Update Newsสังคมสังคม/CSRสาธารณสุข

นักวิชาการประสานเสียงหมอและนักเขียนดัง ออกโรงเตือนรัฐระวังบางมาตรการจะสร้างปัญหาใหม่

หมอดังพร้อมนักวิชาการชี้ การออกมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ในบางพื้นที่อาจทำให้เป้าหลักในการคุมการระบาดไม่ได้ผล แนะควรออกกฎหมายห้ามกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยง พร้อมให้รางวัลนำจับ 


การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดในช่วงนี้ ภาครัฐได้มีมาตรการที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละจังหวัด โดยมอบหมายให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดกำหนดนโยบายและมาตรการในการแก้ปัญหาการระบาดใน แต่ละพื้นที่ เพื่อสนองต่อสถานการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่น จังหวัดสกลนคร ได้มีมาตรการออกมาควบคุมการซื้อขายแอลกอฮอล์ ไปจนถึงกลางเดือนเมษายน ซึ่งหลายฝ่ายชี้ว่าอาจจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการแก้ปัญหาการระบาดในครั้งนี้ 

นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับมาตรการภาครัฐ ที่มีการห้ามขายแอลกอฮอล์ในช่วยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะอยากให้ประชาชนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็กังวลว่า การห้ามขายไปเลยนั้น อาจจะส่งผลให้นักดื่มที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำอยู่แล้ว อาจจะมีการเคลื่อนตัวหาซื้อแอลกอฮอล์ข้ามจังหวัดได้ 

ซึ่งสำหรับกลุ่มนักดื่มแอลกอฮอล์นั้น คาดว่าร้อยละ 90 อาจจะเป็นทั้งตัวรับและตัวแพร่เชื้อในระหว่างการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด เพื่อไปหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามความต้องการได้ 


ส่วนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ พบว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน วันละ 100 กว่าคน จึงคาดการณ์ว่าสถานการณ์การระบาดของประเทศไทย ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป จะเพิ่มจำนวนผู้ป่วยรายใหม่มากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้หลายคนมีการเดินทางกลับภูมิลำเนา จึงทำให้เชื้อโควิด-19 ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าสามารถอยู่ในตัวคนของผู้เสี่ยงโควิด-19 ได้ และก็ขึ้นอยู่ที่ว่าแต่ละคนจะมีภูมิคุ้มกันมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงการฟักตัวของเชื้อโควิด-19 ที่มีการฟักตัวของเชื้อการจะแพร่ระบาดไปสู่คนอื่น ตั้งแต่ 2-14 วัน ซึ่งคาดว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายใน 2 สัปดาห์หน้านี้ การเสียชีวิตในไทยจะเพิ่มมากขึ้นอีก 30-40 คนนี้ด้วย 


ด้านผศ. ดร.สุทธิกร กิ่งเเก้ว จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่า สาเหตุการแพร่ระบาดของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญในการระบาดครั้งนี้ คือการแพร่กระจายของผู้ติดเชื้อจากการเข้าชมการแข่งขันชกมวยไทยที่เวทีลุมพินีในวันที่ 6 มีนาคม 2563 ที่มีผู้เข้าชมกว่า 6,000 คน ซึ่งเราควรร่วมมือกัน ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก โดยหากวิเคราะห์การแพร่หรือไม่แพร่ระบาดของ โควิด-19 นี้ไม่ได้เกิดจากการที่ผู้คนในสังคมไทยจะได้ดื่มหรือไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ หากแต่เกิดจากการติดต่อกันระหว่างบุคคลในกิจกรรมทางสังคมต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมทางสังคมที่มีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก เช่น การแข่งขันกีฬา กิจกรรมทางประเพณีต่างๆ เป็นต้น” 


ผศ. ดร.สุทธิกร กล่าวอีกว่าการห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจจะไม่สามารถห้ามไม่ให้เกิดกิจกรรมเหล่านี้ได้ ภาครัฐควรจะออกกฎเพื่อห้ามการจัดกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงเหล่านี้ พร้อมทั้งใช้กลไกในท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ตำรวจ ในการเข้าไปดูแลควบคุมการจัดกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค หรือแม้กระทั่งการกำหนดค่าปรับและรางวัลนำจับให้กับประชาชนทั่วไปที่รายงานการดำเนินกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงเหล่านี้ 


“และอาจจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ข้ามจังหวัดได้ ซึ่งจะเป็นบ่อเกิดให้เกิดการแพร่กระจายของโรคเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังอาจจะผลักดันให้เกิดการกักตุนและลักลอบจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้กระทั่งการผลิตเหล้าเถื่อนในแต่ละพื้นที่เอง ซึ่งการห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ จึงอาจไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหาการแพร่กระจายของโควิด-19 แต่ควรควบคุมป้องปรามไม่ให้เกิดการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกันของคนในสังคมจนก่อให้เกิดการแพร่เชื้อในวงกว้างได้อย่างรวดเร็วในอนาคต” ผศ. ดร.สุทธิกร กล่าว 


ขณะที่นักเขียนดังและพิธีกรดังอย่าง “คำ ผกา” หรือ ลักขณา ปันวิชัย ได้โพสต์ข้อความใน ทวิตเตอร์ Kam Phaka ในเรื่องดังกล่าวว่า “(ต่อ)แขกจึงไม่เห็นด้วยกับการงดขายสุราที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ถ้าเราเปิดให้ขายอาหารเพื่อกินที่บ้านก็ควรขายได้ เพียงแต่ห้ามกินในร้าน ผับ บาร์ การห้ามเป็นการนำสุราสู่ตลาดมืดนำไปสู่การฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยไม่จำเป็น” ซึ่งเป็นการทวิตข้อความต่อทวิตก่อนหน้านั้น ที่มีข้อความว่า “ที่แคนาดาแม้จะให้งดพบปะสังสรรค์เพื่อลดการระบาดโควิด-19 แต่ร้านเหล้าและกัญชาเปิดได้เพราะผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าจะช่วยบรรเทาเครียด ลดภาระทางสาธารณะสุข เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพของคนในโปรแกรมharm reduction