“ป่าสักนวมินทรราชินี” ผืนป่าแห่งความสมบูรณ์จากพระเมตตา…
“…ป่าไม้ของเราถูกทำลายไปมาก จำเป็นจะต้องรีบปลูกป่าทดแทนอย่างเร่งด่วนเพื่อช่วยฟื้นฟูรักษาทั้งต้นน้ำลำธาร ทั้งอากาศ และทรัพยากรธรรมชาติอีกหลายชนิด…”
“…พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ… พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำฉันจะสร้างป่า…”
จากพระราชดำรัสดังกล่าวของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมชานินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานไว้นั้นสะท้อนให้เห็นถึงสายพระเนตรที่ยาวไกลและพระราชปณิธานมุ่งมั่นที่จะรักษาผืนป่าทรัพยากรอันล้ำค่าของประเทศที่นับวันจะถูกบุกรุกทำลายไป ด้วยทรงประจักษ์ชัดว่าความบริบูรณ์ของแผ่นดินและสรรพชีวิตแท้จริงแล้ว ก่อเกิดจากความสมบูรณ์ของทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้
ด้วยเหตุนี้จึงทรงมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ดำรงคงอยู่อย่างยั่งยืน ดังเช่นการรักษาผืนป่าที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร แหล่งสร้างชีวิตและเรียนรู้ถึงขบวนการวิธีการฟื้นฟูรักษาผืนป่าที่สำคัญ ดังเช่น โครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบริเวณป่าลุ่มน้ำของ-ลุ่มน้ำปายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมชานินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เนื่องจากอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นพื้นที่ที่มีการทำสัมปทานป่าไม้มาก่อน จนกระทั่งในปีพุทธศักราช 2515 พื้นที่ป่าแห่งนี้ได้ประกาศจัดตั้งให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย และเพื่อให้มีการดูแลรักษาผืนป่าให้มีความสมบูรณ์และด้วยเป็นผืนป่าที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช จึงได้ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมชานินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมกับพระราชทานนามป่าแห่งนี้ว่า “ป่าสักนวมินทรราชินี” ซึ่งมีความหมายว่า ป่าสักที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยผืนป่าแห่งนี้มีป่าสักที่มีความสมบูรณ์เป็นจำนวนมาก
อีกทั้งเป็นป่าสักแห่งเดียวในโลกที่ขึ้นอยู่บนความสูงถึง 1,230 เมตร หลังจากเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในปีพุทธศักราช 2554 สำนักงาน กปร จึงได้ให้การสนับสนุนงบประมาณและการดำเนินงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนองพระราชดำริ ในการป้องกันรักษาพื้นที่ป่าสักให้คงความสมบูรณ์ เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาวิจัยไม้สักที่สำคัญของประเทศไทย และอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ที่เสื่อมโทรมตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร และการสร้างจิตสำนึกโดยให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้มีความยั่งยืน
ด้วยมหากรุณาธิคุณนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรและผืนป่า โดยราษฎรสามารถอยู่ร่วมกับป่าอย่างเกื้อกูลกัน ผืนป่าที่เคยถูกบุกรุกได้รับการดูแลรักษาให้มีความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่เกิดจากการหาของป่า รวมถึงพืชสมุนไพร นอกจากนี้ยังมีรายได้จากท่องเที่ยวเป็นรายได้เสริมให้แก่ราษฎรอีกด้วย
ณ วันนี้แนวพระราชดำริในการพัฒนาด้านต่าง ๆ รวมถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมชานินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานไว้นั้นได้หลอมรวมพลังที่ยิ่งใหญ่จากทุกภาคส่วนในการสร้างและรักษาความสมบูรณ์ให้กับผืนป่าบนแผ่นดินไทยโดยเฉพาะพืชพันธุ์ธัญหาร ที่พร้อมจะส่งผลถึงความมั่นคงให้กับราษฎรผู้ยากไร้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป