Update Newsกระทรวงมหาดไทยสังคมสังคม/CSR

พช.นนทบุรี เร่งเครื่องเดินหน้าจัดกิจกรรม “รวมพลังเอามื้อสามัคคี”

วันพุธที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๓๐ น. นางรักใจ กาญจนะวีระ พัฒนาการจังหวัดนนทบุรี เป็นประธานเปิดกิจกรรม “รวมพลังเอามื้อสามัคคี” ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ในกิจกรรมที่ ๔ กระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ผ่านกิจกรรมการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ณ พื้นที่ของนายสินชัย ทองมั่ง บ้านราษฎร์นิยม หมู่ที่ ๖ ตำบลราษฎร์นิยม อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี 

โดยมีนางสาวบุตรตรา ใจพันธ์ พัฒนาการอำเภอไทรน้อย เป็นผู้ให้ข้อมูลการดำเนินงาน และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย ผู้อำนวยการกลุ่มงาน เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำกลุ่มองค์กรและประชาชนในพื้นที่




 

 
 

 

  

นางรักใจ กาญจนะวีระ พัฒนาการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นการเอามื้อสามัคคีเพื่อสร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต เกิดกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม การพึ่งพาตนเอง สามารถบริหารจัดการตนเองและชุมชนให้มีความสุขได้อย่างยั่งยืน


นายสินชัย ทองมั่ง เจ้าของแปลง ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการนำหลักทฤษฎีใหม่ พัฒนาพื้นที่สู่การเป็นศูนย์เรียนรู้ รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” เป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ช่วยพลิกฟื้นผืนดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ให้มีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี รวมถึงการปลูกป่า ๕ ระดับ เพื่อนำมาใช้สอย สร้างรายได้และสร้างความมั่นคงทางอาหารแก่ครัวเรือนรวมถึงการเป็นคลังอาหารให้แก่ชุมชน


สำหรับกิจกรรมการเอามื้อสามัคคีในวันนี้ ได้ดำเนินการตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ ประกอบด้วยมี ๕ กิจกรรม คือ ๑.การปลูกไม้เศรษฐกิจ ๒.ยกแปลงปลูกผักสวนครัว ๓.ปลูกหญ้าแฝก ๔.ห่มดินด้วยฟาง ๕.ทำปุ๋ยชีวภาพ โดยมี “ครูพาทำ” ประกอบด้วย นายยวง เขียวนิล ปราชญ์ชาวบ้าน และนายสินชัย ทองมั่ง เจ้าของแปลงและนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ


โดยก่อนเริ่มกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” นายยวง เขียวนิล ปราชญ์ชาวบ้านอำเภอไทรน้อยหรือหมอดินด้านเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เล่าความสำเร็จจากการใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีทางการเกษตร ทำให้ผลผลิตเป็นที่ยอมรับ และชื่อเสียงของหมอดินยวงเป็นที่รู้จัก 

ปัจจุบัน หมอดินยวง เขียวนิล ได้ร่วมเป็นวิทยากร บรรยายส่งเสริมให้ประชาชน เกษตรกรและผู้สนใจในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ พอเพียงตามวิถีชาวบ้าน ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก



ซึ่งการดำเนินกิจกรรมในวันนี้ ได้ปฏิบัติตามมาตรการการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด.