Update Newsไลฟ์สไตล์

ปีหน้า ‘คนแก่’ จะมีมากกว่า ‘เด็ก’ และอีก 3 ปีไทยจะเป็น “สังคมสูงวัยใช่เลย”

         ในอดีตโครงสร้างอายุของประชากรไทย มีรูปทรงเหมือน “พีระมิด” คนอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนเพียง 5% ทำให้ยอดพีระมิดแหลม เพราะสมัยนั้น อายุเฉลี่ยคนไทย ยังไม่ยืนยาวนัก รองลงมาคือ ระดับอายุ 15-59 ปี มีสัดส่วน 50% และคนบนฐานรากพีระมิด อายุต่ำกว่า 15 ปี มีสัดส่วน 45% เหตุผลที่โครงสร้างมีฐานกว้าง เพราะยุคนั้น เด็กเกิดมาก ผู้หญิงไทยมีลูกเฉลี่ย 5 คน มีเด็กเกิดปีละกว่าล้านคน
            เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ครอบครัวไทยมีจำนวนสมาชิกเฉลี่ย 5 คน แต่เวลาผ่านไป เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อย่างมีนัยยะสำคัญ 2 ประการคือ 1. เด็กเกิดแต่ละปีลดจำนวนลงอย่างมาก และ 2. คนไทยมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น
            50 ปีก่อนหน้า ผู้หญิงไทย 1 คน มีลูกเฉลี่ย 6 คน แต่ยุคอินเทอร์เน็ตนี้ ผู้หญิงไทยมีลูกเฉลี่ยเพียง 1.6 คน            “ตอนนี้หลายประเทศในเอเชีย มีลูกไม่ถึง 2 คน ซึ่งต่ำมาก ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ไต้หวัน และไทย หลายประเทศเหมือนกันหมด” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว
 ประชากรรุ่นเกิดล้าน
            ถ้าย้อนกลับไป ในช่วงปีพ.ศ.2506-2526 ประวัติศาสตร์ชาติไทย เคยมีเด็กเกิดมากกว่าล้านคน โดยในปี 2514 มีเด็กเกิด 1,221,228 คน เรียกว่า “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” แต่พอเข้าสู่ปี 2560 มีเด็กเกิดเพียง 702,755 คน หายไปเกือบครึ่ง
            ในทางกลับกัน 50 ปีที่แล้ว คนไทยเคยมีอายุคาดเฉลี่ย 60 ปี แต่ตอนนี้ คนไทยเมื่อเกิดมาแล้ว คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้เฉลี่ย 75 ปี โดยปี 2560 ที่ผ่านมา ผู้ชายจะมีอายุเฉลี่ย 72 ปี ผู้หญิง 79 ปี และ พ.ศ.2593 จะมีอายุคาดเฉลี่ย 80 ปี ทำให้พีระมิดประชากรไทยเปลี่ยนรูปไปอย่างมาก เมื่อผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวขึ้น ทำให้ส่วนยอดพีระมิดป้าน และมีฐานพีระมิดแคบลง เพราะเด็กเกิดน้อย
             ปี 2560 ประเทศไทยมีประชากร 66 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 17% หรือ 11.4 ล้านคน วัยแรงงาน ช่วงอายุ 15-59 ปี 65.7% หรือ 43 ล้านคน และ เด็ก อายุต่ำกว่า 15 ปี 17.8% หรือ 11.7 ล้านคน
            การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร มีผลทำให้ขนาดครอบครัวไทยเล็กลง จากเดิมที่เคยมีสมาชิกในครอบครัว 5 คน ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 3 คน โดยแบ่งแยกย่อยได้เป็น 1. พ่อแม่ลูก อาศัยอยู่ด้วยกัน 2. พ่อกับแม่อยู่ด้วยกัน ไม่มีลูก 3. ปู่กับย่า หรือตากับยาย อาศัยอยู่ด้วยกัน 4. ปู่/ย่า/ตา/ยาย อาศัยเพียงลำพัง 5. ลูกแยกไปอยู่คนเดียว โสด 6. ปู่/ย่า/ตา/ยาย คนใดคนหนึ่งอยู่กับหลาน และ 7. พี่น้องอาศัยอยู่ด้วยกัน 2 คน ไม่มีพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย
ผู้สูงอายุโฮมอโลนเพิ่มขึ้น
            ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2545 ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังกับคู่สมรส มีสัดส่วน 16% ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว มีสัดส่วน 6%
            พอเข้าสู่ปี 2550 ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังกับคู่สมรส ยังคงมีสัดส่วน 16% ขณะที่ ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว เพิ่มขึ้นเป็น 8%
            ผ่านไป 4 ปี ในปี 2554 ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังกับคู่สมรส มีสัดส่วน 18% ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว เพิ่มขึ้นเป็น 9%
             และล่าสุดในปี 2557 ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังกับคู่สมรส มีสัดส่วน 19% ส่วนผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว มีสัดส่วน 9% ทำให้คาดการณ์ได้ว่า แนวโน้มของผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังจะเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้
            ผลกระทบลูกโซ่จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร อาจมีผลโดยตรงต่อนิยามของคำว่า “ครอบครัว” ที่พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2557 ให้นิยามไว้ว่า ครอบครัว คือ กลุ่มของบุคคล ที่มีความเชื่อมโยงกัน โดยการสมรส ทางสายเลือด หรือการรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม รวมตัวกันเป็นครอบครัวๆ หนึ่ง สมาชิกของครอบครัว มีความผูกพันกันทางอารมณ์และจิตใจ ในการดำเนินชีวิตร่วมกัน มีการปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสารระหว่างกัน ตามบทบาททางสังคมของ สามี ภรรยา แม่และพ่อ พี่และน้อง รวมทั้งมีการพึ่งพิงกันทางสังคมและเศรษฐกิจด้วย
