พม. ยกระดับความรู้บุคลากรและเครือข่ายในการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งและเร่ร่อน
วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2561 เวลา 16.00 น. ณ อาคารเรือนกระจก เกาะลอย สวนลุมพินี กรุงเทพมหานครนางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นประธานในพิธีปิดโครงการรณรงค์ “อบรมเสริมสร้างความรู้และทักษะบุคลากรในการเป็นเครือข่ายการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งและเร่ร่อน” เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจในธรรมชาติของกลุ่มเป้าหมาย และเป็นเครือข่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคม ชี้เป้า เฝ้าระวังเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ นางนภา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้กรุงเทพมหานคร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน และขอทาน ในพื้นที่สาธารณะต่างๆรอบกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย ปลอดภัย และเพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจึงดำเนินการจัดประชุมวางแผนจัดระเบียบพื้นที่สวนลุมพินี และสำรวจกลุ่มเป้าหมาย ร่วมกับสำนักงานเขตปทุมวัน สวนลุมพินี สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี กองบัญชาการตำรวจนครบาล และมูลนิธิอิสรชน เพื่อจัดบริการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพแก่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจากการลงพื้นที่ พบว่า กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ประสบปัญหา ดังนี้ 1) การไม่มีที่อยู่อาศัย 2) ไม่มีปัจจัยที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต 3) ใช้ชีวิตอยู่ใน ที่สาธารณะเพื่อรอคอยเวลาการทำงาน และ 4) บางรายมีภาวะเจ็บป่วยด้วยโรคจิตเวช กลุ่มบุคคลเหล่านี้มักจะมาใช้บริการสวนสาธารณะเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ทำความสะอาดร่างกาย ไปจนถึงหลับนอน ซึ่งการอยู่อาศัยหลับนอนในที่สาธารณะนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของกลุ่มเป้าหมาย นางนภา กล่าวต่อว่า โครงการ “อบรมเสริมสร้างความรู้และทักษะบุคลากรในการเป็นเครือข่ายการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งและเร่ร่อน” เป็นโครงการที่บูรณาการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน โดยกิจกรรมประกอบด้วย การอบรมให้ความรู้พื้นฐาน เกี่ยวกับพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2557 และพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 การให้ความรู้เกี่ยวกับการประเมินสภาวะทางจิต และโรคทางจิตเวชเบื้องต้น ตลอดจนการถ่ายทอดเทคนิค วิธีการ แนวทางการช่วยเหลือ ให้คำแนะนำปรึกษา และการประสานส่งต่อผู้ใช้บริการผ่านศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 เป็นต้น ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรม ประกอบด้วย บุคลากรของสวนลุมพินี สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่เทศกิจ สำนักงานเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร บุคคลทั่วไป และเจ้าหน้าที่กองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มุ่งหวังให้ “สวนลุมพินี Model” เป็นรูปแบบการทำงานที่บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนของสังคมในการคุ้มครอง ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐาน และพัฒนาคนไร้ที่พึ่งอย่างเป็นรูปธรรม นางนภา กล่าวในตอนท้าย