นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 นครเซี่ยงไฮ้ประกาศใช้มาตรการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และลดความซับซ้อนของระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือเพียง 3 อัตรา (จากเดิมมี 4 อัตรา) ได้แก่ อัตรา 17% 11% และ 6% โดยสินค้าที่ใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 13% จะปรับเป็น 11 % ทั้งหมด อาทิ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าเกษตร เครื่องทำความร้อน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว และสินค้าอื่นๆ
“ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวเป็นการลดภาระทางภาษีให้แก่ประชาชน ถือเป็นแรงกระตุ้นการบริโภค จึงนับเป็นโอกาสดีสำหรับสินค้าไทยในการส่งออกสู่ตลาดนครเซี่ยงไฮ้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไฮเทค รถยนต์ ยารักษาโรค พลาสติก เหล็ก และถ่านหิน จากสถิติการนำเข้าของนครเซี่ยงไฮ้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าการนำเข้าของนครเซี่ยงไฮ้เพิ่มขึ้นถึง 24.2 % จึงเห็นได้ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคในนครเซี่ยงไฮ้ยังคงสูงและมีอัตราการเติบโตที่มั่นคง” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว
นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว รายงานว่า สถาบันวิจัยอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์จีนได้จัดอันดับเมืองที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต่อตารางกิโลเมตรสูงที่สุดในประเทศจีน โดยนครเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองที่มีจีดีพีสูงเป็นอันดับที่ 2 มีมูลค่า 433 ล้านหยวนต่อตารางกิโลเมตร เป็นรองเพียงเมืองเซินเจิ้นที่มีจีดีพีสูงสุดถึง 976 ล้านหยวน โดยเมืองที่มีมูลค่าจีดีพีเกิน 100 ล้านหยวนต่อตารางกิโลเมตรมีมากถึง 18 เมือง อาทิ เมืองตงก่วน 277 ล้านหยวน เมืองกวางโจว 264 ล้านหยวน เมืองเซี่ยเหมิน 223 ล้านหยวน และเมืองฝอซาน 223 ล้านหยวน เป็นต้น
นางมาลี กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจจีนถือเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก แม้ว่ารัฐบาลจะหันมาดำเนินนโยบายการชะลอเศรษฐกิจ หรือ New Normal และลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจจีนยังคงเดินหน้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรกของปี 2560 จีดีพีของจีนขยายตัวถึงร้อยละ 6.9 ซึ่งมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ สำหรับเมืองที่ติดอันดับเหล่านี้ ถือเป็นเมืองที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี หากผู้ประกอบการสนใจขยายตลาดการค้าและการลงทุนสามารถพิจารณาข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเหล่านี้ประกอบการตัดสินใจและป้องกันความเสี่ยงในเบื้องต้นได้
สำหรับการค้าระหว่างไทย – จีนในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม – พฤษภาคม) ของปีนี้ แบ่งเป็นมูลค่าไทยส่งออกไปจีน 11,618 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 31.5% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และน้ำมันสำเร็จรูป
ขณะที่ไทยนำเข้าจากจีนมูลค่า 17,226 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3.98 % สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์โลหะ
Post Views: 51