บทความพิเศษ เกี่ยวกับการศึกษา โดย ดร. กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
โดยทั่วไปจุดมุ่งหมายในการจัดการศึกษาของทุกประเทศ มีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือมุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษา ให้การศึกษาที่มีคุณภาพแก่ประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ
การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นการยกระดับศักยภาพในหลายมิติควบคู่กับการขยายโอกาส ของประเทศในเวทีโลก ซึ่งการศึกษานับเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพ สามารถยกระดับการพัฒนาประเทศได้
มีผลการศึกษาวิจัย ซึ่งสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ ได้สรุปผลการวัดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยในอาเซียนและเวทีโลกไว้ โดยใช้ผลการประเมินของ 6 หน่วยงานหลัก คือ HDI / IMD / WDCR /WEF / PISA / และ QS ซึ่งสามารถบ่งชี้ถึงคุณภาพของประชาชน และแนวโน้มความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ ทั้งนี้โดยยึดเอามิติด้านการศึกษาเป็นดัชนีหลักในการประเมินผลล่าสุดเท่าที่มีข้อมูลในช่วงเวลาประมาณปี 2018 ถึง 2020ผลการประเมินมีดังต่อไปนี้
HDI (Human development Index) หรือสำนักงานโครงการเพื่อพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้จัดทำดัชนีการพัฒนามนุษย์(HDI) ชึ้น โดยดัชนีบ่งบอกถึงการพัฒนามนุษย์ใน 3 ด้านคือ 1.ด้านสุขภาพ ได้เเก่ ความคาดหมายคงชีพ 2.ด้านการศึกษา ได้แก่ ปีการศึกษาที่คาดหวัง และปีการศึกษาเฉลี่ย 3. ด้านมาตรฐานการครองชีพ ได้เเก่ รายได้ประชาชาติต่อหัว ซึ่งสามารถแบ่งการพัฒนามนุษย์ออกเป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มการพัฒนามนุษย์สูงมาก กลุ่มการพัฒนามนุษย์สูง กลุ่มการพัฒนามนุษย์ปานกลาง และกลุ่มการพัฒนามนุษย์ต่ำ ปี 2018 ประเทศไทยอยู่ในลำดับ 77 จาก 189 ประเทศทั่วโลก จัดเป็นกลุ่มการพัฒนามนุษย์ระดับสูง โดยในอาเซียนอันดับ1 ได้แก่สิงคโปร์ 2 บรูไน 3 มาเลเซีย 4 ไทย และ 5 ฟิลิปปินส์
IMD (International Institute for Management Development) สถาบันพัฒนาการจัดการนานาชาติ ศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆตามปัจจัยหลัก 4 ด้านโดยปัจจัยด้านการศึกษาเป็นปัจจัยย่อยที่อยู่ในปัจจัยหลักโครงสร้างพื้นฐาน มี 19 ตัวชี้วัด อาทิ งบประมาณด้านการศึกษาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ รายจ่ายด้านการศึกษาต่อนักเรียนรายหัว อัตราส่วนนักเรียนต่อครู ผลสัมฤทธิ์ของการอุดมศึกษา ร้อยละของผู้หญิงที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ผลการทดสอบ PISA ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ (TOEFL Scores) เป็นต้น ปี 2018 ประเทศไทยอยู่ในลำดับ 56 ของโลก สำหรับในอาเซียนอันดับ 1 ได้แก่สิงคโปร์ 2 มาเลเซีย 3 ไทย 4 อินโดนีเซีย และ 5 ฟิลิปปินส์
WDCR (IMD World Digital Competitiveness Ranking ) 2019 ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศต่างๆ 63 ประเทศ โดยใช้ดัชนีชี้วัดเป็นปัจจัยหลัก 3 ด้านคือ 1 สมรรถนะด้านความรู้ 2 สมรรถนะด้านเทคโนโลยี และ3 ด้านการเตรียมความพร้อมสู่อนาคต พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับ 40 ของโลก โดยในอาเซียน อันดับ1 ได้เเก่สิงคโปร์ 2 มาเลเซีย3 ไทย 4 ฟิลิปปินส์ และ 5 อินโดนีเซีย
WEF (World Economic Forum) รายงานดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก 4.0 ( Global Competitiveness Index 4.0 : GCI 4.0)จาก 141 ประเทศโดยดัชนีดังกล่าว เป็นตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขันที่สะท้อนความเป็น 4.0 จำแนกเป็น 4 กลุ่ม 12 เสาหลัก ด้านการศึกษาได้แก่กลุ่มทุนมนุษย์( Human Capital) เสาหลักที่ 6 ด้านทักษะ(Skill ) มี 4 กลุ่มคือ 1 กำลังแรงงานที่มีในปัจจุบัน 2 กำลังแรงงานที่มีทักษะในปัจจุบัน 3 กำลังแรงงานในอนาคต 4 ทักษะในอนาคตของกำลังแรงงาน ประเทศไทยอยู่ในลำดับ 40 ของโลก ในอาเซียนอันดับ 1คือสิงคโปร์ 2 มาเลเซีย 3 บรูไน 4 อินโดนีเซีย 5 ฟิลิปปินส์ 6ไทย
PISA ( Programmed for International Student Assessment) โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ มีการประเมินทุก 3 ปีเพื่อติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนเพื่อให้ข้อมูลในระดับนโยบาย การประเมินจะครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยแต่ละปีให้น้ำหนักการประเมินแต่ละด้านแตกต่างกัน ปีล่าสุด 2018 เน้นการรู้เรื่องการอ่านที่ร้อยละ 60 ส่วนที่เหลือเป็นน้ำหนักด้านอื่น โดย ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 60 ของโลก ในอาเซียนอันดับ 1 ได้แก่สิงคโปร์ 2 มาเลเซีย 3 บรูไน 4 ไทย และ 5อินโดนิเซีย
QS World University Rankings ( Quacquarelli Symonds หรือ QS )เป็นองค์กรที่เผยแพร่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก ในชื่อ QS World University Ranking มีการจัดอันดับเป็นประจำทุกปี โดยใช้องค์ประกอบในการพิจารณา 6 ด้านได้แก่ ความมีชื่อเสียงทางด้านวิชาการ ทัศนคติของผู้จ้างงานต่อบัณฑิต สัดส่วนจำนวนอาจารย์ต่อนักศึกษา สัดส่วนจำนวนผลงานวิจัยต่อจำนวนอาจารย์ สัดส่วนจำนวนอาจารย์ต่างชาติ และสัดส่วนจำนวนนักศึกษาต่างชาติ พบว่า 8 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของไทย ได้แก่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับ 247ของโลก อันดับ 45 ของเอเซีย 2.มหาวิทยาลัยมหิดล อันดับ 314 ของโลก อันดับ 48 ของเอเซีย 3 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันดับ601-650 ของโลก อันดับ 100 ของเอเซีย 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันดับ601-650 ของโลก อันดับ 107 ของเอเซีย
5.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อันดับ 801-1,000 ของโลก อันดับ 127 ของเอเซีย 6. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อันดับ 801-1,000 ของโลก อันดับ 146 ของเอเซีย 7.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อันดับ 801-1,000 ของโลก อันดับ 148 ของเอเซีย 8. มหาวิทยาลัยขอนแก่น อันดับ 801-1,000 ของโลก อันดับ 160 ของเอเซีย
โดย 10 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดเฉพาะในส่วนของกลุ่มประเทศอาเซียน ในการจัดอันดับของ QS World University Ranking 2020 ได้แก่ 1. National University of Singapore 2.Nanyang Technological University Singapore 3.University Malaya Malaysia 4. University Putra Malaysia 5. University kebangsaan Malaysia 6. University Sains Malaysia 7.University Technology Malaysia 8.Chulalongkorn University Thailand 9. University Indonesia 10. Mahidol University Thailand
กล่าวโดยรวม ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยอยู่ในระดับกลางๆ ของเวทีโลก และยังติดอันดับต้น ๆของอาเซียน
แต่แนวโน้มในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หลายประเทศเริ่มก้าวขึ้นมานำหน้าประเทศไทย จากเดิมสิงคโปร์เป็นอันดับ 1 ประเทศไทย อยู่ในอันดับ 2 ขณะนี้มาเลเซียได้ก้าวขึ้นมาแทนที่ อันเป็นผลมาจากการปฏิรูปและพัฒนาการศึกษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ปัจจุบันจากผลการประเมินของหลายหน่วยงานพบว่า บูรไน เริ่มเเซงหน้าประเทศไทย ขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ในหลายๆด้าน และยังมี อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์เป็นคู่เเข่งสำคัญ
จนผลการประเมินส่วนใหญ่เราตกไปอยู่ในอันดับที่ 4 ของอาเซียนแล้ว นี่จึงเป็นสัญญาณสำคัญที่ทำให้เราต้องตระหนักว่าจำเป็นต้องมีอัตราเร่งในการพัฒนาการศึกษาให้มากกว่านี้ ไม่โทษอดีตที่ผ่านมา ไม่ตำหนิความบกพร่องหรือล้มเหลว แต่จำเป็นต้องมองไปข้างหน้าและหาวิธีการปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อน ทุ่มเทพัฒนาระบบการศึกษาอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้การศึกษาไทยประสบความสำเร็จ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำและยืนอยู่ในอันดับต้นๆของโลกอีกครั้ง
Post Views: 38