พช.จับมือ สจล. ร่วมลงนาม MOU กับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง สร้างความร่วมมือทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 14 มีนาคม 2566 เวลา 14.00 น. ที่สำนักงานอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และรองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการแทนอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง กรมการพัฒนาชุมชน กับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการนี้ รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางมนทิรา เข็มทอง ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน และคณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมฯ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการค้นหาความต้องการของชุมชนมากำหนดภารกิจในการพัฒนาชุมชนและการกำหนดแนวทางการฝึกปฏิบัติวิชาชีพของนักศึกษา พัฒนาการให้บริการทางวิชาการร่วมกันระหว่างสถาบันการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และเทียบโอนรายวิชาจากหลักสูตรการอบรมของกรมการพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยกิตในการลงทะเบียนรายวิชาของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในระดับปริญญามหาบัณฑิตและระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการสร้างเครือข่ายทางวิชาการ เพื่อร่วมกันค้นหาความต้องการของชุมชน กำหนดแนวทางการฝึกปฏิบัติวิชาชีพของนักศึกษา และนำมาพัฒนาการดำเนินงานด้านสหกิจศึกษาของกรมการพัฒนาชุมชน ในการเสริมสร้างประสบการณ์ให้แก่นักศึกษาที่มาฝึกงานในหน่วยงาน และสนับสนุนความร่วมมือให้บริการทางวิชาการ โดยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานเพื่อนำไป พัฒนาทรัพยากรบุคคลของทั้งสองฝ่าย
ซึ่งมีลักษณะเป็นการสร้างความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ ระหว่างหน่วยงาน รวมถึงการเทียบโอนรายวิชาจากหลักสูตรการอบรมของกรมการพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยกิตในการลงทะเบียนรายวิชาของสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในระดับปริญญามหาบัณฑิตและระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตนั้น จะเป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของกรมการพัฒนาชุมชน ในด้านการศึกษาในกรณีบุคลากรกรมการพัฒนาชุมชนที่ประสงค์ศึกษาต่อ บัณฑิตก็จะสะดวกมากยิ่งขึ้น
ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้เกิดประโยชน์แก่บุคคลากรของกรมฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติมเต็มองค์ความรู้ด้านการศึกษา ซึ่งเป็นการสร้างแรงใจให้แก่บุคลากรในการพัฒนาตนเองด้วยการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการแทนอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อพัฒนาการค้นหาความต้องการของชุมชนมากำหนดภารกิจในการพัฒนาชุมชนและการกำหนดแนวทางการฝึกปฏิบัติวิชาชีพของนักศึกษา การให้บริการทางวิชาการร่วมกัน และการเทียบโอนรายวิชาจากหลักสูตรการอบรมของกรมการพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยกิตในการลงทะเบียนรายวิชาของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ในระดับปริญญามหาบัณฑิตและระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต ตลอดจนสนับสนุนด้านวิชาการเพื่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของกรมการพัฒนาชุมชน จะเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร การสร้างองค์ความรู้และผลงานทางวิชาการ เพื่อสนับสนุนการทำงานของนักพัฒนาชุมชนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญนับว่าเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของกรมการพัฒนาชุมชน ได้เป็นอย่างดี หวังว่า การลงนามครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาในเรื่องของทักษะในการพัฒนาชุมชน เรียนรู้และนำเอาองค์ความรู้ที่อยู่ในภูมิปัญญาของชุมชนเข้ามารวมกัน โดยการนำเอาองค์ความรู้มาพัฒนาสู่แง่มุมทางวิชาการ
จึงขอขอบคุณอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเครือข่ายทางวิชาการและในมิติต่างๆ ที่จะทำให้ชุมชนต่าง ๆ นำเอาองค์ความรู้ทางวิชาการเข้าไปรวมกับภูมิปัญญาต่างๆ ที่เกิดขึ้น หลังจากนี้ต่อไปองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจะลงไปสู่ชุมชนโดยตรง เราจะสามารถนำเอาการเรียนรู้ต่าง ๆ ไปพัฒนาในเรื่องของทักษะในการพัฒนาชุมชนได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. ได้สร้างสถาบันเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมองว่าองค์ความรู้ที่ สจล.มี เราได้ไปผลักดันให้ชุมชนขับเคลื่อนในเรื่องของการทำการเกษตรที่ปลอดภัย และทุกคนในประเทศได้บริโภคอาหารปลอดจากสารเคมี องค์ความรู้นี้
สจล.มีความพร้อมแล้วที่ถ่ายทอดในแง่มุมของ Process ในแง่มุมของการกำจัดแมลงศัตรูพืชในส่วนที่ไม่ใช้สารเคมี และก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเศรษฐกิจพอเพียงกับองค์ความรู้ที่มีอยู่ด้านเกษตรอินทรีย์จะไปด้วยกัน ทำให้ประชาชนสามารถที่จะทำการเกษตรที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น