            “สมัยใหม่นี้ ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อยู่ตัวคนเดียว 10% ผู้สูงอายุอยู่กันสองคนไม่มีลูกอยู่ด้วย 20% ครอบครัวที่อยู่ตัวคนเดียว เราคิดว่า ควรเรียกว่าครอบครัวไหม? ถ้าถือตามความหมายของครอบครัวที่มีมาแต่เดิม หรือถ้าอยู่ด้วยกัน แต่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด จะเรียกว่าครอบครัวไหม? เพราะลักษณะนี้ ไม่เข้ากับคำจำกัดความของครอบครัว เมื่อลักษณะครอบครัวเป็นแบบนี้ แล้วเราใช้เกณฑ์ชี้วัดความอบอุ่นในครอบครัว ที่ต้องช่วยกันแก้ปัญหา ต้องปรึกษาหารือกัน ถ้าเป็นครอบครัวตัวคนเดียว จะถือว่าอบอุ่นได้ไหม? ไม่ต้องปรึกษาใคร ตัวเองเป็นครอบครัวของตัวเองจะได้ไหม? ลองคิดดูแล้วกัน”
 สึนามิประชากร
            ปัจจุบันการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรผู้สูงอายุในรุ่นเกิดล้าน กำลังก่อตัวเป็น “สึนามิประชากร” คลื่นยักษ์ที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งผู้สูงอายุในไม่ช้า มีผลทำให้จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
            โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา ประชากรรุ่นเกิดล้าน ที่เกิดระหว่างปี 2506-2526 ปัจจุบันมีอายุระหว่าง 34-54 ปี และพอเข้าสู่ปี 2570 ประชากรรุ่นเกิดล้าน จะมีอายุ 44-64 ปี พอเข้าปี 2580 ประชากรรุ่นเกิดล้าน จะมีอายุ 54-74 ปี
             สรุปง่ายๆ ว่า ในอนาคตอันใกล้ คนไทยจะเป็นผู้สูงอายุ นับตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ปีละหลักล้านคน
 ปี 62 คนแก่มากกว่าเด็ก
            ภายใน 3 ปีข้างหน้า หรือปี 2564 ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” และนับไปอีก 10 ปี ในปี 2574 ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” คาดการณ์ว่า ปีหน้า 2562 นี้ จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย มีประชากรสูงอายุ ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าประชากรวัยเด็ก ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี
            และอีกไม่ช้าไม่นาน การสูงวัยของประชากร จะเป็นปัญหาที่หนักมาก ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และภาครัฐ เพราะอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 20 ล้านคน หรือประมาณ 30.7%
 สร้างพลังผู้สูงอายุ
            ปัญหาที่หนักหนาสาหัสของจำนวนประชากรสูงอายุ ที่เพิ่มขึ้นเกือบครึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมด นับวันเหมือนระเบิดเวลาที่รอทำลายล้างตัวเอง ถ้าผู้นำและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ยังคิดแบบเดิม ตามล้างตามเช็ดปัญหาของผู้สูงอายุในด้านต่างๆ ทั้งปัญหาสุขภาพ ปัญหาทางด้านรายได้เพื่อการยังชีพ และปัญหาที่อยู่อาศัย จะไม่สามารถแก้ปัญหานี้ ได้ทันกับ “ความรุนแรง” และ “ความรวดเร็ว”ของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากรที่เกิดขึ้น
            ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ที่ผู้นำและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องยกเครื่องวิธีคิดใหม่ เปลี่ยนทัศนคติ ความคิด และพฤติกรรมของคนไทยทั้งหมด ตั้งแต่ การอยู่ การกิน การออกกำลังกาย การลด การเลิกพฤติกรรมเสี่ยง การออม และการพึ่งตนเอง
             นอกจากนี้ ต้องเตรียมคนทุกเพศทุกวัย ทำตัวเองให้พร้อมที่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีพลัง ตระเตรียมคนตลอดเส้นทางชีวิต ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เกิดมา และเจริญวัย ต้องสร้างความพร้อมตั้งแต่เกิด
            รวมถึง เตรียมที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อม สำหรับการเป็นผู้สูงอายุ และสังคมผู้สูงอายุ มองเผื่อชีวิตตัวเองไปไกลๆ ถ้าไม่ตายเสียก่อน ต้องสร้างบ้านให้พร้อมอยู่ และพร้อมใช้ชีวิตได้ตั้งแต่หนุ่มสาวยันแก่
            “การออกกำลังกาย ต้องทำตั้งแต่หนุ่มสาว ญี่ปุ่นมีท่าออกกำลังกายแห่งชาติ ต้องเตรียมพร้อมเป็นผู้สูงอายุที่มีพลัง สุขภาพดี มีความมั่นคง เตรียมพร้อมให้ทุกคนเป็นผู้สูงอายุอย่างมีพลัง ตั้งแต่เริ่มแรก สร้างความตระหนักให้คนทั้งประเทศ เพราะเรามีเวลาชีวิตอีกนานเหลือเกิน จากความก้าวหน้าทางการแพทย์ ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องคิดถึงอนาคตของตัวเองอย่างจริงจัง”
เรียบเรียงจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “นวัตกรรมการพัฒนาครอบครัวตามองค์ประกอบครอบครัวอบอุ่น : รูปแบบ เครื่องมือ และ การขับเคลื่อน การสร้างครอบครัวอบอุ่นในองค์กร” ในงานมหกรรมส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว วันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ห้องประชุม 205 อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี ถ.แจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี จัดโดย สำนัก 4 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

