Update Newsกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สังคมสังคม/CSR

พม. ร่วมประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ครั้งที่ 2/2564

วันนี้ (7 พ.ค. 64) เวลา 10.00 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมด้วยนางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) และนางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ครั้งที่ 2/2564 โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมณ ห้องประชุมวิจิตรวาทการ ชั้น 3 อาคารสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล




นายจุติ กล่าวว่า การประชุมฯ ในวันนี้ ที่ประชุมได้คัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จำนวน 3 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนเพื่อการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกจะได้ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ ทั้งในระดับนโยบาย และการกำกับ ติดตามในระดับปฏิบัติต่อไป


นายจุติ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้รับทราบการดำเนินการตามข้อสั่งการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่มอบให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ จัดทำสรุปภาพรวมผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2563 เพื่อให้ประชาชนผู้อ่านสามารถติดตามเรื่องได้ง่ายขึ้น โดยกระทรวง พม. ได้จัดทำสรุปภาพรวมดังกล่าวในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book) ฉบับย่อ นำเสนอข้อมูลสำคัญใช้ภาษาและภาพที่ช่วยให้ประชาชนอ่านและเข้าใจง่าย เผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ 

ทั้งนี้ กระทรวง พม. ยังได้รับมอบหมายให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเผยแพร่ไปยังหน่วยงานและประชาชนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้รับทราบการดำเนินงานของรัฐบาล ในการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างทั่วถึง




 

 

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวให้กำลังใจทุกหน่วยงานที่ทำงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยอาจมีความยากลำบากและต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก แต่ขอให้ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อขจัดการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป และขอให้เตรียมแผนรองรับสถานการณ์การค้ามนุษย์ภายหลังโรคโควิด-19 คลี่คลายด้วย