กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สังคมสังคม/CSR

ปลัด พม. ลงนาม MOU หนุนเครือข่าย นำร่อง 5 จว. ช่วยกลุ่มคนชายขอบเข้าถึงบริการสาธารณะ พร้อมรับมือกับสภาวะโลกร้อน

วันที่ 6 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00 น. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อหนุนเสริมกลุ่มคนชายขอบให้เข้าถึงบริการสาธารณะและรับมือกับสภาวะโลกร้อน ระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มูลนิธิแอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) และมูลนิธิชุมชนไท (มชท.) พร้อมทั้งลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือฯ ร่วมกับ 1) นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) 2) ดร.นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) 3) คุณรุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการโครงการและนโยบาย มูลนิธิแอคชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) 4) นายประยงค์ ดอกลำใย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และ 5) คุณไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาหัวข้อ “ความท้าทาย เป้าหมาย และรูปธรรมความร่วมมือหนุนเสริมกลุ่มคนชายขอบให้เข้าถึงบริการสาธารณะ” โดยผู้แทนจาก 6 หน่วยงานที่ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. สะพานขาว กรุงเทพฯ

 


นายอนุกูล กล่าวว่า พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อหนุนเสริมกลุ่มคนชายขอบให้เข้าถึงบริการสาธารณะและรับมือกับสภาวะโลกร้อน เป็นความร่วมมือภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อหนุนเสริมกลุ่มคนชายขอบให้เข้าถึงบริการสาธารณะและรับมือกับสภาวะโลกร้อน (Building capacity of civil society organizations on supporting marginalized populations to access public services and respond to global warming)

ซึ่งเป็นโครงการที่ภาคีภาคประชาสังคมได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (European Union) เพื่อดำเนินงานระหว่างเดือนมกราคม 2567 – ธันวาคม 2570 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความสามารถขององค์กรภาคประชาสังคมและกลุ่มคนชายขอบในด้านนโยบายและการเข้าถึงสิทธิของตน รวมถึงสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกับภาครัฐ องค์กรท้องถิ่น และเครือข่ายประชาชน ในการออกแบบนโยบายที่ไม่แบ่งแยกกีดกัน (Inclusive) และสามารถแก้ปัญหาความยากจน ความไม่เท่าเทียม และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง ชาติพันธุ์ชาวเลในพื้นที่จังหวัดสตูล คนไทยพลัดถิ่นจังหวัดระนอง เกษตรกรรายย่อยในจังหวัดพังงา กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และคนจนเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

นายอนุกูล กล่าวว่า สำหรับขอบเขตการดำเนินงานความร่วมมือครั้งนี้ กระทรวง พม. จะจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนเพื่อดำเนินโครงการในระดับพื้นที่ การติดตามประเมินผล และการถอดบทเรียนการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่าย สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการประสานชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มชาติพันธุ์ได้เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ์ บูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและกลุ่มชาติพันธุ์ทุกมิติแบบองค์รวมให้ครอบคลุม สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งสนับสนุนองค์ความรู้ เนื้อหาหลักสูตร และวิทยากรในการฝึกอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่กลุ่มเปราะบางและกลุ่มชาติพันธุ์ และส่งเสริมนวัตกรรมทางสังคมที่เป็นการเตรียมความพร้อมและปรับตัวของกลุ่มเปราะบางและกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change)

โดยมีคณะทำงานหลักที่ประกอบไปด้วยมูลนิธิแอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) มูลนิธิชุมชนไท และมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ โดยทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมท้องถิ่นอื่น ๆ เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงองค์การมหาชนที่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ที่ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจฯ

นางสาวรุ่งทิพย์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของบันทึกความเข้าใจฯ ว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ แต่ประโยชน์จากการพัฒนาไม่ได้กระจายอย่างทั่วถึง ทำให้ประชากรกลุ่มที่อยู่สุดชายขอบของสังคมไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น เกษตรกรรายย่อย และกลุ่มชาติพันธุ์ ยังคงเผชิญความท้าทายจากความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และข้อจำกัด ในการเข้าถึงบริการสาธารณะที่พึงได้รับ ไม่ว่าจะเป็นบริการสุขภาพ สวัสดิการและการคุ้มครองทางสังคม

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายด้านผลกระทบโดยตรงจากภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทางสหภาพยุโรปและภาคประชาสังคม จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนชายขอบ บรรเทาผลกระทบจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) หลายเป้าหมาย


ทั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการยืนยันว่าทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมือในการส่งเสริมการจัดกิจกรรมด้านวิชาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเปราะบางและกลุ่มชาติพันธุ์ สนับสนุนการสร้างกลไก ช่องทางรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ และเครือข่ายความร่วมมือไปสู่การทำงานร่วมกันของภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เพื่อออกแบบนโยบายที่เป็นธรรมทางสังคมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย โดยมีจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระนอง สตูล พังงา และกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่นำร่อง

#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #MOU #พัฒนาชีวิตกลุ่มคนชายขอบ