สูงวัยโปรดอ่าน

            – ในอดีต คนอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนเพียง 5% รองลงมาคือ ระดับอายุ 15-59 ปี มีสัดส่วน 50% และเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีสัดส่วน 45%

            – ปี 2560 ประเทศไทยมีประชากร 66 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 17% หรือ 11.4 ล้านคน วัยแรงงาน ช่วงอายุ 15-59 ปี 65.7% หรือ 43 ล้านคน และ เด็ก อายุต่ำกว่า 15 ปี 17.8% หรือ 11.7 ล้านคน

            – เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ครอบครัวไทยมีจำนวนสมาชิกเฉลี่ย 5 คน  ปัจจุบันมี 3 คน

            – 50 ปีก่อน ผู้หญิงไทย 1 คน มีลูกเฉลี่ย 6 คน แต่ยุคนี้ ผู้หญิงไทยมีลูกเฉลี่ยเพียง 1.6 คน

            – ปี 2506-2526 ไทยเคยมีเด็กเกิดมากกว่าล้านคน

            – ปี 2514 มีเด็กเกิด 1,221,228 คน เรียกว่า “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” พอเข้าสู่ปี 2560 มีเด็กเกิดเพียง 702,755 คน

            – 50 ปีที่แล้ว คนไทยเคยมีอายุคาดเฉลี่ย 60 ปี แต่ตอนนี้เมื่อเกิดมาแล้ว คาดว่าคนไทยจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้เฉลี่ย 75 ปี พอถึงปี 2593 จะมีอายุคาดเฉลี่ย 80 ปี

            – ปี 2560 ผู้ชายไทยมีอายุคาดเฉลี่ย 72 ปี ส่วนผู้หญิงมีอายุคาดเฉลี่ย 79 ปี

            – ปี 2545 เป็นต้นมา ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

            – ปี 2545 ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังกับคู่สมรส มีสัดส่วน 16% ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว มีสัดส่วน 6%

            – ปี 2550 ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังกับคู่สมรส มีสัดส่วน 16% ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว มีสัดส่วน 8%

            – ปี 2554 ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังกับคู่สมรส มีสัดส่วน 18% ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว มีสัดส่วน 9%

            – ปี 2557 ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังกับคู่สมรส มีสัดส่วน 19% ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว มีสัดส่วน 9%

            – ปี 2560 ประชากรรุ่นเกิดล้าน ที่เกิดระหว่างปี 2506-2526 ปัจจุบันมีอายุระหว่าง 34-54 ปี

            – ปี 2570 ประชากรรุ่นเกิดล้าน จะมีอายุ 44-64 ปี

            – ปี 2580 ประชากรรุ่นเกิดล้าน จะมีอายุ 54-74 ปี 

            – ในอนาคตอันใกล้ คนไทยจะเป็นผู้สูงอายุ นับตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ปีละหลักล้านคน

            – ปี 2564 ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์”

            – ปี 2574 ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด”

            – ปี 2562 จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย มีประชากรสูงอายุ ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าประชากรวัยเด็ก ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี

            – อีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 20 ล้านคน หรือประมาณ 30.7%

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.happinometer.ipsr.mahidol.ac.th