Update Newsเศรษฐกิจ

ปณท.จับมือ ม.ศิลปากร พลิกโฉมโอทอปทั่วไทย เติมดีไซน์เพิ่มมูลค่าจากไอเดียนักออกแบบรุ่นใหม่

ที่ ห้องนริศรานุวัดติวงศ์ ชั้น 4 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตตลิ่งชัน เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด(ปณท) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร ลงนามความร่วมมือด้านการออกแบบสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับสินค้าชุมชนจากการดำเนินงาน “ไปรษณีย์เพิ่มสุข” ภายใต้โครงการไปรษณีย์ไทย...เพื่อแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านการออกแบบ พัฒนาดีไซน์สินค้าชุมชน ที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น เริ่มนำร่อง 6 พื้นที่ชุมชนทั่วประเทศ อาทิ ผ้าทอพื้นเมือง เกาะยอ จ.สงขลา เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน จ.นครราชสีมา ไข่เค็มไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น  

     นายมานพ ศรวิบูลย์ศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการนครหลวง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทย มีนโยบายในการทำงานเพื่อชุมชน โดยใช้ศักยภาพเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ เชื่อมโยงภาคีเครือข่ายด้านต่างๆ ร่วมทำงานกับชุมชนท้องถิ่น เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการและเศรษฐกิจชุมชนภายใต้การดำเนินงาน “ไปรษณีย์เพิ่มสุข” ซึ่งมีการดำเนินงานกว่า 14 พื้นที่ทั่วประเทศ
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ไปรษณีย์ไทย เล็งเห็นโอกาสในการส่งเสริมและยกระดับสินค้า/ผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านการออกแบบ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าชุมชน จึงเป็นที่มาของการประสานความร่วมมือระหว่างบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในการลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชน/ผู้ประกอบการท้องถิ่น และใช้ผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็นโจทย์ให้กับนักศึกษา ในการออกแบบและพัฒนารูปลักษณ์สินค้า บรรจุภัณฑ์ ตราผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการตกแต่งภูมิทัศน์และการออกแบบภายใน ซึ่งถือเป็น    การทำงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สถาบันศึกษา กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ และชาวบ้าน ผู้ประกอบการท้องถิ่นเป็นต้น โดยมีไปรษณีย์ไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน
     นายมานพ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าวได้เริ่มนำร่องใน 6พื้นที่ชุมชนทั่วประเทศ ได้แก่ 1) กลุ่มชุมชนวิสาหกิจชุมชนชารางแดง เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี กับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ชารางแดง ภายใต้แบรนด์“ชารากุล” 2) ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ซึ่งจะเป็นการสร้างแบรนด์และตราสินค้า “ภูมิสิริ” ให้กับผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาชาววัง 3) กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา ด้วยการสร้างสรรค์รูปแบบเครื่องปั้นดินเผาบ้านด่านเกวียนให้มีความทันสมัย 4) กลุ่มจักสานกระจูดศุภนิมิต อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นการตกแต่งภูมิทัศน์โดยรอบและออกแบบตกแต่งภายในศูนย์การเรียนรู้ชุมชน 5) กลุ่มไข่เค็ม อสม. อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ออกแบบบรรจุภัณฑ์รวมไปถึงการสร้างแบรนด์และตราสินค้า และ 6) กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าทอเกาะยอ จังหวัดสงขลา ซึ่งจะเป็นการออกแบบและพัฒนาเครื่องแต่งกายที่ทันสมัยจากผ้าทอ ให้สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทย มีแผนจะต่อยอดโครงการดังกล่าวไปยังพื้นที่ชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยจะพิจารณาจากความพร้อม และความต้องการของชาวบ้าน ผู้ประกอบการในชุมชน ประกอบกับโอกาสในการพัฒนาด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
          ด้าน ผศ.ดร.วันชัย สุทธะนันท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยคณะมัณฑนศิลป์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ รวมถึงการยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยงานดีไซน์  มีการสนับสนุนให้นักศึกษาได้เข้าไปทำงานกับชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเรียนรู้โดยใช้โจทย์จากของชุมชนเป็นฐาน (Problem-based Learning) เพื่อนำไปวิเคราะห์หารูปแบบการดีไซน์เพิ่มมูลค่าให้สินค้าชุมชนที่เหมาะสม รวมไปถึงการลงพื้นที่จริงร่วมกับคณะทำงานชุมชนที่สำคัญของไปรษณีย์ไทย เพื่อรับฟังปัญหา และนำเสนอผลงานแก่ชุมชน ซึ่งมหาวิทยาลัยก็หวังเป็นอย่ายิ่งว่านักศึกษาจะสามารถใช้องค์ความรู้ในวิชาการออกแบบสร้างสรรค์ พลิกฟื้นสินค้าชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นให้มีมูลค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้นได้ และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้ชุมชนต่อไป