พม. จัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2560 ชูแนวคิด “สูงวัย สูงคุณค่า ร่วมพัฒนาประเทศไทยสู่ประชารัฐ”
วันนี้ (10 เม.ย. 60) เวลา 10.00 น. ที่ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม ชั้น 2 อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2560 ภายใต้แนวคิด “สูงวัย สูงคุณค่า ร่วมพัฒนาประเทศไทยสู่ประชารัฐ” พร้อมมอบรางวัลประกาศสดุดีเกียรติคุณยกย่องให้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต) เป็น “ผู้สูงอายุแห่งชาติ ปี 2560”
ในการนี้ ได้มอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้กับบุคคล จำนวน 3 คน และหน่วยงานองค์กรเอกชนที่สนับสนุนการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ จำนวน 23 องค์กร ตลอดจนมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้ผู้ชนะการแข่งขันกรีฑา และเปตองผู้สูงอายุไทย นอกจากนี้ได้รับข้อเสนอจากเวทีสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติ ปี 2560
พลตำรวจ อดุลย์ กล่าวว่า ตนขอแสดงความยินดีกับทุกท่านที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติสนับสนุนการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ และผู้ชนะการแข่งขันกรีฑา และเปตองผู้สูงอายุไทยในวันนี้ รัฐบาลตระหนักดีว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนโครงสร้างประชากรของประเทศไทย ทำให้จำนวนประชากรผู้สูงอายุ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ และเตรียมความพร้อมสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ
ซึ่งมีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงาน ในลักษณะประชารัฐเพื่อสังคม โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นที่ปรึกษาขับเคลื่อนการทำงานตามนโยบายประชารัฐเพื่อสังคม มีตัวแทนของทั้ง 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมดำเนินงานการบูรณาการทุกภาคส่วน และมีส่วนร่วมในการจัดระบบสวัสดิการและบริการแก่ผู้สูงอายุเพื่อสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุอันจะเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า นับตั้งแต่รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุอย่างจริงจัง โดยได้กำหนดนโยบายที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีมีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ เมื่อมาถึงสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้สานต่อความสำคัญ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติและประกาศให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ”
ดังนั้นวันที่ 13 เมษายน 2526 จึงนับเป็นปีแรกของวันผู้สูงอายุแห่งชาติ และได้เลือก “ดอกลำดวน” เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ ในปีนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้กำหนดจัดงานผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2560 ขึ้นในวันนี้ โดยกำหนดแนวคิดการจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติว่า “สูงวัย สูงคุณค่า ร่วมพัฒนาประเทศไทยสู่ประชารัฐ” ซึ่งนับว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญที่สามารถสะท้อนให้เห็นว่าสังคมได้ตระหนักถึงคุณค่าและให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ โดยส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนผลักดันมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดพลังของผู้สูงอายุขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาสังคม ดังคำกล่าวที่ว่า “ผู้สูงวัยเป็นหลักชัยของสังคม”
“สำหรับในปีนี้ มีกิจกรรมที่สำคัญภายในงาน ดังนี้ 1) มอบรางวัลให้แก่ผู้สูงอายุแห่งชาติ ปี 2560 เป็นกิจกรรมสำคัญที่ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการสรรหาผู้สูงอายุที่เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคมโดยคณะอนุกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกและเสนอชื่อ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต) คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจึงเห็นชอบประกาศสดุดีเกียรติคุณยกย่องให้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต) เป็น “ผู้สูงอายุแห่งชาติ ปี 2560”
2) ขับกล่อมบทเพลงจากศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) ประจำปี พ.ศ. 2558 “นายสันติ ลุนเผ่” 3) ชมวีดิทัศน์ “สูงวัย สูงคุณค่า ร่วมพัฒนาประเทศไทยสู่ประชารัฐ” และวีดิทัศน์ “ผู้สูงอายุแห่งชาติ พุทธศักราช 2560 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ.ปยุตโต” 4)ข้อเสนอจากเวทีสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติ ปี 2460 ประเด็น “การส่งเสริมการมีงานทำสำหรับผู้สูงอายุ” โดยนายวิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ 5) การมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้กับบุคคลตัวอย่างที่สนับสนุนการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ จำนวน 3 คน
6) การมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่หน่วยงาน องค์กรเอกชนที่สนับสนุนการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ จำนวน 23 องค์กร 7) การมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่ผู้ชนะการแข่งขันกรีฑา และเปตองผู้สูงอายุไทย จำนวน 5 รางวัล และ 8) การแสดงนิทรรศการและนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ จากหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย เป็นต้น รวมทั้งการประกอบอาชีพแก่ผู้สูงอายุ การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ ด้านกฎหมาย และกิจกรรมบริการจากหน่วยงานต่าง ๆ อีกกว่า 20 หน่วยงาน
โดยผู้ร่วมงาน ประกอบด้วย ผู้แทนผู้สูงอายุจากชมรม องค์กรผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด กรรมการ อนุกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เด็ก เยาวชน และสื่อมวลชนสาขาต่างๆ ตลอดจนประชาชนผู้สนใจ จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 900 คน