Update Newsกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สังคมสังคม/CSR

พก. จับมือ DTAC และสมาคมคนหูหนวกฯ เปิด 3 โครงการ ต่อยอดศักยภาพคนพิการ ดีทั่วดีถึง ดีไปด้วยกันทุกคน

วันนี้ (15 มี.ค. 65) เวลา 10.00 น. ณ ห้อง Library ชั้น 32 ดีแทคเฮ้าส์ อาคารจามจุรีสแควร์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นประธานร่วมแถลงข่าวออนไลน์ Go Beyond (Dis) abilities into possibilities together ต่อยอดศักยภาพผู้พิการให้ดีทั่วดีถึง ดีไปด้วยกันทุกคน โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ผนึกกำลังความร่วมมือ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย โดยมี นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) นายวิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าว พร้อมด้วย คนพิการ ผู้ดูแล องค์กร สมาคมคนพิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานแถลงข่าว



นางสาวสราญภัทร กล่าวว่า ปัจจุบัน มีคนพิการในประเทศไทยที่ออกบัตรประจำตัวคนพิการ กับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ อยู่จำนวน 2,107,005 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565) คิดเป็นร้อยละ 3.18 ของประชากรทั่วประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้ แบ่งประเภทความพิการจะเห็นว่า ประเภทความพิการที่มากที่สุด คือ ทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย จำนวน 1,054,786 คน คิดเป็นร้อยละ 50.17 ลำดับรองลงมาคือ ทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย จำนวน 393,027 คน ร้อยละ 18.69 และทางการเห็น จำนวน 187,546 คน ร้อยละ 8.92 ตามลำดับ



นอกจากนี้ เมื่อมาดูตามช่วงอายุ จะพบว่า มีคนพิการที่อยู่ในช่วงวัยแรงงาน (อายุ 15 - 59 ปี) จำนวน 855,816 คน และเป็นคนพิการที่เป็นผู้สูงอายุ อีกจำนวนกว่า 1,168,165 คน ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลคนพิการทั่วประเทศ มีภารกิจหลักในการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการของคนพิการ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคแก่คนพิการ ซึ่งคนพิการถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับโอกาส สร้างเครื่องมือ และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อคนพิการทุกประเภทความพิการ และในปัจจุบันที่ประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัล อินเตอร์เน็ตถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเปิดโอกาสการเข้าถึงข้อมูล การติดต่อสื่อสาร และเพิ่มช่องทางการประกอบอาชีพ 

โดยเฉพาะการทำธุรกิจค้าขายออนไลน์ ให้เข้าถึงลูกค้าและตลาดโดยตรงได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทำให้คนพิการมีอาชีพ มีรายได้ และสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนอย่างคนปกติ รวมทั้งจะส่งผลให้สามารถดำเนินชีวิตร่วมกับครอบครัวได้อย่างยั่งยืนและเป็นปกติสุข ในส่วนความร่วมมือระหว่าง กระทรวง พม. โดย พก. และ DTAC นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือเพื่อการมีงานทำอย่างยั่งยืนของคนพิการ ด้านการพัฒนาทักษะทางดิจิทัลที่คนพิการจะได้รับประโยชน์ในการใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ในยุคดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของ พก. และพร้อมยินดีให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าว ให้ประสบผลสำเร็จ และประโยชน์ตกถึงมือของคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ เพื่อให้คนพิการดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าต่อไป

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทคเชื่อว่าเทคโนโลยีการสื่อสารและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะช่วยสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ และเปิดโอกาสในโลกกว้างสำหรับทุกคน การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อเสรีภาพในการแสดงออกและการใช้ประโยชน์เพื่อคุณภาพชีวิตยังถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับ และเป็นการส่งเสริมการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี”




สำหรับโครงการ Go Beyond (Dis) abilities into possibilities together ต่อยอดศักยภาพคนพิการ ให้ดีทั่วดีถึง ดีไปด้วยกันทุกคน ผ่าน 3 โครงการ คือ 1) จัดทำแพ็กเกจพิเศษเพื่อคนพิการและผู้ดูแล เพื่อช่วยให้ติดต่อสื่อสารกันได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย มีความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตที่เร็วและเสถียรในการพูดคุยภาษามือผ่านวิดีโอคอล แชทผ่านทางแพลตฟอร์มดิจิทัลและโซเชียลมีเดียต่างๆ ในชีวิตประจำวันตลอดเวลา ซึ่งแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตนี้จะตอบสนองความต้องการและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้อย่างมาก เช่น แพ็กเน็ต 4GB เต็มสปีด 

หลังจากนั้นสามารถใช้เน็ตได้ต่อเนื่องที่ความเร็ว 1 Mbps ในราคาเริ่มต้นเพียงเดือนละ 99 บาท หรือใช้เน็ตไม่อั้นความเร็ว 4 Mbps ในราคาเพียง 249 บาท และอีกหลายแพ็กเกจให้เลือกใช้เน็ตในราคาที่คุ้มค่า พร้อมกันนี้ยังมอบข้อเสนอความคุ้มครองจากประกันภัยทุกประเภทจาก ดีแทค ดีชัวรันส์ ด้วยส่วนลดถึงร้อยละ 15 ซึ่งแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตนี้จะตอบสนองความต้องการและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้อย่างมาก 2) โครงการเน็ตทำกิน เพื่อเพิ่มทักษะดิจิทัลให้คนพิการ เนื่องจากยังมีช่องว่างของคนพิการที่เข้าไม่ถึงดิจิทัลและยังขาดทักษะในการนำดิจิทัลมาช่วยประกอบอาชีพ ที่จะช่วยเพิ่มช่องทางการทำธุรกิจค้าขายออนไลน์ ให้เข้าถึงลูกค้าโดยตรง 

กระทรวง พม. โดย พก. ร่วมกับดีแทค จัดการเรียนการสอน เน็ตทำกิน ในลักษณะการอบรมเฉพาะกลุ่ม ในรูปแบบของการลงพื้นที่ในชุมชนที่ครอบคลุมทุกกลุ่มคนพิการ ตั้งแต่กลุ่มคนพิการทางการเห็น กลุ่มคนพิการทางการได้ยิน และคนพิการด้านร่างกายอื่นๆ โดยจะเริ่มเปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2565 ใน 21 กลุ่มอาชีพ เช่น งานเย็บปักถักร้อย งานแปรรูปอาหาร การเกษตรพอเพียง เป็นต้น ทั้งนี้ ดีแทค จะดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มยอดขาย การันตีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และ 3) เปิดดีแทคคอลเซ็นเตอร์ 
คนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 

ปัจจุบันดีแทคเปิดให้บริการคอลเซ็นเตอร์ให้บริการโดยคนพิการทางการเห็น และได้ขยายคอลเซ็นเตอร์ที่ให้บริการโดยคนหูหนวกเพิ่มเติม เพื่อให้บริการคนหูหนวกที่ใช้บริการมือถือทุกเครือข่าย โดยมีพนักงานคอลเซ็นเตอร์คนหูหนวก ให้บริการเพื่อนคนหูหนวกทั่วประเทศไทย 

โดยดีแทคได้ติดตั้งระบบการทำงานคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ให้พนักงานคนหูหนวกได้ทำงานที่สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ซึ่งพนักงานคอลเซ็นเตอร์คนหูหนวก ได้รับการอบรมจากทีมงานคอลเซ็นเตอร์ที่เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ยังให้บริการ แจ้งข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับเพื่อนคนพิการที่ใช้มือถือกับทุกโอเปอเรเตอร์ เช่น เบอร์โทรฉุกเฉิน ข้อมูลสายด่วนบริการต่างๆ ในอนาคตดีแทคจะขยายการให้บริการให้ครอบคลุม เพื่อช่วยเติมเต็มให้คนพิการได้ใช้ดิจิทัลมาช่วยให้ชีวิตได้รับความสะดวกสบายได้มากยิ่งขึ้น



นายวิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย มีความยินดี ที่ดีแทคให้ความสำคัญกับนโยบายในการส่งเสริมศักยภาพคนหูหนวก โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทักษะดิจิทัล ในการค้าขายออนไลน์ รวมถึงการจัดตั้งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ได้ให้ความร่วมมือในการประกาศรับสมัคร คัดเลือกพนักงานคนหูหนวกซึ่งมีคุณสมบัติตามที่ดีแทคกำหนด อำนวยความสะดวกสถานที่ของสมาคมฯ ล่ามภาษามือสำหรับการอบรมพนักงานคอลเซ็นเตอร์ ทำให้คนหูหนวกได้ทำงานที่มีคุณค่า

 เปิดโอกาสและสนับสนุนคนหูหนวก ให้เกิดความมั่นใจและภาคภูมิใจในความสามารถของตนเองที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ช่วยเหลือองค์กร และสังคม โดยคอลเซ็นเตอร์แห่งนี้ได้จัดตั้งสำนักงานอยู่ที่สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศ ที่พร้อมเปิดให้บริการกับลูกค้าดีแทค