Update Newsกระทรวงศึกษาธิการ

“นายกฯ -รมว.ศึกษาฯ” คิกออฟฉีดวัคซีนนักเรียน ประเดิมไฟเซอร์เข็มแรก

นายกรัฐมนตรี - รมว.ศึกษาธิการ ร่วมพิธี “Kick Off สร้างเกราะป้องกันด้วยวัคซีน เด็กปลอดภัย เรียนอุ่นใจ ต้อนรับเปิดเทอม” ประเดิมฉีดไฟเซอร์เข็มแรกให้เด็ก 12-18 ปี ทุกสังกัด

(4 ตุลาคม 2564) พลเอก ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธี “Kick Off สร้างเกราะป้องกันด้วยวัคซีน เด็กปลอดภัย เรียนอุ่นใจ ต้อนรับเปิดเทอม” เพื่อฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรกให้นักเรียนระหว่างอายุ 12-18 ปี พร้อมด้วย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.), คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศธ), นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.), นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ., นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการ รมว.ศธ., นายอนุชา บูรพชัยศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง, นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. (นางกนกวรรณ วิลาวัลย์)

ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข โดยมีโรงเรียนใน 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ เข้าร่วมผ่านโปรแกรม Zoom Cloud Meetings ณ โรงเรียนพิบูลย์อุปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร



พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้ถือเป็นวันที่น่ายินดียิ่งที่ลูกๆหลานๆ ในโรงเรียนทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี จะได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มแรก ซึ่งวัคซีนไฟเซอร์ ถือว่ามีประสิทธิภาพและได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา ก็ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปแล้ว ถ้าเราสามารถฉีดวัคซีนได้อย่างครบถ้วนทั้งหมด ทั้งครู นักเรียน บุคลากรการศึกษา ก็จะทำให้การเปิดภาคเรียนที่ 2 สามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้อย่างแน่นอน

แต่ในทุกวันนี้เรามี 3 สถานการณ์ที่น่าห่วงใย คือ 1.การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 2.ปัญหาอุทกภัย 3.ปัญหาด้านเศรษฐกิจ

ซึ่งรัฐบาลต้องแก้ปัญหาทุกอย่าง จึงอยากฝากไปถึงครูอาจารย์ นักเรียนทุกคน ให้เข้าใจว่าประเทศชาติเราจะอยู่ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นวันนี้เรามีปัญหาอะไร ก็แก้ไป ทำให้ดีที่สุด จนกว่าปัญหาทุกอย่างจะเรียบร้อย ส่วนผลกระทบด้านโควิด 19 ได้รับผลกระทบไปทั่วโลก มีสถิติการติดเชื้อ และเสียชีวิตจำนวนมาก

การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐบาลต้องรักษาระบบนี้ให้ได้ มีการปรับวิธีการเรียนการสอนหลายรูปแบบให้เหมาะสมหลายช่องทาง วันนี้ตนเห็นภาพผู้ปกครองนั่งเรียนกับลูกในกรณีที่เด็กอยู่บ้านเชื่อว่าไม่ใช่ภาระ ถ้ามีเวลาก็อยู่กับลูกกับหลานเป็นช่วงเวลาครอบครัวที่ได้อยู่ร่วมกัน แต่ต้องขอโทษถ้ามีหลายคนรู้สึกเป็นภาระ แต่วันนี้ต้องมีความใกล้ชิดกันในครอบครัวมากยิ่งขึ้น เพื่อมีภูมิต้านทานในการอยู่ในโลกใบนี้ต่อไป

ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดวันนี้คือเป็นการเตรียมพร้อมด้านการศึกษาให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างปลอดภัย เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้ปกครองในการส่งลูกหลานมาเรียน

ในวันนี้เราต้องเดินหน้าประเทศไปข้างหน้า จะเห็นว่ารัฐบาลมีการดำเนินการมาตลอดอย่างต่อเนื่อง ในช่วงก่อนที่จะจัดหาวัคซีนมาได้ ซึ่งโลกกว่าจะคิดหาวัคซีนได้ก็นานพอสมควร และต้องรอการรับรองมาตรฐานอีก ก็ช้าไปเรื่อย ๆ สถานการณ์การแพร่ระบาดเราก็ต้องดูว่าจะเป็นอย่างไร มันเป็นการคิดอย่างเป็นระบบ เช่นเดียวกับการศึกษาอยากฝากถึงนักเรียนทุกคน ให้ช่วยกันศึกษา เรียนหนังสือ แล้วคิดว่าเราจะเรียนไปทำอะไร นั่นแหละคำตอบ คืออนาคตของท่านเองว่าวันข้างหน้าท่านจะมีงานทำไหม ในอนาคตจะสามารถเลี้ยงดูพ่อแม่ ญาติพี่น้องหรือครอบครัวได้ไหม

เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็สร้างงานรอไว้ข้างหน้า ไม่ว่าจะการลงทุน EEC การลงทุนในเศรษฐกิจใหม่ การลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ อีกหลายอย่างด้วยกัน

“ฝากทุกคนให้ความสนใจเรื่องเหล่านี้มากกกว่าเรื่องอื่น ๆ ว่าเราจะเรียนหนังสือไปเพื่ออะไร ไม่ใช่เรียนเพื่อให้มันจบ แต่ไม่ได้มุ่งหวังว่าจะมีงานทำหรือเปล่า การจะหางานไม่ใช่เรื่องง่ายนักในโลกปัจจุบัน ถ้าเราไม่เตรียมความพร้อมตัวเอง ทั้งความคิด หลักการต่าง ๆ มันมีปัญหามากแน่นอน

ก็ขอให้ทุกคนสนใจการเรียนให้มากที่สุด สนใจสถาบันครอบครัว พ่อแม่ ญาติ พี่น้อง เพราะประเทศไทย เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ รวมถึงเรื่องประวัติศาสตร์ ศีลธรรม และสิ่งสำคัญสุดคือวินัยที่ต้องมีทุกคน ถ้าเราไม่มีวินัย ก็จะหย่อนยานสะเปะสะปะไปเรื่อย อยากทำอะไรก็ทำ ซึ่งบางครั้งมันก็รบกวนสมาธิคนอื่น คนเราต้องมีวินัย เพราะวินัยและกฎหมายจะทำให้ประเทศนี้อยู่รอด เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วต่อไป”

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษา ตามที่ได้มีการเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2564 เป็นวันที่ 14 มิถุนายน รวมถึงการนำ 5 รูปแบบการศึกษามาใช้อย่างยืดหยุ่นภายใต้หลักความปลอดภัย เพื่อให้ผู้เรียนไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้ เรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง



โดยได้มีการจัดหาวัคซีนครู เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ครู และบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถกลับมาปฏิบัติการในสถานศึกษาได้ เช่นเดียวกับการเยียวผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องค่าครองชีพ รัฐบาลจึงได้มีโครงการเยียวยานักเรียนคนละ 2,000 บาท ให้แก่ผู้ปกครองเพื่อแบ่งเบาภาระการใช้จ่ายด้านการศึกษา ในส่วนของผู้เรียนซึ่งเป็นหัวใจหลักในการจัดการเรียนรู้ รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน ด้วยการจัดให้ผู้เรียนสามารถกลับเข้าสู่ห้องเรียนเช่นเดียวกับสถานการณ์ปกติโดยเร็วที่สุด



ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ดำเนินโครงการ Sandbox Safety Zone in School (SSS) ในพื้นที่โรงเรียนประจำที่มีความพร้อม และสมัครใจที่จะเปิดภาคเรียนแบบผสมผสาน ทั้งการเรียนในห้องเรียน ควบคู่ไปกับการเรียนในระบบออนไลน์ พร้อมกันนี้ได้เร่งรัดให้มีการนำวัคซีนมาฉีดให้กับนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี ทั่วประเทศ จำนวนกว่า 5 ล้านคน

โดยผู้ปกครองตอบรับยินยอมให้ฉีดวัคซีนแล้วร้อยละ 80 ครอบคลุมทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชน กลุ่มอาชีวศึกษา โรงเรียนสังกัดอื่นทุกสังกัด ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป เพื่อให้นักเรียนมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น และสามารถเปิดภาคเรียนใหม่ได้อย่างมั่นใจควบคู่กับมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด









ในการนี้ นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้ทักทายนักเรียนโรงเรียนพิบูลย์อุปถัมภ์ และนักเรียนในโรงเรียน 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ พร้อมถามถึงอาชีพในอนาคตที่ฝันอยากจะเป็น และกล่าวแนะนำว่าต้องมีความพยายาม รวมทั้งอดทนที่จะก้าวไปถึงอาชีพที่มุ่งหมาย เพื่อเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพในการพัฒนา นำพาประเทศไปสู่การแข่งขันได้อย่างดีเยี่ยมในอนาคตอันใกล้

สำหรับโรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ มีนักเรียนที่แสดงความจำนงขอรับวัคซีน จำนวน 695 คนโดยเข้ารับการฉีดวัคซีนในวันที่ 4 ตุลาคมนี้ จำนวน 200 คน



อานนท์ วิชานนท์ / สรุป
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ภาพ