และเป็นที่มาของชื่อตำบล สามารถดูข้อมูลต่างๆ ได้ที่เวปไซต์ เทศบาลตำบลน้ำเชี่ยว หรือ www.namchieo.go.th หรอ สำนักงานเทศบาลตำบลน้ำเชี่ยว 039- 593198-9 และที่ไม่ควรพลาดคือ สะพานวัดใจ เป็นสะพานข้ามคลองน้ำเชี่ยว หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สะพานวัดใจ” สะพานสูงกว่าระดับน้ำทะเลสูงสุด 7.5 เมตร ยาว 22 เมตร ทอดพาดผ่านคลองน้ำชี่ยวคือ สะพานที่เชื่อมระหว่างคน 2 ฝั่งด้วยเอกลักษณ์ของสะพานที่ทำขึ้นเพื่อให้เรือประมงสามารถรอดได้ เสน่ห์ที่ไม่ควรพลาดจริงๆ วันสุดท้ายของการเดินทาง สำหรับโครงการนำร่อง เส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน จ.ตราด เราปิดทริปกันที่สวนสละสมโภชน์ ที่ขึ้นชื่อเรื่องของรสชาติ บริเวณสวนหลายสิบไร่ เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชม ก่อนจะหาซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านกัน ราคาก็จะแล้วแต่ ทั้งกล่อง 5 กิโล กับแบบ ถุง 2 กิโล แต่ขอบอกรสชาติหวานเจี๊ยบ นอกจากจะชิมสละสดๆแล้ว ยังแปรรูปเป็นสละลอยแก้วแช่เย็นน้ำแข็งเกร็ดวุ้นน่าทานสุดๆ
และมื้อกลางวัน ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ ก็ต้องแวะกินกันอีก คราวนี้เป็นร้านก๋วยเตี๋ยวในตำนาน ที่พื้นถิ่นของจริง ก๋วยเตี๋ยวกั้ง ทะเล ข้าวพริกเกลือ และอีกหลาย จากลีลาการผัดข้าวและเสียงเคาะกะทะของคุณป้า ก็ดูจะบ่งบอกได้ถึงประสบการณ์อันยาวนานละ
…… สรุปทริปนี้ ถือเป็นทริปที่พร้อมสรรพจริงๆ สำหรับนักท่องเที่ยว ที่ชื่นชอบการเที่ยว ถ่ายภาพ เซลฟี่ ทั้งกับอาหารและความงดงามของธรรมชาติในแต่ละแห่งที่ได้เล่าให้ฟังกันมา …….แล้วคุณล่ะ พร้อมหรือยังที่จะไปสัมผัสและแชร์ประสบการณ์ที่สุดบรรยายของที่นี่ … เมืองตราด >>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>> เบอร์โทรที่สำคัญ สถานีตำรวจ 039 512 522 โรงพยาบาลตราด 039 511 040 ททท.จังหวัดตราด 039 597 259 สถานีโดยสาร 039 511 986 ท่าอากาศยาน 039 525 767-8 สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตราด โทร 039 523 369