พม.ประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2561 สานต่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
ในวันนี้ (29 มี.ค. 61) เวลา 10.30 น. ณ โรงแรมบางกอก พาเลส กรุงเทพมหานคร นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2561 กล่าวรายงาน โดย นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสถาบันครอบครัว โดยกำหนดหัวข้อ “ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด ยุติความรุนแรงในครอบครัว” เป็นหัวข้อหลักในการจัดงาน เพื่อนำเสนอประเด็นปัญหาครอบครัวในระดับจังหวัด สถานการณ์ครอบครัว งานวิจัย สถานการณ์เร่งด่วนด้านความรุนแรงในครอบครัวของประเทศ ซึ่งได้มีการพัฒนาเอกสาร เพื่อประกอบการพิจารณามติสมัชชาที่จะเสนอต่อรัฐบาลต่อไป นายเลิศปัญญา กล่าวว่า การจัดสมัชชาครอบครัวระดับชาติ เป็นการดำเนินงานภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและประสานงานสถาบันครอบครัวแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดให้มีการจัดประชุมสมัชชาครอบครัวระดับจังหวัดและระดับชาติ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือเพื่อให้ครอบครัวมี ส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ เพื่อให้หน่วยงานทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบาย โดยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สะท้อนปัญหา และเสนอแนะแนวทางการพัฒนาสถาบันครอบครัวในนามประชารัฐเพื่อสังคมและเพื่อส่งมอบข้อเสนอจากมติสมัชชาต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายบริหาร หรือการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย หรือระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ได้ตระหนักถึงการดำเนินงานที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในอันที่จะได้มาซึ่งประเด็นปัญหา ข้อค้นพบ ที่จะนำไปสู่การระดมความคิดเห็น การรับฟังข้อเสนอแนะ แนวทางการพัฒนา เพื่อพัฒนามาตรการในการขับเคลื่อนภารกิจด้านครอบครัวให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งการจัดสมัชชาครอบครัวระดับชาติประจำปี 2561 นี้ เป็นผลมาจากข้อเสนอจากสมัชชาครอบครัวระดับจังหวัด ประกอบกับการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งการดำเนินงานตามภารกิจของ สค. การศึกษางานวิจัย การรับฟังข้อมูลจากเวทีการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จนได้มาซึ่งประเด็นหลักในการจัดงานในวันนี้ นั่นคือ “ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด ยุติความรุนแรงในครอบครัว” เพราะทั้งความคิดและพฤติกรรมมีความสัมพันธ์กัน การจะป้องกันปัญหาความรุนแรงในครอบครัว จำเป็นต้องเริ่มจากการสร้างเจตคติที่ถูกต้องต่อการเข้าใจบทบาท ความแตกต่างระหว่างกัน การสร้างความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนการใช้กลไกภาคประชาชนในการเฝ้าระวังป้องกันตั้งแต่ในระดับพื้นที่ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวทุกจังหวัด ผู้แทนศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินงานเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ผู้แทนหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความรุนแรงในครอบครัว สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ สค. และผู้สังเกตการณ์ รวมจำนวน 650 คน “แม้ว่าการขับเคลื่อนภารกิจการป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว จะมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ด้วยเหตุแห่งความคิด ความเชื่อที่มีมาอย่างยาวนาน ทำให้การทำงานยังคงมีปัญหาอุปสรรคในหลายด้าน การประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติในวันนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในการทำงานที่หลากหลาย จะได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อส่งต่อแนวทางให้แก่ภาครัฐในการปรับปรุง พัฒนานโยบาย ยุทธศาสตร์ ที่เชื่อมโยงทุกมิติในการส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวให้ปลอดพ้นจากความรุนแรง เป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข” นายเลิศปัญญา กล่าวในตอนท้าย