วันนี้ (19 กันยายน 2561) อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์) มอบหมายให้นายโชคชัย แก้วป่อง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานการแถลงข่าวเปิดตัว จุลสารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี (LADY’S LIB) โดยมีนายปรีชา กิตติสัตยกุล ผู้ตรวจราชการกรม ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องประชุม 3003 ชั้น 3 กรมการพัฒนาชุมชน อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
นายโชคชัย แก้วป่อง เปิดเผยว่าการจัดทำจุลสารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เริ่มต้นจากความต้องการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ การดำเนินงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้เป็นที่รู้จักของสาธารณชน และให้สตรีในสังคมได้มีโอกาสเข้าถึงกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยผ่านสื่อในช่องทางต่าง ๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และสื่อโทรทัศน์ เพื่อให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาสตรีในสังคม ให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพที่โดดเด่น และเป็นที่ยอมรับจากสังคมผ่านบทบาทของสตรีในแง่มุมต่างๆ ผ่านโครงการเสริมสร้างภาพลักษณ์กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ
ทำไมถึงชื่อ LADY’S LIB คำว่า “LADY’S LIB” มาจากคำว่า LADY’S LIBERATION ซึ่ง LIBERATION มีความหมายตรงตัว คือ การปลดปล่อย เปรียบเหมือนการปลดปล่อยหรือการเปิดโอกาสให้สตรีได้แสดงความสามารถหรือศักยภาพในบทบาทของสตรีที่มีในสังคม รวมทั้งการกระตุ้นให้สังคมใส่ใจกับ “สิทธิสตรี” มากขึ้น
ซึ่ง LADY’S LIB เป็นเหมือนสื่อกลางให้สังคมได้รับรู้ถึงเรื่องราวของสตรีในปัจจุบันที่มีคุณค่าในตนเอง และเต็มไปด้วยศักยภาพที่โดดเด่นผ่านการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาให้สตรีมีความมั่นใจ กล้าแสดงออก จากการได้รับการสนับสนุนของนโยบายของรัฐบาล สำหรับฉบับแรกที่เป็นฉบับปฐมฤกษ์ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ได้เลือกคุณมิ้นท์ ชลิดา วิจิตรวงศ์ทองเนื่องจากในแต่ละฉบับเราต้องการนำเสนอสตรีที่มีบทบาทในสังคมที่แตกต่างกันออกไป
โดยคุณมิ้นท์ ชลิดา เป็นตัวแทนของบทบาทนักแสดงที่เป็นคนของประชาชน เป็นสตรีที่มีความสดใส เป็นสตรีสมัยใหม่ที่มี ความน่าสนใจ และนอกจากการเป็นนักแสดงยังประกอบธุรกิจส่วนตัว ซึ่งเป็นสิ่งไม่ง่ายเลยที่จะสามารถเป็นทั้งนักแสดงและประกอบธุรกิจส่วนตัวได้ไปพร้อม ๆ กัน และประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ หลังจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี มาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมการพัฒนาชุมชน ตั้งแต่ วันที่ 1 พฤษภาคม 2559 ในระยะแรกได้ดำเนินงานขับเคลื่อนของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ตั้งแต่ การดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี การแต่งตั้งกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยให้ ภาคประชาชนเข้ามา มีส่วนร่วมกับภาคราชการ เพื่อให้การดำเนินงานขับเคลื่อนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์
โดยมี - อาสาสมัครผู้ประสานงานกองทุนฯ หมู่บ้าน/ชุมชน จำนวน 88,864 คน- คณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบล/เทศบาล จำนวน 7,788 คณะ - คณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด/กรุงเทพมหานคร จำนวน 77 คณะ
ในช่วงปี 2560 – ปัจจุบัน กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีได้ดำเนินการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาทั้งสตรีและองค์กรสตรีที่เป็นสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทั่วประเทศ ทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ประชาสัมพันธ์รับสมัครสมาชิกประเภทบุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้น 2,760,676,คน รวมเป็น 12,902,435 คนประเภทองค์กรสตรีเพิ่มขึ้น 15,209 องค์กร รวมเป็น 15,338 องค์กร
สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่กลุ่มสตรี จำนวน 26,865 โครงการ เป็นเงิน 3,189,461,543 บาท เพื่อเป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ เสริมสร้าง ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับสมาชิก จำนวน 134,325 ครัวเรือน
สนับสนุนเงินอุดหนุน จำนวน 5,370 โครงการ เป็นเงิน 339,297,986 บาท เพื่อส่งเสริมบทบาทและพัฒนาศักยภาพสตรีและเครือข่าย การส่งเสริมสนับสนุน การจัดกิจกรรมในการพัฒนาบทบาทสตรี
และ การสนับสนุนโครงการที่แก้ไขปัญหาและพัฒนาสตรี ผลประโยชน์ที่สมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีได้รับ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กองทุนฯ เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ของประเทศในการสร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทางสังคม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ผ่านโครงการสร้างสัมมาชีพชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง โดยการสนับสนุนสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่เป็นครัวเรือนสัมมาชีพชุมชนสามารถมีเงินทุนในการนำไปต่อยอดกิจกรรมสัมมาชีพชุมชน จำนวน 22,946 ครัวเรือน เป็นเงิน 1,968,373,420 บาท ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ของครัวเรือนสัมมาชีพชุมชนที่กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีได้หนุนเสริม จะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) จำนวน 598 ผลิตภัณฑ์
สมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้น สามารถผ่านเกณฑ์รายได้ของข้อมูลความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ.) 38,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วสมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นครัวเรือนละ 5,000 – 6,000 บาทต่อเดือน สามารถลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ลดปัญหาการว่างงานแก่สตรีในชุมชน เพิ่มความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับบุคคล ครัวเรือน และชุมชน
ซึ่งในวันนี้ทุกท่านจะเห็นกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่ประสบความสำเร็จ จำนวน 6 กลุ่ม จาก 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการดำเนินงานขับเคลื่อนของกองทุนฯ ในการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประกอบด้วย 1. กลุ่มเลี้ยงโคนม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม มีรายได้เพิ่มขึ้น 4,000 – 5,000 บาท/คน/เดือน
2. กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าเด็ก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานีมีรายได้เพิ่มขึ้น 6,000 – 8,000 บาท/คน/เดือน
3. กลุ่มขนมไทยมงคลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีมีรายได้เพิ่มขึ้น 8,000 – 10,000 บาท/คน/เดือน
4. กลุ่มขนมอบและขนมไทย เขตหนองจอก กรุงเทพมหานครมีรายได้เพิ่มขึ้น 8,000 – 10,000 บาท/คน/เดือน
5. กลุ่มผ้ามัดย้อม อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีรายได้เพิ่มขึ้น 6,000 – 8,000 บาท/คน/เดือน
6. กลุ่มปักผ้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีรายได้เพิ่มขึ้น 7,000 – 10,000 บาท/คน/เดือน
นอกจากเงินทุนหมุนเวียนที่เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับสมาชิกกองทุนฯ แล้ว สตรียังได้รับการพัฒนาศักยภาพและได้รับการส่งเสริม สนับสนุนเป็นที่ยอมรับจากสังคมและสามารถก้าวสู่การเป็นผู้นำในชุมชนหรือสังคมได้ผ่านเงินอุดหนุน ทำให้มีจำนวนผู้นำสตรีได้รับการพัฒนาศักยภาพในการบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพชีวิต 134,447 คน
ก้าวต่อไปในการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้เป็นที่รู้จักแก่สาธารณชนและส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาสตรีในประเทศ ได้จัดสรรเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีประเภท เงินทุนหมุนเวียน จำนวน 1,498,000,000 บาท และประเภทเงินอุดหนุน จำนวน 295,000,000 บาท รวมจำนวนเงินที่จัดสรร 2,228,000,000 บาท โดยจะสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจให้แก่สมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและครอบครัวในการสร้างรายได้และมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 7,000 – 10,000 บาท
การพัฒนาระบบการเบิกจ่ายเงินด้วยระบบอิเลคทรอนิกส์ เพื่อความสะดวก และรวดเร็ว ในการโอนเงินและการชำระคืนเงินของสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ได้ให้ความสำคัญกับเครือข่ายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่เป็นเหมือนกลไกการขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้มีประสิทธิภาพ และเครือข่ายมีความเข้มแข็ง
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในการ เพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้สามารถส่งเสริม สนับสนุน กลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่ได้รับการสนับสนุนเงินประเภทเงินทุนหมุนเวียนมีการบริหารจัดการกลุ่ม ได้อย่างเข้มแข็ง และมีความมั่นคงในด้านอาชีพ
การเพิ่มจำนวนสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจาก 12,000,000 คน เป็น 15,000,000 คน ภายในปี 2564 เพื่อให้สตรีในสังคมได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน และสามารถรับประโยชน์ต่าง ๆ จากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี การสื่อสารผ่านการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่การดำเนินงานขับเคลื่อนของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ที่จะเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ให้หลากหลายและทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่
ก้าวต่อไปของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นการดำเนินงานขับเคลื่อนเพื่อมุ่งเน้นให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นแหล่งทุนในการพัฒนาสตรี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อคุณภาพชีวิตสตรีต่อไป
Post Views: 44