Update Newsสังคม

พม.ร่วมกัับ กทม.-สสส. รณรงค์สงกรานต์ปลอดเหล้า ปลอดภัย ไม่ลวนลาม และไม่ซิ่ง 

วันนี้(10เมษายน 2561) เวลา13.00น. ที่ถนนข้าวสาร นางพัชรี อาระยะกุล รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม ผู้อำนวยการเขตพระนคร มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เด็กเยาวชนและประชาชน กว่า100คน ร่วมเดินรณรงค์สงกรานต์ ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์ กทม.ปลอดภัย ไม่ดื่ม ไม่ลวนลาม ไม่ซิ่ง”

โดยเดินรณรงค์ แจกสื่อประชาสัมพันธ์ ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและประชาชนไทยร่วมมือ รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม มีสติ เคารพให้เกียรติกัน อยู่ในกรอบของกฎหมาย ภายในงานมีการแสดงรำไทย แร็พเพลง“สงกรานต์ให้ปลอดภัย” การปล่อยขบวนรถสามล้อรณรงค์ และเดินรณรงค์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และประชาสัมพันธ์จุดรับเรื่องร้องเรียนช่วยเหลือ 


นางพัชรี อาระยะกุล รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีภารกิจในการขจัดความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบ ซึ่งการลวนลามที่มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงในวาระต่าง ๆ โดยเฉพาะสงกรานต์ที่กำลังใกล้จะมาถึงนี้ เป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงต่อสตรี ที่เรียกว่า ความรุนแรงทางเพศ ซึ่งเป็นพฤติกรรมของการละเมิดสิทธิในร่างกายของผู้อื่น อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ผู้กระทำต้องได้รับโทษ และผู้ถูกกระทำต้องได้รับความช่วยเหลือในทันที เพื่อช่วยลดอันตรายที่จะกลายเป็นเรื่องร้ายแรงต่อไป 
 

  

  

“ความร่วมมือของทุกหน่วยงานในการที่จะทำให้ประเพณีสงกรานต์ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นวันผู้สูงอายุ และวันครอบครัวด้วยนั้น เป็นงานที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน จึงขอความร่วมมือทุกท่านหากพบเห็นเหตุการณ์ การกระทำความรุนแรง ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร แต่งกายอย่างไร และอยู่ในสภาพไหน อย่าเพิ่งกล่าวโทษ หรือ ตำหนิ ขอให้เชื่อว่าเขากำลังเป็นผู้เดือดร้อน และ ช่วยพวกเขาให้พ้นจากอันตรายก่อน ก็จะได้ชื่อว่าท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนร่วมในการป้องกันปัญหา และขอให้แจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ได้ ตลอด 24 ชั่วโมง” นางพัชรี กล่าวในตอนท้าย 
 

  

นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ เพื่อเป็นการสืบสานและดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีอันงดงามของไทย ควบคู่ไปกับความปลอดภัยของประชาชนที่มาร่วมงานสงกรานต์ จึงมีนโยบายเรื่องการจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ กทม. ปลอดภัย ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยให้ทุกสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวด กำกับ ดูแลให้การเล่นน้ำสงกรานต์มีความปลอดภัย ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปลอดการลวนลาม การกระทำอนาจาร การคุกคามทางเพศ และการใช้ความรุนแรงต่างๆ

  

   

  

ทั้งนี้ ในปี 2561 กรุงเทพมหานคร มีการจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์ ณ สวนลุมพินีในระหว่างวันที่12 – 15 เมษายน 2561 และนอกจากนี้ยังจัดให้มีพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ ปลอดภัย ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 79 พื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งการร่วมรณรงค์การจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น กรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้ทุกสำนักงานเขต ประกาศใช้มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ กทม. ปลอดภัย ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2561 

และมีการประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือ จากประชาชนในการเล่นสงกรานต์อย่างสุภาพ ไม่ใช้ความรุนแรง ห้ามใช้อุปกรณ์ที่ปรับแต่งพิเศษ เช่น ท่อน้ำที่มีแรงดันสูง และห้ามการกระทำอนาจารและคุกคามทางเพศต่อเด็กและสตรี รวมทั้งขอความร่วมมือจากผู้ประกอบกิจการให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อย่างเคร่งครัดในการไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ไม่ส่งเสริมการขาย จำกัดพื้นที่ในการขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
 

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครขอขอบคุณหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กระทรวงสาธารณสุข กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง สำนักงาน ปปส.กทม. กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม. สคล. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ที่ร่วมสนับสนุนให้กรุงเทพมหานครดำเนินการจัดงานสงกรานต์.กทม. ปลอดภัย ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกันรณรงค์และสร้างค่านิยมตามวัฒนธรรมการเล่นน้ำที่ดีของไทย เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีความสุขและความปลอดภัยควบคู่กันไป ตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ทั้งในปีนี้และปีต่อๆไป 

เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ถนนข้าวสารถือเป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมเล่นน้ำสงกรานต์ คาดว่าจะเป็นพื้นที่รองรับชาวไทยและต่างชาติที่จะเดินทางมาเป็นจำนวนมาก สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหา คือ สร้างความตระหนัก รณรงค์เรื่องการดื่มสุรา การจำหน่ายสุรา เครื่องดื่มมึนเมา ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นหลักให้เกิดอุบัติเหตุเจ็บตาย หากพิจารณาตามสถิติสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ 

ทุกๆปีจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่าสองหมื่นราย หากนับเฉพาะช่วง7วันอันตรายสงกรานต์ปี60 เกิดอุบัติเหตุรวม3,690ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม390ราย จะพบว่าประเด็นหลักยังคงเป็นเรื่องการเมาแล้วขับและการขับรถเร็ว ยิ่งแอลกอฮอล์ในเลือดมากเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงอุบัติเหตุมากเท่านั้น และเพิ่มโอกาสลวนลาม อนาจารมากขึ้น ซึ่งจะมีผลเสียร้ายแรงต่อการท่องเที่ยว เพราะบางชาติเห็นว่าเรื่องนี้ยอมรับไม่ได้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้มงวด และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง