พม. โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ จับมือ สวทช. นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับดูแลผู้สูงอายุ
วันนี้ (2 สิงหาคม 2565) เวลา 09.30 น. นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม“การพัฒนาทักษะการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อยกระดับการดูแลผู้สูงอายุใน ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ กล่าวว่า พม. โดย กรมกิจการผู้สูงอายุมีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ การจัดสวัสดิการ และการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ โดยการนำเสนอนโยบาย การพัฒนางานวิชาการด้านมาตรการ กลไก องค์ความรู้ และนวัตกรรมในการปฏิบัติงาน การส่งเสริมและสนับสนุนในเชิงวิชาการและการปฏิบัติงานในพื้นที่เป้าหมายภายใต้การบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ 12 แห่ง ที่ให้บริการและดูแลผู้สูงอายุในชุมชน และภายในศูนย์ ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้ เริ่มเป็นผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ติดเตียง และถดถอยลง จึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยี และนวัตกรรรม เข้ามามีส่วนช่วยเหลือ ดูแล เพื่อให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตนเองได้นานที่สุด โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ จึงได้จับมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย การขยายผลการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ มาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อยกระดับการดูแลและให้บริการผู้สูงอายุในศูนย์พัฒนาการจัด สวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ทั้ง 12 แห่ง โดยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มีความเหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ของผู้สูงอายุและเจ้าหน้าที่ โดยปี 2563 นำร่อง ณ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค เป็นแห่งแรก และปี 2564 – 2565 ได้ขยายผลไปยังศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ครอบคลุมทั้ง 12 แห่ง ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้สูงอายุและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน อันส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน ด้วยบริการดูแลจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ลดภาระการทำงานของเจ้าหน้าที่ และผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การอบรม“การพัฒนาทักษะการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อยกระดับการดูแลผู้สูงอายุใน ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” ในวันนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมทุกคนจะได้รับทักษะและความรู้ อาทิ การบรรยายหัวข้อ สุขภาพดีด้วยนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ชีวกลศาสตร์ในกิจกรรมประจำวันของผู้สูงอายุ การแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติตามฐานเรียนรู้ การใช้นวัตกรรมทั้ง 16 รายการ เช่น การใช้ ระบบ Software บริหารจัดการสถานดูแลผู้สูงอายุ อุปกรณ์การตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ ระบุตำแหน่งสำหรับเฝ้าระวังผู้สูงอายุกลุ่มอัลไซเมอร์ ระบบการเฝ้าระวังด้วยอุปกรณ์การวัดเคลื่อนไหวแบบไร้สายระบบหุ่นยนต์เพื่อการฟื้นฟูข้อมือ แขนท่อนล่าง และข้อศอก ระบบฟื้นฟูระดับความรู้คิดด้วยคลื่นสมองแบบป้อนกลับ เป็นต้น โดยการอบรมจะช่วยเพิ่มทักษะการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ใน การดูแลผู้สูงอายุ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และสร้างความยั่งยืนของระบบในระยะยาวจะนำไปสู่การพัฒนาและขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ เกิดการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคมของประเทศไทย ส่งผลให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการดูแลที่มีคุณภาพ ทั้งมิติด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และนวัตกรรม อันจะเป็นการสร้างประโยชน์แก่สังคมโดยรวมร่วมกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้สูงอายุต่อไป