พม.จับมือภาคีเครือข่ายหาแนวทางจัดบริการสุนัขนำทางสำหรับคนพิการในไทย (Guide Dog)
วันนี้ (15 พ.ค. 60) เวลา 13.30 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพมหานคร พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมแนวทางการจัดบริการสุนัขนำทางสำหรับคนพิการในประเทศไทย (Guide Dogs) เพื่อกำหนดรูปแบบการจัดบริการสุนัขนำทางในประเทศไทย โดยขับเคลื่อนและบูรณาการงานร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กรมการสัตว์ทหารบก กองกำกับการสุนัขและม้าตำรวจ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บ้านอินทร์ด๊อกคลับ สมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัข (ประเทศไทย) และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ตระถึงความสำคัญของการส่งเสริมศักยภาพและความสามารถของคนพิการ โดยเฉพาะด้านการเดินทางและการดำเนินชีวิตอย่างอิสระ ปลอดภัย เท่าเทียมกับคนในสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงได้มีนโยบายให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ดำเนินการหารือความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาการจัดบริการสุนัขนำทาง (Guide Dogs) สำหรับคนพิการทางการเห็นในประเทศไทย เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตอิสระ และสามารถเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ โดยการพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิทธิ สวัสดิการ และบริการสาธารณะอื่นๆ จากรัฐ ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดย พก. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ดำเนินการศึกษารูปแบบการจัดบริการสุนัขนำทางในต่างประเทศ โดยมีประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการใช้สุนัขนำทางสำหรับคนพิการทางการเห็น และมีอีกหลายประเทศที่นิยมใช้สุนัขนำทาง และมีโรงเรียนฝึกสุนัขนำทาง เช่น ออสเตรเลีย และเกาหลี เป็นต้น ทั้งนี้ สุนัขนำทางที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน คือ สายพันธ์ลาบลาดอร์ โดยมีค่าใช้จ่ายในการจัดบริการต่อตัวประมาณ 50,000 เหรียญ ซึ่งประกอบด้วย ค่าจัดหาสุนัข ค่าฝึกสุนัขนำทาง และค่าฝึกคนพิการทางการเห็นในการใช้สุนัขนำทาง พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน ยังไม่มีหลักสูตรการฝึกสุนัขนำทาง และการจัดสวัสดิการสุนัขนำทาง จึงได้มีการจัดประชุมฯ ครั้งนี้ขึ้น โดยในที่ประชุมได้เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนตามโรดแมป ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยในระยะแรก 5 เดือน ซึ่งถือเป็นระยะเร่งด่วน จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมขับเคลื่อนการจัดบริการสุนัขนำทางสำหรับคนพิการของประเทศไทย และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานองค์กรต่างประเทศที่จัดบริการสุนัข โดยเบื้องต้นได้ประสานข้อมูลกับ 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ พร้อมทั้งจัดทำบันทึกความร่วมมือในการจัดบริการสุนัขกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ต้องสร้างการรับรู้ความเข้าใจในการใช้สัตว์นำทางและปรับปรุงระเบียบหรือข้อบังคับที่อาจเป็นอุปสรรคสำหรับการใช้สุนัขนำทางในประเทศไทย โดยจัดทำโครงการเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่าย ครูฝึกคนไทย 20 คน จัดหาคนพิการทางการเห็นที่มีความพร้อมและทักษะในการเดินทาง 5 คน สุนัขต้นแบบ 5 ตัว และครูฝึกชาวต่างชาติ 2 คน เป็นต้น พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า การขับเคลื่อนงาน ในระยะที่ 2 (2 - 6 เดือน เป็นต้นไป) จะมีการจัดตั้งหน่วยบริการสุนัขนำทางของประเทศ (Guide Dogs School) เพาะพันธ์สุนัขสายพันธุ์ลาบราดอร์ เพื่อใช้เป็นสุนัขนำทาง โดยร่วมกับกรมการสัตว์ทหารบก คณะสัตว์แพทย์ศาสตร์ สมาคมเพาะพันธ์สุนัขแห่งประเทศไทย บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ การคัดเลือกสุนัขสายพันธุ์ ลาบราดอร์ (ที่ได้มีการเพาะพันธุ์ในประเทศไทย) ที่มีคุณสมบัติเพื่อนำไปฝึกทักษะเป็นสุนัขนำทาง จำนวน 20 ตัว พร้อมฝึกและทดสอบสุนัขนำทาง (หลังจากผ่านการฝึกทักษะร่วมกับอาสาสมัคร) เพื่อให้มีทักษะในการนำทาง สามารถควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกมั่นคง และสามารถอยู่ภายใต้คำสั่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง (ระยะเวลา 6 เดือน) นอกจากนี้ ต้องมีการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ รวมถึงติดตามประเมิลผลด้วย “ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดย พก. จะร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในรูปแบบประชารัฐ เพื่อพัฒนาระบบการจัดบริการสุนัขนำทาง (Guide Dogs) เพื่อเร่งขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วตามโรปแมปที่วางไว้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตอิสระ และสามารถเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ โดยการพึ่งพาตนเองได้อย่างปลอดภัย เท่าเทียมกับคนในสังคมได้อย่างปกติ” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวในตอนท้าย