Update Newsกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สังคมสังคม/CSR

พม. หารือ ตร. เร่งช่วยเหลือคนไทยถูกหลอกไปทำงานในกัมพูชา 

วันนี้ (11 ม.ค. 65) เวลา 13.00 น. นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และพล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 4 พร้อทด้วยคณะทำงานของพลตํารวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมหารือเรื่องการช่วยเหลือคนไทยซึ่งถูกหลอกลวงและไปตกทุกข์ได้ยากที่ประเทศกัมพูชา ณ ห้องประชุมกาสะลอง ชั้น 8 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กทม.

นางสาวแรมรุ้ง กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ดำเนินการให้การช่วยเหลือคนไทยซึ่งถูกหลอกลวงและไปตกทุกข์ได้ยากที่ประเทศกัมพูชา โดยได้ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อประสานการให้ความช่วยเหลือคนไทยดังกล่าว ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน รวมจำนวน 474 คน และได้มอบหมายเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการสัมภาษณ์เพื่อคัดแยกผู้เสียหาย มีจำนวน  216 คน ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ในพื้นที่ภูมิลำเนาติดตามช่วยเหลือผู้เสียหายตามสิทธิทางกฎหมายต่อไป



นางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปว่า สำหรับขบวนการหลอกลวงคนไทยนั้น มีกลุ่มคนจีนเป็นหัวหน้า เคลื่อนไหวอยู่ในกรุงปอยเปต ประเทศกัมพูชา โดยจะมีการลงโฆษณารับสมัครงานบนสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ก และกลุ่มไลน์ เพื่อหลอกลวงว่ามีงานในประเทศกัมพูชา และจ่ายค่าตอบแทนในอัตราสูง เดือนละ 3 - 4 หมื่นบาท แต่หลังจากมีผู้หลงเชื่อมาสมัครแล้ว ได้มีการว่าจ้างขบวนการนำพาคนเดินทางเข้า - ออกประเทศโดยผิดกฎหมาย ผ่านทางช่องทางธรรมชาติ เข้าไปยังประเทศกัมพูชา 

จากนั้น จะนำตัวเข้าตึกและถูกบังคับให้ทำงาน หากทำงานไม่ได้ จะถูกกักขัง ให้อดอาหาร ขู่ทำร้ายร่างกาย บางรายถูกขายต่อให้กลุ่มอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ หลังจากการเข้าช่วยเหลือออกมาได้ จะดำเนินการส่งตัวกลับประเทศไทยรวมแล้วกว่า 500 คน และเข้าสู่กระบวนการกักตัว 14 วัน ตามมาตรการความปลอดภัยของสาธารณสุขของไทย



 

 

 

นางสาวแรมรุ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ลงพื้นที่เพื่อติดตามให้การช่วยเหลือผู้เสียหาย โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ความช่วยเหลือเยียวยาจากกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ตามสิทธิโดยเร่งด่วน เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการให้ความช่วยเหลือคุ้มครอง ตามภารกิจของกระทรวง พม. และหลังจากนี้ จะได้ประสานการทำงานร่วมกันกับศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) อย่างใกล้ชิด เพื่อประสิทธิภาพในการช่วยเหลือกลุ่มคนไทยดังกล่าว ต่อไป