พม. จับมือดีแทค เน็ตทำกิน ชูดิจิทัลเชื่อมต่อภูมิปัญญา 12 กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองพื้นที่สูง ตั้งเป้าเพิ่มรายได้สูงสุด 50%
วันนี้ (18 ส.ค. 2565) เวลา 11.00 น. นายชูรินทร์ ขวัญทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองสู่ผู้ประกอบการออนไลน์ ระหว่าง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ ดีแทค โดย นายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และนายสตีเฟ่น เจมส์ แฮลวิก รักษาการรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ร่วมลงนาม ณโรงเรียนเพียงหลวง 16 ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
นายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เปิดเผยว่า พม. ได้เดินหน้านำยุทธศาสตร์ด้านพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ด้วยการนำ SOFT POWER ที่เป็นอัตลักษณ์ และวิถีชนเผ่า มาสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูงให้แก่ชนเผ่าพื้นเมือง ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มราษฎรบนพื้นที่สูง ทั้งหมด 12 กลุ่มหรือหมู่บ้านในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน อุทัยธานี น่าน และพะเยา เพื่อสร้างโอกาส สร้างความเสมอภาค และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยกำหนดแผนที่จะสร้างกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองให้กลายเป็น “ผู้ประกอบการออนไลน์” สร้างอาชีพทางเลือก ส่งเสริมการนำผลิตภัณฑ์พื้นบ้านท้องถิ่นเข้าสู่ตลาดออนไลน์ เข้าถึงง่ายทั่วทุกมุมโลก ภายใต้แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย 4.0 E-Marketing จึงได้ร่วมมือกับดีแทค เน็ตทำกิน ในการพัฒนาทักษะแก่กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล โดยตั้งเป้าเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มชนเผ่าสูงสุด 50% และร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นายสตีเฟ่น เจมส์ แฮลวิก รักษาการรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ดีแทคตระหนักในความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อนำชุมชนร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน โดย “ดีแทค เน็ตทำกิน” จะทำงานร่วมกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการอย่างใกล้ชิดในการวางแผนและลงพื้นที่เพื่อสร้างทักษะดิจิทัลในการทำตลาดออนไลน์ให้แก่กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง ตอกย้ำจุดยืนในการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ด้วยหลักการรักษาสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำดิจิทัลแม้อยู่ชายขอบของประเทศ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการดีแทค เน็ตทำกิน มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 40-50% และก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านเพื่อสร้างโอกาสหาเลี้ยงชีพใหม่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ” สู่เป้าหมายทีมดีแทค เน็ตทำกิน เดินหน้าติดอาวุธทักษะทางดิจิทัลให้กับกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง • เพิ่มรายได้ 15-50% ต่อราย/กลุ่ม หลังจากผ่านการอบรมไปแล้วอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งในระหว่าง 6 เดือนนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถได้รับการอบรม (Coaching) เพิ่มจากโค้ชทีมดีแทค เน็ตทำกินได้อย่างต่อเนื่องผ่านทาง Line และสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตลอด เช่น Live talks เป็นต้น • เพิ่มทักษะทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น วัดจากแบบสอบถามที่แบ่งทักษะทางดิจิทัลเป็นระดับเบื้องต้น (Beginner) ระดับกลาง (Intermediate) และระดับสูง (Advance) ในมิติต่าง ๆ เช่น การใช้ social media เพื่อโปรโมทสินค้าและสื่อสารกับลูกค้าโดยตรง สามารถใช้ช่องทางขายออนไลน์ แพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมทั้งการใช้แอปพลิเคชันเพื่อบริหารจัดการธุรกิจ เป็นต้น • เพิ่มทักษะและความมั่นใจในการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยวัดจากแบบสอบถามที่มีตัวชี้วัดในมิติต่าง ๆ เช่น เริ่มมีเงินออม เริ่มปลดหนี้ได้ เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ เป็นต้น เสียงกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองสะท้อนวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของคนพื้นที่สูงสู่ผู้ประกอบการออนไลน์ นางสาวลภาวัน เซมือ หรือ นี หนึ่งในกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่มีภูมิปัญญาด้านงานฝีมือที่เป็นเสน่ห์ของชาวอาข่า อาทิ เสื้อชนเผ่า กระเป๋า ย่ามทำมือ และสร้อย สะท้อนความรู้สึกในการทำมาหากินว่าเมื่อก่อนได้ผลิตสินค้าของชนเผ่าอาข่าที่ทำเอง แต่ไม่รู้เรื่องการทำตลาด ยิ่งการทำตลาดออนไลน์ยิ่งไม่รู้จะเริ่มอย่างไร แต่ได้มาร่วมโครงการฝึกทักษะผู้ประกอบการกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และดีแทค เน็ตทำกิน โดยได้เดินทางมาจากดอยแม่สลองขี่มอเตอร์ไซค์มาคนเดียวกว่า 30 กิโลเมตร เพื่อร่วมโครงการ ตอนนี้ได้รู้จักแพลตฟอร์มออนไลน์ ไลฟ์ขายผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งทำให้ยิ่งขายสินค้าได้มากขึ้นโดยเฉพาะผ้าฝ้ายทอมือที่เรามาทำเป็นกระโปรงอาข่า เสื้อผ้าทอ ปลอกขาต่าง ๆ จะขายดี นางสาวพงสุต กาญจนาบรรพต หรือ ตู่ จากกลุ่ม “กะเหรี่ยง” ชนเผ่าพื้นเมือง จ.เชียงราย หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรมผู้ประกอบการออนไลน์เล่าว่าสินค้าของทางกลุ่มจะเป็นผ้าทอชนเผ่าชาวกะเหรี่ยง หรือ “ปกาเกอะญอ” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มและแฝงความเชื่อทางมูเตลู เช่น ผ้าทอสีแดงใช้แล้วจะมีเงินทองไหลมาเทมา ผ้าทอสีชมพูจะเพิ่มความสุขสดใสให้กับชีวิตของผู้สวมใส่ โดยการเข้าร่วมฝึกทักษะกับดีแทค เน็ตทำกิน นอกจากจะเข้าใจเรื่องขายสินค้าออนไลน์และการถ่ายภาพให้สวยเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้ความรู้เรื่องผ้าของชนเผ่าได้ถูกถ่ายทอดผ่านเพจไม่เลือนหาย และเป็นแหล่งรายได้นอกเหนือจากการทำอาชีพเพาะปลูก นายโสภณ แซ่ลี หรือที่ชุมชนเรียกว่า ลุงเอจ้อย ให้ความคิดเห็นว่าการเพิ่มทักษะออนไลน์จะช่วยเปิดตลาดใหม่ให้กับชุมชนมากกว่า 40 คน ซึ่งทำอาชีพเครื่องเงินที่บ้านขุนแม่บง โดยก่อตั้งมาราว 20 ปี เมื่อก่อนจะขายสินค้าผ่านช่องทางการท่องเที่ยวและคนที่เดินทางไปต่างประเทศ แต่พอวิกฤตโควิด-19 ทำให้ยอดขายสินค้าหายไป ซึ่งพยายามนำพวกเครื่องประดับเครื่องเงินพวกสร้อย แหวน กำไลมาจำหน่ายผ่านร้านค้า หรือออกบูธตามงาน พอได้มาอบรมกับโครงการนี้ ทำให้เข้าใจการทำตลาดออนไลน์และนำไปต่อยอดขายทำเพจเฟซบุ๊กเครื่องเงินบ้านขุนแม่บง ซึ่งเป็นช่องทางช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับสมาชิกของเรา ทั้งนี้ ความร่วมมือในการยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองสู่ผู้ประกอบการออนไลน์ ของดีแทค เน็ตทำกิน ได้มุ่งสร้างศักยภาพให้กับกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่กำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายร่วมสมัย ในการนำดิจิทัลผสานกับวิถีชีวิตดั้งเดิม สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการตามความถนัดอัตลักษณ์ชุมชน ด้วยจุดเด่นของตนเองอย่างมีศักยภาพ ตอบสนองต่อนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำอีกด้วย