Update Newsสังคมสังคม/CSR

พส. ต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ชูประเด็น การขับเคลื่อนงานชาติพันธุ์

เมื่อวันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2561 เวลา 13.30 น. ที่ผ่านมา นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ให้การต้อนรับ Mr. Tondrub Wangben (นายตนดรุป หวางเปิน) รองประธานคณะกรรมาธิการกิจการชนเผ่า สภาประชาชนแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน และคณะข้าราชการระดับสูง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นการพัฒนาและจัดสวัสดิการแก่ราษฎรบนพื้นที่สูง ณ ห้องรับรองชั้น 6 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 




นางนภา กล่าวว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้ดำเนินงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบนพื้นที่สูง มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันได้มีการนิยามความหมาย “ราษฎรบนพื้นที่สูง” คือบุคคลหรือกลุ่มชาติพันธุ์ ที่พักอาศัยและดำรงชีพอยู่ในพื้นที่สูง รวมทั้งราษฎรพื้นราบที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพอยู่บนพื้นที่สูงมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี 

ซึ่งในประเทศไทย อาศัยอยู่ใน 20 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ตาก ลำพูน ลำปาง พะเยา แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน ราชบุรี กาญจนบุรี กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก อุทัยธานี เพชรบุรีเลย สุโขทัย สุพรรณบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ใน 3,704 หมู่บ้าน จากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันมีราษฎรบนพื้นที่สูง 10 ชนเผ่า ประกอบด้วย กะเหรี่ยง ม้ง ลาหู่ อาข่า ลัวะ เมี่ยน ลีซู ขมุ ถิ่น และมลาบรี รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,441,135 คน สภาพปัญหาที่พบของราษฎรบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่ยังขาดความมั่นคงในชีวิต ด้านการเข้าถึงสวัสดิการ ที่ดินทำกิน ปัญหาความยากจน ขาดความรู้และทักษะในการดำรงชีวิต เช่น การเพาะปลูกที่เหมาะสม รวมทั้งปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าและความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ 








นางนภา กล่าวต่อว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแก่ราษฎรบนพื้นที่สูง ดังนี้ 1) การพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบนพื้นที่สูงโดยการสร้างโอกาส สร้างอาชีพ และรายได้ เช่น การเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอัตลักษณ์ตามวิถีธรรมชาติ ตามโครงการ “ท่องเที่ยวภูมิวัฒนธรรม” 2) การสร้างกลไกด้านการส่งเสริมสวัสดิการสังคมบนพื้นที่สูง 

โดยจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมชุมชนบนพื้นที่สูง (ศสส.) ปัจจุบันมี 78 แห่งทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มในลักษณะองค์กรชุมชนบนพื้นที่สูง บริหารจัดการโดยคณะกรรมการ ทำหน้าที่สำรวจข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคมและจัดหาสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ราษฎรบนพื้นที่สูง 

โดยการจัดทำแผนชุมชนทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม และประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อให้เกิดรูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมโดยชุมชนเพื่อชุมชน 3) การสร้างแหล่งเรียนรู้ โดยจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนบนพื้นที่สูง (ศรส.) 16 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนการส่งเสริมทักษะชีวิตและอาชีพ ให้กับราษฎรบนพื้นที่สูง 4) การจัดการพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการจัดตั้งถิ่นฐานถาวรชุมชนบนพื้นที่สูง โดยใช้รูปแบบการพัฒนาที่เน้นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตามความลาดชัน 

5) การพัฒนาจิตใจและชุมชนบนพื้นที่สูงด้วยพระพุทธศาสนาตามโครงการพระธรรมจาริกบนพื้นที่สูง เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา นำไปสู่การพัฒนาด้านจิตใจควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับราษฎรบนพื้นที่สูง นอกจากนี้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ยังมี ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง เป็นหน่วยงานส่วนภูมิภาคในการขับเคลื่อนงานการส่งเสริม สนับสนุนพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของราษฎรบนพื้นที่สูงอย่างเป็นรูปธรรม


กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมบูรณาการความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะเป็นประโยชน์ก่อให้เกิดความร่วมมืออันดีระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อไป นางนภา