Update Newsแรงงาน

บิ๋กอู๋ ติวเข้มเจ้าหน้าที่ เปิดจัดทำทะเบียนประวัติต่างด้าว ระยะ 2 ดีเดย์ ! 23 เมษายน นี้

เมื่อวันที่19 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมจอมพล ป. พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงานพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมชี้แจงการดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติ ตรวจลงตรา (วีซ่า) และอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา หลังวันที่ 31 มีนาคม 2561 โดยมี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงานของกัมพูชา และเมียนมา หัวหน้าศูนย์ปรับสถานภาพแรงงาน สปป.ลาว และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร กระทรวงแรงงาน ร่วมประชุม


  

  

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 เห็นชอบให้ปรับเพิ่มระยะเวลาการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตรวจลงตรา ประทับตราให้อยู่ในราชอาณาจักร ขออนุญาตทำงานและจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติให้แรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา โดยผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ แต่ได้ยื่นเรื่องขอจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติกับกรมการจัดหางานในศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 (สจก. 1-10) หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด (สจจ.) และยื่นเอกสารผ่านระบบออนไลน์ทางเว็บไซต์กรมการจัดหางาน www.doe.go.th ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ให้สามารถอยู่ในประเทศไทยได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561 เพื่อทำการปรับปรุงทะเบียนประวัติ พิสูจน์สัญชาติ ขอรับตรวจลงตราและประทับตราให้อยู่ในประเทศได้นั้น 

ปรากฏว่ามีจำนวนแรงงานต่างด้าวตามมติดังกล่าวจำนวนทั้งสิ้น 479,299 คน แบ่งเป็น 1. กลุ่มพิสูจน์สัญชาติแล้ว จำนวน 300,072 คน เป็นกรุงเทพฯ 120,692 คน ต่างจังหวัด 179,380 คน 2. กลุ่มยังไม่พิสูจน์สัญชาติ จำนวน 179,227 คน เป็นกรุงเทพฯ 37,319 คน ต่างจังหวัด 141,908 คน และเพื่อให้การจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติ ตรวจลงตรา และอนุญาตทำงานแล้วเสร็จตามกำหนดภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 กระทรวงแรงงานได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อการจัดทำทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน ขึ้น โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นที่ปรึกษา ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นผู้อำนวยการศูนย์ และอธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นเลขานุการ และจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ในกรุงเทพมหานคร 4 แห่ง และในต่างจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง รวมเป็น 80 แห่ง


สำหรับการดำเนินการของแรงงานต่างด้าวคือ 1. กลุ่มพิสูจน์สัญชาติแล้ว จำนวน 300,072 คน แบ่งเป็น 1) กลุ่มที่ดำเนินการไม่ครบทุกขั้นตอนของศูนย์ OSS จำนวน 127,429 คน โดยได้ตรวจลงตรา และขออนุญาตทำงานแล้ว ให้ไปดำเนินการปรับปรุง/จัดทำทะเบียนประวัติ ผลิตบัตรประจำตัวและใบอนุญาตทำงาน (บัตรสีชมพู)

 2) กลุ่มที่ยื่นเอกสารผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 140,770 คน และยื่นเอกสารหลักฐาน ณ ศูนย์ OSS /สจก. 1-10 และ สจจ. จำนวน 31,873 คน (172,643 คน) ให้ไปตรวจสุขภาพให้แล้วเสร็จ และนำใบรับรองแพทย์หรือหลักฐานใบนัดมาดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติ ตรวจลงตรา ผลิตบัตรประจำตัวและใบอนุญาตทำงาน (บัตรสีชมพู) ภายในศูนย์ OSS 2. กลุ่มยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ จำนวน 179,227 คน ได้แก่แรงงานบัตรสีชมพูหรือกลุ่มใบจับคู่ แบ่งเป็น 1) กลุ่มดำเนินการครบทุกขั้นตอน ได้บัตรชมพูอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561 แล้ว จำนวน 121,210 คน แบ่งเป็น 2) กลุ่มที่ยื่นเอกสารผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 49,286 คน และกลุ่มที่ยื่นเอกสารหลักฐาน ณ ศูนย์ OSS /สจก. 1-10 และ สจจ. จำนวน 8,731 คน (58,017 คน) กลุ่มนี้ให้ไปดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ได้หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางก่อน แล้วจึงมาดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติ ตรวจลงตรา ผลิตบัตรประจำตัวและใบอนุญาตทำงาน (บัตรสีชมพู) ภายในศูนย์ OSS 


เอกสารที่ใช้คือ 1. แรงงานต่างด้าวพิสูจน์สัญชาติแล้ว แบ่งเป็น 1) กลุ่มที่ดำเนินการไม่ครบตามขั้นตอนของ OSS จำนวน 127,429 คน เอกสารหลักฐานที่ใช้ ได้แก่ แบบทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าว (ทบ.1) และแบบคำขอจดทะเบียนและขอมีบัตรประจำตัว ขอตรวจลงตรา การประทับตราอนุญาต/ ขออยู่ต่อในราชอาณาจักร และการขออนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว (ทต.1) หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง (PP/CI/TD) พร้อมสำเนา ใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จรับเงิน เอกสารของนายจ้าง ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายจ้าง/สำเนาทะเบียนบ้านของนายจ้าง/สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท เป็นต้น 

2) กลุ่มที่ยื่นผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 140,770 คน เอกสารที่ใช้ได้แก่ แบบ ทบ.1 และ แบบ ทต.1 หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง (PP/CI/TD) พร้อมสำเนา สำเนาใบอนุญาตทำงานหรือใบแทนอนุญาตทำงานที่หมดอายุวันที่ 31 มีนาคม 2561 หรือวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ใบรับรองแพทย์ เอกสารของนายจ้าง ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายจ้าง/สำเนาทะเบียนบ้านของนายจ้าง/ สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท เป็นต้น 

3) กลุ่มที่ยื่นเอกสาร ณ ศูนย์ OSS/ สจก. 1-10 /สจจ. จำนวน 31,873 คน เอกสารที่ใช้ ได้แก่ แบบ ทบ.1 และ แบบ ทต.1 หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง (PP/CI/TD) พร้อมสำเนา สำเนาใบอนุญาตทำงานหรือใบแทนใบอนุญาตทำงานที่หมดอายุวันที่ 31 มีนาคม 2561 หรือ 30 มิถุนายน 2561 ใบรับรองแพทย์ เอกสารของนายจ้าง ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายจ้าง/ สำเนาทะเบียนบ้านของนายจ้าง/ สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท เป็นต้น 

มีค่าใช้จ่ายในการจัดทำทะเบียนประวัติฯ ณ ศูนย์ OSS จำนวน 6,180 บาท แบ่งเป็น 1. ค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท และค่าประกันสุขภาพ 3,200 บาท (กระทรวงสาธารณสุข)2. ค่าธรรมเนียมตรวจลงตรา 500 บาท (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) 3. ค่าคำขออนุญาตทำงาน 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน 2 ปี 1,800 บาท รวม 1,900 บาท (กรมการจัดหางาน) 4. ค่าธรรมเนียมการขอมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่สัญชาติไทย 80 บาท (กรมการปกครอง)
 

  

  

รมว.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขั้นตอนดำเนินการในศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ประกอบด้วย (1) กรมการปกครอง ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลลงระบบ เก็บอัตลักษณ์บุคคล (พิมพ์ลายนิ้วมือ/ ถ่ายรูป) จัดทำ/ ปรับปรุงทะเบียนประวัติ/ เก็บค่าธรรมเนียม จนท.ลงชื่อในแบบ ทต.1 ในส่วนกรมการปกครอง ผลิตบัตรประจำตัวฯ (บัตรสีชมพู) (2) กรมการจัดหางาน ตรวจเอกสาร พร้อมตรวจแบบทบ.1/ตท.1 พิจารณาอนุญาตทำงาน/ เก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน จนท. ลงชื่อในแบบ ทต.1 ในส่วนกรมการจัดหางาน (3) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตรวจลงตรา (Visa) ประทับตราให้อยู่ในราชอาณาจักร เก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา จนท.ลงชื่อในแบบ ทต.1 ในส่วนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 

ทั้งนี้ ศูนย์ OSS ในกรุงเทพมหานครมี 4 ศูนย์คือ 1. กระทรวงแรงงาน 2. ห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี 3. รพ.สิรินธร อ่อนนุช 90 4. สำเพ็ง 2 โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน – 30 มิถุนายน 2561 สอบถามข้อมูลได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506