Update Newsสังคมสังคม/CSR

พส. เผยผลการประชุมด้านนวัตกรรมสวัสดิการแห่งรัฐ

ในวันที่ 24 มกราคม 2562 เวลา 13.30 น. ณ บริเวณโถง ชั้น 1 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมแถลงข่าวประชาสัมพันธ์การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2562 ซึ่งการประชุมดังกล่าวมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม
นางนภา กล่าวว่า วันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาวาระที่สำคัญใน 2 เรื่อง คือ นโยบายด้านนวัตกรรมสวัสดิการแห่งรัฐ : Productive Welfare สวัสดิการสังคมเพื่อการพัฒนาและพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เสนอนโยบายดังกล่าวเข้า ครม. เพื่อกำหนดเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนงานสวัสดิการสังคมไทย ซึ่งมีการดำเนินการนำร่องใน จังหวัดราชบุรี และขยายผลต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ภายใต้แนวความคิด 1) ระบบสวัสดิการที่ไม่ให้เปล่า 2) ต้องการให้เกิดการพัฒนาและพึ่งตนเอง 3) การมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมทุกระดับ 4) เน้นความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆในพื้นที่



โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของชุมชน การประสาน CSR และ SE ทั้งนี้ การขับเคลื่อนดังกล่าวมีนวัตกรรม โดยใช้ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และเทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูล (Business Intelligence) เป็นระบบบริหารจัดการความช่วยเหลือ (inovative case management) รวมทั้งติดตาม แจ้งเตือน ประสานงาน ประสานความร่วมมือหน่วยงานผ่านเทคโนโลยี Mobile Application และมีนวัตกรรมการประเมินตนเอง จองผู้รับบริการและทีมสหวิชาชีพ (Self-Assessment) ที่ใช้งานง่าย 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม โดยมีประธานคือ นายประยุทธ เพชรคุณ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง อัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานอัยการพิเศษ และเป็นรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และโดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายเป็นองค์ประกอบของคณะ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ ในการศึกษา และแก้ไข กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ เกี่ยวกับการจัดสวัสดิการสังคม รวมถึงการให้คำปรึกษาแก่ กสค.

นางนภา กล่าวต่ออีก นอกจากนี้ ยังมีวาระเพื่อทราบที่สำคัญ จำนวน 2 เรื่อง 1) รายงานผลการดำเนินการจัดทำ (ร่าง)แผนพัฒนางานสวัสดิการสังคมไทย ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2560 – 2565 ให้มีความสอดคล้องกับห้วงเวลาของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ระยะที่ 1 ในประเด็นการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในประเด็นการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 

ซึ่งในขณะนี้ ร่าง แผนฯฉบับนี้ อยู่ในระหว่างจัดส่งให้สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาก่อนเสนอ ครม. ต่อไป และ 2) การรายงานผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ (ของ 5 คณะอนุฯ) ในช่วง 5 เดือน (เดือนสิงหาคม – ธันวาคม 2561) เช่น รับรององค์กรสวัสดิการชุมชน และองค์กรสาธารณประโยชน์ทั้งในและต่างประเทศ การคัดเลือกอาสาสมัครดีเด่น อบรมนักสังคมสงเคราะห์และผู้ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการสังคม

“การจัดนวัตกรรมสวัสดิการแห่งรัฐ : Productive Welfare จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการมีส่วนร่วมจากผู้ประสบปัญหาทางสังคม ในการพัฒนาตนเองและประเมินตนเอง โดยการใช้ Mobile Application ซึ่งง่ายต่อการใช้งาน โดยผ่านระบบบริหารจัดการความช่วยเหลือ ที่มีการวิเคราะห์และใช้ข้อมูลร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ผ่าน application เครือข่ายจากระบบข้อมูลร่วมกันในส่วนขององค์กรภาคเอกชน ที่เป็น CSR และ SE ขอเชิญชวนให้เข้ามามีส่วนร่วมจัดสวัสดิการที่มุ่งเน้นการพัฒนาตนเองของผู้ประสบปัญหา หรือผู้มีรายได้น้อย ให้พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นางนภากล่าวในตอนท้าย