“นีโอ” จัดงาน EdTeX 2017 โชว์นวัตกรรมเปิดโลกทัศน์ใหม่วงการการศึกษาสำหรับเด็กยุค Gen Z
มาดูความคิดเห็น เด็กไทยอยากเรียนอย่างไร คุณครูเข้ามาฟังถึงกับเงิบ หากคุณเป็นคุณครู แล้วอยากรู้ว่าลูกศิษย์ที่อยู่ในเจเนอเรชั่น Z (คนที่เกิด พ.ศ. 2540 ขึ้นไป) อยากเรียนอย่างไร คำตอบที่เด็กเจนนี้จะตอบกลับมานั้น อาจทำให้คุณหงายเงิบได้โดยง่าย “คุณครูสวมแว่นตา VR แล้วเข้าไปดูรูปแบบการเรียน ที่ผมอยากเรียนได้เลยครับ ผมรวบรวมไว้ในนั้นหมดแล้ว” นี่อาจเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ฟังดูแล้วช่างตลกร้ายเท่านั้น แต่มันก็เป็นตลกร้ายที่เป็นเรื่องจริง ในอนาคตอันใกล้ (มากๆ) เทคโนโลยีการสื่อสาร มนุษย์ การศึกษา และระบบการเรียนการสอน จะเกี่ยวพันกันจนแยกไม่ออก เด็กเจน z จะเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่พวกเขา ทำให้พวกเขามีความสามารถในการเรียนรู้และใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว คุณครูที่อยู่ในยุคใช้แท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนอย่างเราๆ ท่านๆ อาจต้องเรียนรู้สิ่งที่อยู่ในยุคสมัยของพวกเขาให้ทัน และอยู่ในโลกของพวกเขาให้เป็น โลกแห่งการเรียนรู้ของพวกเขา จะกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่าเราจะจินตนาการได้ถึง มันไม่มีที่สิ้นสุด มันไม่มีพรมแดนขีดกั้น ไม่มีกำแพงกั้นขวาง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ทำลายการเรียนรู้ที่อยู่แค่ในตำราเรียนและในห้องเรียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งมันจะได้รับการพัฒนาให้ตื่นตาตื่นใจ เพื่อเร้าอารมณ์เด็กให้อยากเรียนรู้มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีจะทำให้เด็กฉลาดขึ้น รอบรู้มากยิ่งขึ้น เก่งขึ้น และเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ณ ขณะเดียวกัน ครูก็ต้องเคารพในสิ่งที่พวกเขาคิด พูด และกระทำ เมื่อนักเรียนกล้าถกเถียง เพราะเขาเตรียมข้อมูลมาอย่างดีเพื่อทำการถกเถียง ครูก็ต้องเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ถกเถียง ไม่มองว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นไม่ดี ก้าวร้าว หรือไม่เคารพครู และเมื่อเขาถกเถียงด้วยข้อมูลและเหตุผลแล้วชนะ เราต้องไม่รู้สึกว่าเสียหน้า แต่ให้มองว่านี่คือความสำเร็จในการเรียนรู้ของนักเรียนอีกขั้นหนึ่ง ครูต้องให้อำนาจแก่เด็กนักเรียนได้แสดงออกในสิ่งที่พวกเขาคิด เป็นเด็กเจน Z ที่คิด แล้วต้องกล้าแสดงออกมา แม้ว่าเด็กในยุคก่อนหน้านี้จะได้รับการปลูกฝังให้มีความคิดสร้างสรรค์ และกล้าแสดงออก ไม่ต่างจากเด็กเจน Z แต่เวทีแห่งการแสดงออกก็มีไม่เท่า การให้อำนาจจากครูหรือผู้ใหญ่กว่าก็มีไม่เท่า แถมเทคโนโลยีการสื่อสารที่เอื้อให้เด็กนักเรียนได้แสดงออกในสิ่งที่คิด ก็มีไม่เท่า ดังนั้น ยิ่งครูให้อำนาจแก่เด็กเจน Z ได้แสดงออกในสิ่งที่พวกเขาคิดมากเท่าไร โลกจะพัฒนาไปไกลมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ในอนาคต ครูจะสอนน้อยลง แต่ตั้งคำถามเพื่อให้นักเรียนค้นหาคำตอบมากขึ้น หรือไม่ก็ไม่สอนเลย แต่ตั้งคำถามเพียงอย่างเดียว บางทีก็มีโจทย์ใหม่ๆ มาให้นักเรียนกล้าคิดกล้าทำ ถูกผิดช่างมัน ด้วยรูปแบบการเรียนแบบนี้ จะทำให้การเรียนที่คอยแต่นั่งฟัง คอยแต่เชื่อเพียงคำตอบเดียว เปลี่ยนเป็นโลกนี้มีคำตอบต่อหนึ่งคำถามตั้งมากมาย ซึ่งคำตอบมันอยู่ที่ตรงไหน ก็อยู่ที่ครูไม่ปิดกั้นคำตอบ แต่เปิดโอกาสให้เด็กค้นหาคำตอบด้วยตัวของเขาเอง ทดลองคำตอบว่าจริงหรือไม่ ใช่หรือมั่ว ด้วยตัวของเขาเอง ในเว็บไซต์ tes.com ได้เผยถึงเทรนด์ของ Education Technology (EdTech) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2017 นี้อย่างแน่นอน นั่นก็คือ เด็กนักเรียนจะได้เรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน และการสอบ ก็จะเป็นการสอบแบบเรียลไทม์ หมายความว่า เรียนวันนี้ สอบวันนี้ผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้เลย อีกทั้งระบบการสอบในโทรศัพท์ จะคำนวณผลสอบพร้อมเฉลยคำตอบไปในตัวในเวลานั้นเลยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังจะมีระบบตรวจสอบแผนการเรียนและประเมินผลการเรียนของเด็กแต่ละคนว่าเป็นอย่างไรผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน โดยผลลัพธ์ของแผนการเรียนและผลการเรียนของเด็กนักเรียนจะออกมาในรูปแบบของสถิติ ที่จะช่วยทำให้ครูผู้สอนได้รู้ว่าเด็กแต่ละคนมีพฤติกรรมการเรียนเป็นอย่างไร ผลลัพธ์ของการเรียนดีหรือแย่ลง รวมทั้งจะต้องแก้ไขหรือดำเนินการกับเด็กแต่ละคนอย่างไร เพื่อไม่ให้สายเกินแก้ และเพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้แก่ครูผู้สอน บริษัท เอ็น.ซี.ซี.เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด หรือ “นีโอ” จัดงาน EdTeX 2017 ขึ้น ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2560 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ด้วยความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกรุงเทพมหานคร นำเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ มาจัดแสดงให้คุณครู และผู้บริหารสถานศึกษาได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ในการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาปรับใช้ในการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ และเป็นการเสริมพลังครูไทย สามารถสร้างสรรค์รูปการณ์เรียนการสอนในยุค 4.0 นี้ได้ และไม่ “เงิบ” อีกต่อไป