ผู้ช่วยรมว.แรงงาน เปิดประชุมถกการเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานระหว่าง/หลังการระบาดของ COVID-19
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.30 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการจ้างงานในประเทศไทย “การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานระหว่างและหลังการระบาดของ COVID-19” Employment in Thailand Labour Market Transitions during and post the COVID-19 pandemic ณ ห้องประชุมมารีน่า แกรนด์ บอลรูม ชั้น 2โรงแรมโนโวเทลมารีน่า ศรีราชา แอนด์ เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี โดยกล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ส่งผลกระทบต่อแรงงาน และเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อบริบทด้านแรงงาน ดังนี้ 1) แรงงานถูกเลิกจ้าง 2) ชั่วโมงการทำงานลดลง 3) รายได้ของแรงงานลดลง และ 4) ความก้าวหน้าและการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลให้แนวโน้มอาชีพและรูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไป กระทรวงแรงงานได้มีการดำเนินงานเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ที่ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้าง ว่างงาน และเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงานและการจ้างงาน เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการจัดหางาน มีอาชีพ มีงานทำ และมีคุณภาพชีวิตอย่างมั่นคงและยั่งยืน จึงได้กำหนดมาตรการการส่งเสริมการจ้างงาน และมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้ 1.การเตรียมความพร้อมแก่กำลังแรงงานให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทุกกลุ่มให้ทราบข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน และใช้เป็นแนวทางในการเลือกศึกษา และเลือกประกอบอาชีพ 2.จัดทำมาตรการเพื่อส่งเสริมการจ้างงานและการประกอบอาชีพ โดยมีผลการดำเนินงาน ได้แก่ โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและภาคเอกชน (Co - Payment) ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งวันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564 เป้าหมาย 50,000 คน ผลการดำเนินงานปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564) อนุมัติการจ้างงานแล้ว จำนวน 55,735 คน ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียน ในระบบเศรษฐกิจรวมจำนวน 3,213,122,750 บาท และให้ความช่วยเหลือนายจ้าง/สถานประกอบการในกลุ่มธุรกิจ SMEs เพื่อส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs เพื่อลดปัญหาการว่างงาน ผลการดำเนินงานปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2564) มีนายจ้างในธุรกิจ SMEs เข้าร่วมโครงการ จำนวน 223,838 ราย รักษาระดับการจ้างงาน และส่งเสริมการจ้างงานใหม่ลูกจ้างสัญชาติไทย จำนวน 3,068,152 คน เป็นต้น 3.พัฒนาระบบการให้บริการจัดหางาน ซึ่งกระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางาน ยกระดับการให้บริการจัดหางานและจ้างงานผ่านระบบออนไลน์บนแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” เพื่อให้คนหางานเข้าถึงการจ้างงานที่สะดวกรวดเร็ว จับคู่ตำแหน่งงานว่างและคนหางานที่สอดคล้องกับความต้องการส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำตอบโจทย์การทำงานในยุคดิจิทัลและการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้ได้รับการบรรจุงานแล้ว จำนวน 192,948 คน อย่างไรก็ดี ยังเห็นว่ามีการดำเนินงานด้านการพัฒนาแรงงานด้านอื่น ๆ และประเด็นท้าทายที่จะส่งผลให้เกิดการจ้างงานและรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานและสอดคล้องกับแรงงานในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่ต้องให้ความสำคัญและมีการวางแผนการดำเนินงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่อไป เช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสนับสนุนให้มีการจ้างงานกลุ่มเปราะบาง และประชากรเฉพาะกลุ่ม การปรับตัวของแรงงานทั้งในและนอกระบบของไทยให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงโดยการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะและสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงานในยุคปัจจุบัน หรือ Up-Skill และ Re-Skill ในสาขาที่เป็นที่ต้องการของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการบริการที่มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะ การคุ้มครองแรงงานเพื่อส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่าเพื่อให้แรงงานได้รับโอกาสในการจ้างงานจ้างและมีความมั่นคงในชีวิตตลอดจนมีหลักประกันทางสังคม นายสุรชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอบคุณสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยและองค์การแรงงานระหว่างประเทศที่ร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาแรงงานของประเทศ และหวังว่าผลการประชุมจะนำมาซึ่งข้อเสนอเชิงนโยบายด้านแรงงานด้านการจ้างงานที่มาจากความเห็นของทุกภาคส่วนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาแรงงานของประเทศต่อไป ทั้งนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่การอำนวยความสะดวกในการเจรจาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงในประเทศไทย นโยบายด้านแรงงานในปัจจุบัน และความต้องการของคนงานในกลุ่มอายุต่างๆ และนโยบายและแนวปฏิบัติด้านแรงงานเป้าหมายเพื่อสนับสนุนคนงานในช่วงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมจาก COVID-19 วิกฤติ อีกทั้งงานนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นเวที สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายด้านแรงงานที่อาจเกิดขึ้นและมาตรการการจ้างงานที่เหมาะสมกับโลกของการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดจนส่งเสริมโอกาสการจ้างงานที่ดีและมีประสิทธิผลสำหรับพนักงานทุกคน