Update Newsกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สังคมสังคม/CSR

พม. จับมือ ผู้ประกอบการเหมืองแร่นิคมฯ พระพุทธบาท จัด CSR “แว่นตาพาสุข (OV Care)” แก้ปัญหาสายตากลุ่มเปราะบาง

วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 น. ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการการมีส่วนร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ร่วมกับผู้ประกอบการเหมืองแร่ในพื้นที่สงวนนิคม “กิจกรรม Optic Vision Care แว่นตาพาสุข (OV care)” โดยมี นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวต้อนรับ นายธนพิพัฒน์ วิธูชุลีโชติ ประธานชมรมโรงโม่หินหน้าพระลาน กล่าวบูรณาการความร่วมมือและการสนับสนุน และนางสาวเครือพันธ์ ธนวนิชนาม ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดโครงการฯ


นางจตุพร กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ขับเคลื่อนแผนงานนิคมสร้างตนเอง เพื่อนำร่องให้มีการบริหารจัดการงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ อย่างเป็นรูปธรรม และได้ร่วมหารือแนวทางขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) โดยให้นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท เป็นหน่วยประสานงานหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับผู้ประกอบการเหมืองแร่ในพื้นที่สงวนนิคมฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกนิคมและประชาชนในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกมิติทางสังคม




นางจตุพร กล่าวต่อไปว่า จากความร่วมมือดังกล่าว เกิดเป็นแผนขับเคลื่อน CSR ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2566-2568) โดยในปีแรก ได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการเหมืองแร่ในพื้นที่สงวนนิคมฯ 22 แห่ง ร่วมกันจัดกิจกรรม “โครงการแว่นตาพาสุข” แก้ไขปัญหาสายตาแก่สมาชิกนิคมและประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ ไปแล้วกว่า 400 คน ทั้งนี้ เพื่อตอกย้ำว่า กระทรวง พม. พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนทางสังคมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน



 



 

 

 

 

 

  

โดยวันนี้มีมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ 1) ให้บริการตรวจวัดสายตา พร้อมส่งมอบแว่นตาและข้าวสารให้แก่สมาชิกนิคมและประชาชนในพื้นที่ ผู้สูงอายุ คนพิการ และเด็ก จำนวน 400 คน 2) การมอบเกียรติบัตรขอบคุณผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่ให้การสนับสนุน กิจกรรมโครงการ แว่นตาพาสุข จำนวน 22 แห่ง และ 3) การมอบเกียรติบัตรขอบคุณผู้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานด้านคนไร้ที่พึ่ง ในจังหวัดสระบุรี จำนวน 21 แห่ง 


โครงการนี้แสดงให้เห็นถึงพลังของการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ที่ตระหนักถึงประโยชน์สุขของประชาชน มุ่งสร้างชุมชนเข้มแข็งเพื่อสังคมที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ คือ “กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงสวัสดิการ พัฒนาสู่การพึ่งพาตนเอง บนพื้นฐานการมีส่วนร่วม นางจตุพร กล่าวในตอนท้าย