นายกฯ เปิดงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์ ปี 2560
วันนี้ (5 มิ.ย. 60) เวลา 14.00 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2560 โดยมีพลตำรวจเอก อดุลย์แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(ปลัด พม.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พร้อมด้วย รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เอกอัครราชทูตและผู้แทนสถานทูตต่างๆ องค์การระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและสื่อมวลชน จำนวนทั้งสิ้น 600 คน เข้าร่วมงาน นายไมตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป เนื่องจากการค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ในปีที่ผ่านมามีการดำเนินคดีการค้ามนุษย์ 333 คดี ร้อยละ 75 เป็นคดีการแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบการค้าประเวณี รองลงมาเป็นคดีบังคับใช้แรงงาน และการแสวงประโยชน์จากการนำคนมาขอทาน รัฐบาลได้ผนึกกำลังความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกมิติ เริ่มตั้งแต่การกำหนดนโยบายให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ การบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ การปรับปรุงกฎหมาย และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดี ตลอดจนการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ไม่สามารถดำเนินการได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงลำพัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงสานพลัง “ประชารัฐ” จับมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ร่วมป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ นายไมตรี กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลได้ประกาศให้ วันที่ 5 มิถุนายน เป็น “วันต่อต้านการค้ามนุษย์” เนื่องจากเป็นวันที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงได้จัดงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์ขึ้นเป็นประจำทุกปี ในปี 2560 นี้ กระทรวง พม. ได้จัดงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์ ภายใต้แนวคิด “ประชารัฐ ร่วมใจ ต้านภัยการค้ามนุษย์” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการค้ามนุษย์และผนึกกำลังจากทุกภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมกันต่อต้านการค้ามนุษย์ กิจกรรมในงานประกอบด้วย 1) การมอบรางวัลแก่หน่วยงาน ผู้ปฏิบัติงาน และสื่อมวลชน ที่มีผลงานดีเด่นด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 2) การประกวดวาดภาพของเด็กและเยาวชน หัวข้อ“ประเทศไทย ปลอดภัยจากการค้ามนุษย์” เพื่อเป็นการปลูกฝังและสร้างจิตสำนึก ให้ตระหนักถึงภัยของการค้ามนุษย์ 3) การแสดงนิทรรศการผลงานสำคัญของผู้ปฏิบัติงานผลการประกวดภาพวาดเด็กและเยาวชน และผลิตภัณฑ์จากร้าน “ทอฝัน By พม.” ซึ่งเป็นผลงานจากการส่งเสริมการมีงานทำของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ นายไมตรี กล่าวต่ออีกว่า สำหรับผลงานสำคัญด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาล ในปี 2559 ได้แก่ 1) ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 แก้ไขเพิ่มเติมนิยามของการค้ามนุษย์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายตีความเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 2) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สืบสวนสอบสวนและยึดทรัพย์ในคดีค้ามนุษย์มากสุดในรอบ 10 ปี เป็นเงินจำนวน 784 ล้านบาท 3) เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดีตลอดกระบวนการยุติธรรมประกอบด้วย ชั้นพนักงานสอบสวนดำเนินคดีเพิ่มขึ้นจากในปี 2558 จำนวน 317 คดี เป็น 333 คดี ชั้นพนักงานอัยการ ยื่นฟ้อง 310 คดี สั่งไม่ฟ้องเพียง 1 คดี และในชั้นศาลใช้ระยะเวลาพิพากษาลดลงอย่างต่อเนื่องจากทั้งหมด 330 คดี ใช้เวลาภายใน 3 เดือน 69 คดี (ร้อยละ 21) ภายใน 6 เดือน 169 คดี (ร้อยละ 49) ภายใน 1 ปี 295 คดี (ร้อยละ 90) และมากกว่า 1 ปี มีเพียง 60 คดี (ร้อยละ 10) 4) การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ในปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์จำนวน 52 ราย ซึ่งหากประชาชนพบเห็นเจ้าหน้าที่ของรัฐรายใดเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคมสายด่วน โทร. 1300 ของกระทรวง พม. และหากนำไปสู่การจับกุมตัวผู้กระทำความผิดสามารถยื่นขอรับเงินรางวัลและค่าตอบแทนตามฐานความผิดด้วย โดยขณะนี้ รัฐบาลได้จ่ายเงินค่าตอบแทนแก่ประชาชนที่แจ้งเบาะแสและเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ รวม 14 คดี เป็นเงิน 1.55 ล้านบาท 5)พัฒนาระบบการคุ้มครองช่วยเหลือโดยปรับปรุงบริการให้ได้ตามมาตรฐานสากล ซึ่งกระทรวง พม. ได้ให้การช่วยเหลือผู้เสียหายทั้งคนไทยและคนต่างด้าว รวมทั้งสิ้น 561 คน โดยสิทธิที่ผู้เสียหายพึงจะได้รับ เช่น ผู้เสียหายต่างชาติได้รับอนุญาตให้อยู่และทำงานในประเทศไทยได้ 2 ปี หลังสิ้นสุดคดี เพิ่มประเภทงานให้ผู้เสียหายทำงานนอกสถานคุ้มครองได้ทุกประเภท โดยมีผู้เสียหายทำงานทั้งในและนอกสถานคุ้มครอง จำนวน 196 คน (จากเดิมปี 2558 จำนวน 47 คน) และมีมาตรการส่งเสริมการมีงานทำสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ทำงานระหว่างการคุ้มครองและให้ความร่วมมือในการดำเนินคดี “ทั้งนี้ผลงานสำคัญต่างๆ ของรัฐบาล ได้จัดส่งให้สหรัฐอเมริกาไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 และวันที่ 31 มีนาคม 2560 และปลายเดือนมิถุนายนนี้ กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ จะเผยแพร่ผลการจัดระดับรายงานการค้ามนุษย์ หรือ TIP Report ของประเทศต่างๆ กว่า 180 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งไม่ว่าผลการจัดระดับประเทศไทยจะออกมาอย่างไร รัฐบาลโดยกระทรวง พม. จะยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานและให้การคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นายไมตรี กล่าวในตอนท้าย